ในรอบทศวรรษที่ผ่านมา นักปรับปรุงพันธุ์พืชและนักวิจัยของศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ รวมทั้งศูนย์เครือข่าย ได้วิจัยและพัฒนาพันธุ์ฝ้ายที่มีคุณภาพดี มีความหลากหลาย สอดคล้องและตรงกับความต้องการของตลาด ตลอดจนได้เทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสม ลดการใช้สารเคมีตั้งแต่ขั้นตอนการปลูกจนกระทั่งกระบวนการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
1. ตากฟ้า 84-4
พันธุ์ฝ้ายใบขน ผลผลิตฝ้ายปุยทั้งเมล็ด 260 กิโลกรัมต่อไร่ และคุณภาพเส้นใยดีมาก โดยมีเปอร์เซ็นต์ปุย 38.0 เปอร์เซ็นต์ ความยาวของเส้นใย 1.23 นิ้ว ความเหนียวของเส้นใย 24.3 กรัมต่อเท็กซ์ ความสม่ำเสมอของเส้นใย 56 และความละเอียดอ่อนของเส้นใย 3.9 นอกจากนี้ผลผลิตเสียหายน้อยกว่าพันธุ์ตากฟ้า 2 ซึ่งเป็นฝ้ายใบเรียบ จากการเข้าทำลายอย่างรุนแรงของเพลี้ยจักจั่นที่ระบาดอย่างรวดเร็ว เมื่อประสบภาวะแห้งแล้งติดต่อกันเป็นเวลานาน เนื่องจากฝ้ายพันธุ์ตากฟ้า 84-4 มีใบปกคลุมด้วยขนทั้งบนใบและบริเวณเส้นใบ ทำให้ลดการเข้าทำลายของเพลี้ยจักจั่นได้ดีกว่า อีกทั้งยังมีความต้านทานต่อโรคใบหงิก ซึ่งทำให้สามารถลดการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดแมลงปากดูดพวกเพลี้ยอ่อนและเพลี้ยจักจั่นลงในระดับหนึ่ง ดังนั้น ฝ้ายพันธุ์ตากฟ้า 84-4 จึงเหมาะสมที่จะส่งเสริม ให้เกษตรกรปลูก ในภาวะที่มีการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก ที่ก่อให้เกิดภาวะแห้งแล้งเป็นระยะเวลานานตลอดจนเป็นพันธุ์ที่มีเสถียรภาพในการให้ผลผลิต สามารถปรับตัวได้ดีในสภาพแวดล้อมของการปลูกฝ้ายที่สำคัญของประเทศไทย
เทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสม ในการผลิตฝ้ายพันธุ์ตากฟ้า 84-4 สำหรับดินชุดสมอทอด ควรใช้ อัตราประชากร 1_828 ต้นต่อไร่ โดยใช้ระยะปลูกระหว่างแถว 1.75 เมตร ระหว่างต้น 0.5 เมตร ใส่ปุ๋ยอัตรา 12-12-12 กิโลกรัมต่อไร่ ของ N-P2O5-K2O เมื่อฝ้ายอายุ 30 วัน
2. ตากฟ้า 86-5
ฝ้ายเส้นใยสีเขียว และมีคุณภาพเส้นใยดีพันธุ์แรกของไทย มีความยาวเส้นใย 1.26 นิ้ว ความเหนียว 31.6 กรัม/เท็กซ์ ความสม่ำเสมอ 84 และความละเอียดอ่อน 2.54 ตลอดจนต้านทานต่อโรคใบหงิก เหมาะสำหรับใช้เป็นวัตถุดิบรองรับการผลิตหัตถกรรมสิ่งทอในท้องถิ่น เพื่อนำไปสู่การแข่งขันและพึ่งพาตนเอง อีกทั้งเส้นใยสีเขียวยังเป็นคุณสมบัติเฉพาะตัว ไม่ต้องผ่านกระบวนการฟอกย้อมสี ปลอดภัยต่อผู้ผลิต ผู้ใช้ และลดมลภาวะน้ำเสียที่เกิดจากการฟอกย้อม ตรงตามกระแสของผู้บริโภคที่ต้องการใช้เส้นใยฝ้ายสี ซึ่งอนุรักษ์และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
เทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสม ในการเพิ่มมูลค่าของผลผลิตฝ้าย ซึ่งเป็นฝ้ายเส้นใยสีเขียวพันธุ์แรกของไทย แนะนำให้ใช้อัตราประชากร ที่เหมาะสม 2_650 ต้นต่อไร่ หรือ ใช้ระยะปลูก 1.25×0.50 เมตร ใส่ปุ๋ยอัตรา 8-16-8 กิโลกรัมต่อไร่ ของ N-P2O5-K2O ซึ่งเหมาะสมและให้กำไรสูงสุด ในชุดดินวังไฮ สำหรับการป้องกันกำจัดเพลี้ยจักจั่น ให้พ่นสารเคมีป้องกันกำจัดแมลงศัตรูฝ้ายเฉพาะที่ฝ้ายอายุ 50-100 วัน หรือ เมื่อมีปริมาณเพลี้ยจักจั่น ถึงระดับเศรษฐกิจ และแนะนำให้เก็บเกี่ยวฝ้ายพันธุ์นี้ ทุก 5 และ 10 วันหลังจากสมอเริ่มแตก เพื่อให้ได้เส้นใยที่มีสีเขียวเข้มที่สุด
3. ตากฟ้า 6
ฝ้ายเส้นใยสีน้ำตาลพันธุ์แรกของไทย ความยาวเส้นใยปานกลาง 1.09 นิ้ว และมีความละเอียดอ่อนของเส้นใยสูง 2.7 เมื่อนำไปทอจะได้เนื้อผ้าที่มีความนิ่ม สบาย ให้ผลผลิตเฉลี่ย 177 กิโลกรัมต่อไร่ และปลูกได้ในแหล่งผลิตฝ้ายของไทย มุ่งเน้นความเป็นเส้นใยธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีสีน้ำตาลตามธรรมชาติ โดยไม่ต้องใช้สารเคมีในการฟอกย้อม เพื่อให้ลด ต้นทุนแรงงาน ลดขั้นตอน และเวลาในการฟอกย้อมสี อีกทั้งยังปลอดภัยต่อผู้ผลิต ผู้ใช้ และลดมลภาวะน้ำเสียที่เกิดจากการฟอกย้อม
เทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสม ในการผลิตฝ้ายตากฟ้า 6 ที่ปลูกในดินร่วนเหนียว ชุดดินวังไฮ ควรใช้อัตราประชากร 3_200 ต้นต่อไร่ โดยใช้ระยะปลูกระหว่างแถว 1.0 เมตร ระหว่างต้น 0.5 เมตร หรือ อัตราประชากร 2_560 ต้นต่อไร่ โดยใช้ระยะปลูกระหว่างแถว 1.25 เมตร ระหว่างต้น 0.5 เมตร ใส่ปุ๋ยเคมีรองพื้นเกรด 15-15-15 อัตรา 15 กิโลกรัมต่อไร่ และเมื่อฝ้ายอายุ 30 วัน ใส่ปุ๋ยเคมี 46-0-0 อัตรา 15 กิโลกรัมต่อไร่
เทคโนโลยีการผลิตฝ้ายอินทรีย์
ซึ่งเป็นอีกเทคโนโลยีหนึ่งที่เพิ่มมูลค่าของผลผลิตฝ้าย เนื่องจากลดการใช้สารเคมี สร้างผลผลิตและสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยจากสารเคมีปนเปื้อนในการผลิตฝ้าย โดยสามารถเลือกใช้การปรับปรุงดินจาก 4 วิธี คือ การใช้ปอเทืองหว่านแล้วไถกลบเมื่ออายุ 2 เดือน หรือใช้ปอเทืองร่วมกับปุ๋ยหมักแห้ง 3 ตันต่อไร่ หรือใช้ปอเทืองร่วมกับโบกาชิ 200 กิโลกรัมต่อไร่ หรือใช้ปอเทืองร่วมกับปุ๋ยหมัก 3 ตันต่อไร่และใส่โบกาชิ 200 กิโลกรัมต่อไร่เมื่ออายุ 1 เดือน แต่กรรมวิธีที่ให้ค่า BCR ต่ำกว่ากรรมวิธีอื่นหรือคุ้มค่ามากกว่า คือ ใช้ปอเทืองอย่างเดียว หรือใช้โบกาชิ 200 กิโลกรัมต่อไร่อย่างเดียว (ค่า BCR เท่ากับ 1.26 และ 1.40 ในพันธุ์ตากฟ้า 86-5 และ ตากฟ้า 6 ตามลำดับ และพันธุ์ฝ้ายทั้งสองพันธุ์นี้สามารถปลูกในระบบอินทรีย์ได้ ส่วนการควบคุมแมลงศัตรูพืช สามารถพ่นน้ำหมักชีวภาพจากผลไม้และจากสมุนไพร (อัตราส่วนน้ำหมัก : น้ำ 1 : 200) ตั้งแต่ฝ้ายอายุ 15-100 วันหลังงอก ช่วงฤดูปลูกปลายฝนสำหรับภาคเหนือ (จังหวัดเชียงใหม่) สามารถปลูกได้ตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคม และมีโอกาสพบกับความแปรปรวนของฝนได้ตลอดฤดูปลูก
4. ตากฟ้า 7
ฝ้ายพันธุ์รับรองล่าสุดของกรมวิชาการเกษตร ตากฟ้า 7 เป็นฝ้ายใบขน ผลผลิตฝ้ายปุยทั้งเมล็ด เฉลี่ย 196 กิโลกรัมต่อไร่ ทนทานต่อเพลี้ยจักจั่น และต้านทานต่อโรคใบหงิกในสภาพการปลูกแบบปลอดการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดแมลงศัตรูฝ้าย ตลอดจนมีเปอร์เซ็นต์หีบ 36.6 % คุณภาพเส้นใยยาวปานกลาง โดยกลุ่มเส้นใยมีความยาว 1.02 นิ้ว ความเหนียว 16.6 กรัมต่อเท็กซ์ ความละเอียดอ่อน 4.4 และความสม่ำเสมอ 58 อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 120-189 วัน สามารถปลูกได้ในแหล่งผลิตฝ้ายของประเทศไทย เป็นทางเลือกให้เกษตรกรใช้ปลูกในพื้นที่ขนาดเล็ก (น้อยกว่า 1 ไร่) ในสภาพปลอดการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดโรคและแมลง รองรับแนวความคิดในการผลิตฝ้ายที่ปลอดภัยต่อสุขภาพผู้ผลิต ผู้บริโภค จากศักยภาพของพันธุ์ สามารถที่จะก่อให้เกิดการพัฒนาต่อเนื่องในการผลิตฝ้ายอินทรีย์ เพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิต และรองรับกระแสความต้องการของผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูง (niche market)
คำแนะนำการจัดการปุ๋ย ในการผลิตฝ้ายพันธุ์ตากฟ้า 7 ที่ปลูกในดินร่วนเหนียวชุดดินวังไฮ ควรใช้อัตราประชากร 3_200 ต้นต่อไร่ (ระยะระหว่างแถว 1.0 เมตร ระหว่างต้น 0.5 เมตร) หรือ อัตราประชากร 1_828 ต้นต่อไร่ (ระยะระหว่างแถว 1.75 เมตร ระหว่างต้น 0.5 เมตร) ใส่ปุ๋ยรองพื้นสูตร 8-24-24 อัตรา 33 กิโลกรัมต่อไร่ และใส่ปุ๋ย 21-0-0 อัตรา 7 กิโลกรัมต่อไร่เมื่อฝ้ายอายุ 30 วัน
ที่มา
http://www.farmkaset..link..
ฉีดพ่น FK-1 เพื่อ บำรุง ส่งเสริมการเจริญเติบโต ของ ฝ้าย