การเลี้ยงปลาทับทิม
รูปแบบการเลี้ยงปลาทับทิม จำแนกตามลักษณะแหล่งน้ำที่เลี้ยง ได้แก่
1. การเลี้ยงในบ่อดิน
เป็นการเลี้ยงในบ่อที่ขุดบริเวณพื้นที่ว่าง โดยคันบ่อ ขอบบ่อ และก้นบ่อเป็นดิน และไม่ใช้วัสดุกันน้ำใดๆรองพื้นหรือที่เรียกว่า บ่อน้ำหรือสระ บ่อเลี้ยงในลักษณะนี้มักเป็นบ่อขนาดใหญ่เป็นไร่หรือมากกว่า มีความลึกของบ่อตั้งแต่ 2 เมตร การเลี้ยงในลักษณะนี้จำเป็นต้องมีปริมาณน้ำมากเพียงพอ เพราะจำเป็นต้องใช้น้ำมาก
2. การเลี้ยงในเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่
การเลี้ยงในเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ จะเป็นลักษณะการเลี้ยงในกระชังเป็นกลุ่มๆ เพื่อให้ปลาอยู่ในพื้นที่เลี้ยง ขนาดความลึกของน้ำไม่ควรต่ำกว่า 5 เมตร มีค่าความขุ่นใสไม่น้อยกว่า 70 เซนติเมตร
3. การเลี้ยงในแม่น้ำ
การเลี้ยงในแม่น้ำจัดเป็นการเลี้ยงในกระชังเช่นกัน แม่น้ำควรมีน้ำไหลตลอดฤดูกาลเลี้ยง หากเป็นพื้นที่ใกล้ปากอ่าว ควรให้กระชังห่างจากปากอ่าวมากที่สุด อย่างน้อย 20 กิโลเมตร เพื่อไม่ให้น้ำมีการเปลี่ยนแปลงความเค็มหรือคุณภาพมากเกินไป
4. การเลี้ยงในบ่อซีเมนต์
เป็นการเลี้ยงที่ใช้วิธีการสร้างบ่อน้ำด้วยการก่อบ่อซีเมนต์สี่เหลี่ยมผืนผ้า ซึ่งมักเลี้ยงในโรงเรือนที่สามารถป้องกันน้ำฝนได้ การเลี้ยงลักษณะนี้จะเลี้ยงได้ในปริมาณน้อย จากปัญหาเรื่องพื้นที่จำกัด และอาจต้องใช้เครื่องเติมอากาศเข้าช่วยเพื่อให้ออกซิเจน
การเลี้ยงตามลักษณะการจำหน่าย
1. การเลี้ยงแบบกึ่งพัฒนา เป็นการเลี้ยงเพื่อการบริโภค และเพื่อการจำหน่าย โดยส่วนที่จำหน่ายจะเป็นส่วนที่เหลือจากการบริโภค การเลี้ยงลักษณะนี้มุ่งเน้นให้มีต้นทุนต่ำ โดยใช้วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรหรือวัสดุที่หาได้ตามท้องถิ่นเป็นอาหารแก่ปลาเป็นหลัก ร่วมกับการหากินเองของปลาตามธรรมชาติ เช่น ปุ๋ยคอก เศษพืชผัก ปลวก เป็นต้น
2. การเลี้ยงเชิงพาณิชย์ หรือการเลี้ยงแบบเข้มข้นเพื่อการจำหน่ายเป็นหลัก อาหารที่เลี้ยงจะเป็นอาการสำเร็จรูปที่หาซื้อได้ตามท้องตลาดเป็นหลัก เพราะเป็นการเลี้ยงเพื่อให้ปลาได้รับสารอาหารที่เพียงพอ ทำหให้ปลาเจริญเติบโตเร็ว ปลาที่มีขนาดใหญ่ และเป็นไปตามความต้องการของตลาด อัตราการปล่อยเลี้ยงจะใช้แบบหนาแน่น และให้อาหารมาก เพื่อย่นระยะเวลาการเลี้ยงให้สั้นลง
3. การเลี้ยงระบบฟาร์มลูก เป็นรูปแบบการเลี้ยงที่เกษตรเป็นเครือข่ายของบริษัทผู้พัฒนาพันธุ์ปลา โดยบริษัทจะให้การสนับสนุนในหลายด้าน อาทิ พันธุ์ปลา ยา และอาการ รวมถึงการให้คำปรึกษา และการแก้ปัญหาตลอดระยะเวลาการเลี้ยง ทำให้ผู้เลี้ยงสามารถผลิตปลาทับทิมได้มีคุณภาพดี และสม่ำเสมอ ทั้งนี้ ในด้านการตลาด บริษัทเครือข่ายจะเป็นผู้รับชื้อในราคาต่อหน่วยกิโลกรัมปลา โดยที่เกษตรกรไม่จำเป็นต้องวิ่งหาตลาดเอง
พันธุ์ปลาที่เลี้ยง
ลูกพันธุ์ปลาทับทิมที่นำมาเลี้ยง ควรหาซื้อจากฟาร์มที่มีความน่าเชื่อถือ หรือจากบริษัทผู้ผลิตพันธุ์ปลาโดยตรง นอกจากนั้น หากเกษตรกรมีการเลี้ยงจำนวนมาก และเป็นผู้มีความรู้ในด้านการเพาะขยายพันธุ์ปลา อาจทำการเพาะขยายพันธุ์ปลาเอง ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนเรื่องพันธุ์ปลาลงได้มาก
ที่มา
http://pasusat.com/%E0%B8%9B%E0%B8%A5...
https://www.youtube.com/watch?v=kK31Ch6-b5E