<กลับหน้าค้นข้อมูล
แจ้งลิงค์ในเนื้อหาเสีย
ความแตกต่าง อ้อยเคี้ยว กับ อ้อยทำน้ำตาล
อ้อย เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญอีกชนิดของไทย สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมแต่ละปีไม่น้อย ด้วยประโยชน์ของอ้อยที่ใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาลและพลังงานทดแทน ทำให้ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกอ้อยหลายล้านไร่ ให้ผลผลิตอ้อยรวมกว่าร้อยล้านตัน ซึ่งปัจจุบันมีพันธุ์อ้อยมากกว่า 200 สายพันธุ์ทั่วโลก แต่ที่นิยมปลูกกันมีประมาณ 30 สายพันธุ์ โดยอ้อยที่ปลูกมี 2 ลักษณะใหญ่ ๆ ได้แก่ อ้อยเคี้ยว และอ้อยทำน้ำตาล
อ้อยเคี้ยว กับ อ้อยทำน้ำตาล แตกต่างกันอย่างไร ?
อ้อยเคี้ยว คือ อ้อยที่มีเปลือกนิ่ม ชานนิ่ม มีความหวานปานกลางถึงค่อนข้างสูง ปลูกเพื่อหีบเอาน้ำอ้อยสำหรับบริโภคโดยตรง หรือ ใช้สำหรับรับประทานสด อ้อยเคี้ยวที่นิยมปลูกกันมีหลายพันธุ์ ได้แก่
พันธุ์แรก ได้แก่ อ้อยสิงคโปร์ หรืออ้อยสำลี พันธุ์นี้มีชานนิ่มมาก ลำต้นสีเหลืองอมเขียว เมื่อหีบแล้วได้น้ำอ้อยสีสวยน่ารับประทาน
พันธุ์ที่สอง ได้แก่ พันธุ์มอริเชียส (บางครั้งเรียกมอริชาด) ลำต้นสีม่วงแดงไม่เหมาะสำหรับทำน้ำอ้อย จึงใช้สำหรับบริโภคหรือเป็นอ้อยเคี้ยวโดยตรง อ้อยพันธุ์นี้เป็นที่นิยมมาก ส่วนใหญ่ปลูกในจังหวัดราชบุรีและนครปฐม
พันธุ์ที่สาม ได้แก่ พันธุ์บาดิลาสีม่วงดำ แม้ว่าจะเป็นอ้อยเคี้ยว แต่ไม่ค่อยนิยมปลูกกันเพราะโตช้าและปล้องสั้นมาก
อ้อยทั้งสามพันธุ์นี้จัดเป็นอ้อยดั้งเดิม ซึ่งมีถิ่นกำเนิดแถบเกาะนิวกินี นอกจากนี้ก็มีอ้อยน้ำผึ้ง และอ้อยขาไก่ ซึ่งยังคงมีปลูกในที่บางแห่ง อย่างไรก็ดีอ้อยชนิดอื่น ๆ นอกจากที่กล่าวนี้ก็สามารถใช้เป็นอ้อยเคี้ยวได้หากมีความหวานพอ และไม่แข็ง จนเกินไป นอกจากนี้ยังมีพันธุ์อ้อยที่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์เพื่อมาใช้เป็นอ้อยคั้นน้ำโดยตรงเช่นพันธุ์สุพรรณบุรี 50 พันธุ์ศรีสำโรง 1 โดยพันธุ์อ้อยคั้นน้ำเหล่านี้จะให้น้ำอ้อยที่มีสีเขียวสวยความหวานเหมาะสมสำหรับดื่มเป็นน้ำอ้อยสด รวมทั้งต้องให้ผลผลิตน้ำอ้อยต่อพื้นที่สูง
อ้อยทำน้ำตาล อ้อยกลุ่มนี้เป็นอ้อยลูกผสมซึ่งเกิดขึ้นโดยนักผสมพันธุ์อ้อยของประเทศต่างๆ ทั่วโลก พันธุ์อ้อยเหล่านี้ได้ถูกนำเข้าไปยังประเทศต่างๆ สำหรับประเทศไทยได้มีการนำพันธุ์อ้อยลูกผสมเข้ามาจากต่างประเทศตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน รวมประมาณ 220 พันธุ์
สายพันธุ์ที่ทางกรมวิชาการเกษตรแนะนำได้แก่ กลุ่มพันธุ์อู่ทอง เช่นอู่ทอง 12 กลุ่มพันธุ์ขอนแก่นเช่นพันธุ์ขอนแก่น 3 กลุ่มพันธุ์ เค แอลเค และซีเอสบี จากสำนักงานอ้อย เช่น เค 88-92 พันธุ์แอลเค 92-11 ปัจจุบันนิยมใช้พันธุ์ ขอนแก่น 3 ซึ่งเป็นที่นิยมปลูกทั่วประเทศ
ซึ่งอ้อยที่มิตรชาวไร่ปลูกคือ อ้อยทำน้ำตาล ที่มีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมน้ำตาลของไทยเป็นอย่างมาก แม้อ้อยจะเป็นพืชปลูกง่าย เก็บเกี่ยวได้หลายครั้ง แต่การปรับปรุงพันธุ์อ้อยที่ให้ผลผลิตอ้อยและความหวานสูง ยังเป็นหนทางหนึ่งที่ช่วยลดต้นทุนการผลิตของชาวไร่อ้อย สนับสนุนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายในประเทศให้แข่งขันกับประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลก รวมทั้งเราต้องแข่งขันกับพืชทำน้ำตาลชนิดอื่นเช่น หัวผักกาดหวานให้ได้ โดยพันธุ์อ้อยที่ดีต้องให้ผลผลิตสูงและความหวานสูง ต้านทานต่อโรคและแมลง มีลักษณะทางการเกษตรที่ดี เช่น ไว้ตอได้หลายครั้ง ทนทานต่อการหักล้ม เหมาะสมกับการเก็บเกี่ยวด้วยเครื่องจักร เป็นต้น และปรับตัวได้ดีในแหล่งปลูกอ้อยที่สำคัญในแต่ละภูมิภาค เพื่อให้มีอ้อยพันธุ์ดีส่งเสริมชาวไร่อ้อยอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ความเหมาะสมของแต่ละสายพันธุ์ยังขึ้นอยู่กับสภาพภูมิประเทศของแต่ละพื้นที่ และที่สำคัญผลผลิตอ้อยที่ดียังขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการอ้อยของชาวไร่แต่ละรายด้วย
ที่มาข้อมูล-ภาพ
http://www.ionique.co.th/
https://www.thairath.co.th
https://isaanrecord.com/
http://www.mitrpholmodernfarm.com/