ระบบการผลิตเกษตรในปัจจุบันเกษตรได้พยายามพึ่งตนเองด้านปัจจัยการผลิต โดยการผลิตใช้เองตามศักยภาพและทรัพยากรที่มีในชุมชน เช่น ปุ๋ยหมัก น้ำหมัก เป็นต้น เมล็ดพันธุ์พืช นับเป็นปัจจัยการผลิตสำคัญที่บริษัทขนาดใหญ่ ได้ใช้เป็นเครื่องมือในการยึดครองระบบผลิตอาหารของโลก
.
การพึ่งพาตนเองของเกษตรกรรายย่อยด้านการผลิตเมล็ดพันธุ์ใช้เอง จึงยังเป็นเรื่องยุ่งยาก เทคนิคการเก็บเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านโดยเกษตรกรเป็นองค์ความรู้ที่รวบรวมโดยชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติ(กลุ่มเกษตรกรทำนา นาโส่)ตำบลนาโส่ อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร เพราะเป็นปัจจัยการผลิต ที่สำคัญที่นำไปสู่การพึ่งตนเอง และการผลิตในระบบเกษตรอินทรีย์
.
ประเภทของเมล็ดพันธุ์
.
การเก็บเมล็ดพันธุ์ให้ได้คุณภาพ ควรรู้จักประเภทของพืชผักพื้นบ้านเพื่อทำความเข้าใจกับธรรมชาติของพืชผัก ซึ่งแบ่งได้ ดังนี้
๑.ตระกูลมะเขือ ได้แก่ มะเขือเทศ มะเขือพวง มะอึก มะแว้ง เป็นต้น
๒.ตระกูลแตง ได้แก่ แตงโม แตงกวา แตงเทศ แตงไทย มะระ บวบหอม บวบเหลี่ยม ฟักเขียว ฯ
๓.ตระกูลกะหล่ำ ได้แก่ ผักกาดเขียวปลี กวางตุ้ง ผักกาดดอก คะน้า กะหล่ำปลี กวางตุ้ง ผักกาดดอก คะน้า กะหล่ำปลี กะหล่ำดาว บรอคโคลี่ ผักกาดหัว เป็นต้น
๔.ตระกูลถั่ว ได้แก่ ถั่วลันเตา ถั่วปากอ้า ถั่วฝักยาว ถั่วพุ่ม ถั่วแขก ถั่วพู ถั่วมะแฮะ เป็นต้น
.
การจัดการเมล็ดพันธุ์ตามลักษณะการเก็บเมล็ดพันธุ์
๑.กลุ่มที่ต้องเก็บเมื่อผลแห้ง ได้แก่ กลุ่มบวบ โดยมีวิธีการเก็บ คือเก็บผลแก่จัดสีน้ำตาล นำมาผึ่งลมให้แห้งสนิท และตากแดดให้แห้งสนิท และตากแดดให้แห้งอีก ๓-๕ วัน หลังจากนั้นเทออกจากฝัก ทำความสะอาด บรรจุซองหรือขวด ปิดฝาให้สนิท บันทึกรายละเอียดของพันธุ์เก็บใส่ตู้ หรือ ตู้เย็น
๒.กลุ่มพืชที่ต้องเก็บเมล็ดพันธุ์ช่วงระยะเริ่มสุกแก่ ได้แก่ ถั่วฝักยาว ข้าวโพด ถั่วลันเตา โดยมีวิธีการเก็บคือ มัดรวมกัน ผึ่งลมให้แห้ง ๘-๑๐ วัน กะเทาะออกจากฝัก ทำความสะอาด บรรจุในถุง หรือขวด ปิดฝาให้สนิท บันทึกรายละเอียดของพันธุ์
๓.กลุ่มพืชที่ต้องการเก็บเมล็ดเมื่อผลสุกแก่ ได้แก่ พริก มะเขือ ฟักทอง มะระ แตงโม ฟักเขียว ซึ่งมีวิธีการคือ ฟักเขียว ฟักทอง แตงโม บ่มไว้ก่อน อย่างน้อย ๑๕ วัน เมล็ดจะดูดสารอาหารจากผลมาเก็บไว้ให้เมล็ดเต็ม ส่วนพริก มะเขือ มะระ ไม่ต้องบ่ม เก็บมาผ่าเอาเมล็ดทันที เก็บไว้นานสารอาหารจะถูกดูดออกจากเมล็ด จากนั้นทำความสะอาดด้วยน้ำสะอาด นำไปตากแดดให้แห้ง ๒-๓ แดด ทำความสะอาดบรรจุในถุงกระดาษ บีบอากาศออกให้หมด ปิดปากถุงให้แน่น บันทึกรายละเอียดของพันธุ์
๔.กลุ่มพืชที่มีสารบางชนิดหุ้มห่อ เช่น มะเขือเทศ มะละกอ แตงกวา แตงร้าน เก็บพันธุ์โดยขูดเอาเมล็ดหมักไว้ ๑-๒ คืน ล้างด้วยน้ำเปล่าจนสะอาด แล้วนำเมล็ดไปตากแดด ๒-๓ แดด จนแห้งสนิท ทำความสะอาดอีกครั้ง จากนั้นบรรจุในซองกระดาษเขียนรายละเอียดของพันธ์ เก็บไว้ในตู้ หรือ ตู้เย็น
.
หมายเหตุ : เมล็ดพันธุ์ที่เก็บในช่องแช่แข็งของตู้เย็นสามารถเก็บได้นานถึง ๔ ปี แต่ถ้าเก็บในช่องธรรมดาเก็บไว้ได้นาน ๒ ปี
.
วิธีการปลูกผักเก็บเมล็ดพันธุ์
๑.พืชตระกูลเถา ปลูกหลุมละไม่เกิน ๒ เถา แต่ละเถาไม่ควรเกิน ๒ ลูก
๒.พริกมะเขือ ให้ปลูกห่างจากพันธุ์อื่นๆ เนื่องจากง่ายต่อการผสมพันธุ์ และ กลายพันธุ์
๓.ข้าวโพด ปลูกให้ห่างจากข้าวโพดพันธุ์อื่นๆ ประมาณ ๕๐๐ เมตร
.
ลักษณะการเก็บเมล็ดพันธุ์ผัก
๑.เก็บคาฝักหรือเก็บฝักแห้ง เช่น ข้าวโพด บวบ น้ำเต้า แตง แตงกวา แตงโม ผักกาด ผักชี กวางตุ้ง คะน้า สลัด
๒.เก็บสุกแก่ เช่น พริกมะเขือ พืชตระกูลถั่ว มะเขือเทศ ทานตะวัน มะรุม แมงลัก
๓.เก็บทั้งต้น เช่น สะระแหน่ ผักชีฝรั่ง กระเทียม หัวหอม
.
วิธีการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์บางชนิด
๑.มะละกอ เก็บผลสุกแก่ นำเมล็ดพันธุ์แช่น้ำเกลือ เหมือนกับการคัดข้าวพันธุ์ ตากในที่ร่ม บรรจุขวด
๒.สลัด เก็บเมื่อสุกจนแห้ง บรรจุขวดที่แห้งแล้วนำไปเก็บไว้ในร่ม
๓.พืชตระกูลถั่ว เก็บเมื่อแก่จัด แล้วแกะเมล็ดออก เก็บไว้ในขวดเพื่อป้องกันมอดหรือแมลง
๔.มะเขือ เก็บเมื่อผลสุกเต็มที่ บรรจุเมล็ดเก็บไว้ในขวด และนำไปเก็บไว้ในที่ร่ม
๕.หัวหอมกระเทียม ทิ้งไว้ให้แก่จัดจนคาแปลงเพื่อป้องกันหัวลีบแล้วนำมามัดรวมกันแขวนไว้ในที่ร่ม
.
เทคนิคการป้องกันแมลงทำลายเมล็ดพันธุ์
๑.เมล็ดถั่วพันธุ์ต่างๆ ๑ กิโลกรัม ใช้เมล็ดละหุ่ง บด ๔๐ กรัม น้ำมันพืช ๒ ช้อนชา คลุกเคล้าให้เข้ากัน
๒.เมล็ดพืชทั่วไป
สูตรที่ ๑ ใบยี่โถหั่นฝอยแห้ง ๔๐ กรัม ต่อเมล็ดพืช ๑ กิโลกรัม
สูตรที่ ๒ ขมิ้นชันป่นแห้ง ๕๐ กรัมต่อเมล็ดพืช ๑ กิโลกรัม
สูตรที่ ๓ ปูนขาว ๕๐ กรัม ต่อเมล็ดพืช ๑ กิโลกรัม
.
เทคนิคการป้องกันความชื้นเมื่อเก็บเมล็ดพันธุ์
๑.วิธีใช้ข้าวคั่วดูดความชื้น โดยการคั่วข้าวสารแห้ง ปล่อยทิ้งไว้ให้เย็น แล้วใส่ก้นภาชนะ ประมาณ ๑ ใน ๔ วางกระดาษแข็งบนข้าวคั่ว จากนั้นใส่เมล็ดพันธุ์บนกระดาษปิดฝาให้สนิท
๒.วิธีใส่เศษถ่าน โดยวางเศษถ่านรองก้นภาชนะประมาณ ๑ ใน ๔ วางกระดาษแข็งใส่เมล็ดพันธุ์ปิดฝาให้สนิท
๓.วิธีใช้ขี้เถ้าใหม่ โดยการนำขี้เถ้าออกจากเตา(ขี้เถ้าที่เหลือจากการทำอาหารใหม่ๆ)นำไปร่อนให้เหลือ ขี้เถ้าสะอาดใส่ก้นภาชนะลักษณะเดียวกันกับเศษถ่าน ใส่เมล็ดและปิดฝาให้สนิท
.
อุปกรณ์เก็บ/ไล่/ดูดความชื้น
๑.ปูนปลาสเตอร์ /ถ่านหุงข้าว/ขี้เถ้า
๒.ปี๊บ
๓.เมล็ดพันธุ์
.
ภาชนะบรรจุเมล็ดพันธุ์
ภาชนะที่ใช้บรรจุเมล็ดพันธุ์มีหลายรูปแบบ แต่ที่นิยมทั่วไปมี ๑๔ ประเภทได้แก่
๑.ขวดโหล
๒.ขวดสีทึบ
๓.ปี๊บ
๔.ซองกระดาษ
๕.ถุงซิป
๖.กระบอกไม้แห้ง
๗.ซองอะลูมินั่ม
๘.โอ่ง
๙.กระป๋อง
๑๐.หม้อดิน
๑๑.ถุงตาข่าย
๑๒.ถุงผ้า
๑๓.ถุงกระดาษ
๑๔.ผลน้ำเต้าแห้ง
.
การเก็บเมล็ดพันธุ์ที่เหมาะสม
๑.บรรจุใส่ขวดแห้ง เช่น ถั่วพุ่ม ถั่วดำ สลัด ผักชี ผักกาด
๒.บรรจุขวดสีชา เช่น ฟักทอง น้ำเต้า พริก มะเขือ
๓.ตากไว้ในที่ร่ม เช่น หัวหอม กระเทียม ข้าวโพด
.
ข้อสังเกต
๑.ภาชนะบรรรจุเมล็ดพันธุ์ควรเก็บในพื้นที่ที่ไม่มีแดดส่องถึง
๒.ขวดเก็บเมล็ดพันธุ์ควรมีสีชา ดีที่สุด
๓.โอ่ง หรือ ไหดิน บรรจุเมล็ดพันธุ์ให้เก็บไว้ในที่แห้ง
๔.ภาชนะบรรจุเมล็ดพันธุ์ใส่ไว้ในตู้เย็น
.
ที่มาข้อมูลจาก
หนังสือเกษตรกรรมธรรมชาติ ฉบับที่ ๑๗/๒๕๕๕ หน้า ๗