<กลับหน้าค้นข้อมูล
แจ้งลิงค์ในเนื้อหาเสีย
โรคลิ้นจี่ ใบจุดสนิม ใบจุดสาหร่าย โรคราสนิมลิ้นจี่ โรคราดำลิ้นจี่ ลิ้นจี่ใบไหม้ โรคลิ้นจี่ต่างๆ ที่มีสาเหตุจากเชื้อรา
โรคใบจุดสนิม หรือจุดสาหร่าย
สาเหตุ สาหร่ายเซฟาลิวโรส ( Cephaleuros virescens)
ลักษณะอาการ เกิดบนใบแก่ลิ้นจี่ แผลเริ่มแรกเป็นจุดขุยสีเทาอมเขียวฟูเล็กน้อย เกิดกระจัดกระจายบนใบ ต่อมาจุดจะขยายออกและเปลี่ยนเป็นสีเหลืองแกมส้มหรือสีสนิม ลักษณะค่อนข้างกลมขนาด 3-5 มิลลิเมตร ระยะต่อมาจุดจะแห้งและทำให้เนื้อเยื่อใบทั้งด้านบนและใต้ใบบริเวณแผลมีลักษณะสีน้ำตาลดำ ในที่สุดใบที่เป็นโรคจะมีสีซีดเหลืองปนน้ำตาลและใบร่วง
การแพร่ระบาด
สาหร่ายแพร่ระบาดไปกับลมและพายุฝน เข้าทำลายในสภาพอากาศที่มีความชื้นสูง พืชอาศัยของสาหร่ายชนิดนี้มีหลายชนิดเช่น มะม่วง ลำไย เงาะ ฝรั่ง ส้ม ทุเรียน และไม้ผลอื่น ๆ
การป้องกันกำจัด
ตัดแต่งทรงพุ่มให้โปร่ง และพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชคอปเปอร์ออกซีคลอไรด์
โรคราสนิม
สาเหตุ เชื้อราสเกอกา (Skierka nephelii)
ลักษณะอาการ ใบลิ้นจี่ที่แก่บริเวณใต้ทรงพุ่ม แสดงอาการเป็นจุดนูนขนาดเล็กมากสีเหลือง เกิดกระจัด กระจายทางด้านใต้ใบ และเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลในระยะต่อมา
การแพร่ระบาด สปอร์ของเชื้อราฟุ้งกระจายแพร่ระบาดไปกับลมและพายุ ในสภาพอากาศทางภาคเหนือ ของประเทศไทย
การป้องกันกำจัด ตัดแต่งกิ่งให้โปร่ง และพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชแมนโคเซบ เป็นโรคที่ยังไม่มี ความสำคัญทางเศรษฐกิจ
โรคลำต้นและกิ่งแห้ง
สาเหตุ ยังไม่ทราบสาเหตุ
ลักษณะอาการ พบเป็นกับลิ้นจี่หลายพันธุ์ อายุ 3-20 ปี ส่วนใหญ่เมื่อต้นลิ้นจี่มีอายุตั้งแต่ 10 ปี ขึ้นไป เริ่มแรกแสดงอาการทรุดโทรมใบร่วงและปลายกิ่งแห้งเป็นบางกิ่งหรือทั้งต้น บริเวณโคน ลำกิ่งหรือลำต้น มีแผลลักษณะเป็นรอยแตก รูปร่างและขนาดไม่แน่นอน เมื่อเฉือนผิวเปลือกออก แผลมีอาการไหม้สีน้ำตาลหรือสีน้ำตาลดำ การพัฒนาของโรคจะเป็นไปอย่างช้า ๆ กรณีต้นลิ้นจี่ที่มีอายุยังน้อยการพัฒนาการจะเป็นอย่างเฉียบพลัน ใบจะร่วงและกิ่งแห้งอย่างรวดเร็ว ในที่สุดต้นลิ้นจี่มีลักษณะยืนต้นตาย
การแพร่ระบาด พบเป็นกับต้นลิ้นจี่ตลอดทั้งปี
การป้องกันกำจัด ตัดแต่งกิ่งเป็นโรคนำไปเผาทำลาย แล้วบำรุงรักษาต้นให้สมบูรณ์แข็งแรง โดยการใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยเคมี และพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชอย่างสม่ำเสมอ
โรคราดำ
สาเหตุ เชื้อรา แคบโนเดียม และเมลิโอลา (Copnodium sp. และ Meliola sp.)
ลักษณะอาการ ใบ กิ่ง ช่อดอก และช่อผล มีลักษณะเป็นคราบเขม่าหรือฝุ่นผง มีสีดำ ขึ้นเจริญปกคลุมทำให้ชะงักการเจริญเติบโตและผิวของผลไม่สะอาด เมื่อถูกน้ำฝนชะล้างคราบเขม่าสีดำของเชื้อราจะหลุดไปเอง
การแพร่ระบาด เชื้อราดำแพร่ระบาดภายหลังแมลงพวกดูด เช่น เพลี้ยหอย เพลี้ยแป้งเข้าทำลายต้นลิ้นจี่ แล้วขับถ่ายสารเหนียวเป็นละอองน้ำหวาน (honey dew) ลงบนพืช ซึ่งเป็นอาหารของเชื้อราดำ
การป้องกันกำจัด ตัดแต่งทรงพุ่มให้โปร่ง ควบคุมการแพร่ระบาดของแมลงเพลี้ยหอย และเพลี้ยแป้ง และพ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืชอย่างสม่ำเสมอ
โรคเปลือกผลไหม้
สาเหตุ ยังไม่ทราบสาเหตุของโรคที่ชัดเจน
ลักษณะอาการ โรคเปลือกผลไหม้ มี 2 ลักษณะ
- อาการไหม้บริเวณขั้วผล แผลมีลักษณะสีน้ำตาลอ่อนขอบแผลสีน้ำตาล รูปไข่และขนาดไม่แน่นอน ขนานไปตามความยาวผลพบในระยะที่ผลลิ้นจี่กำลังสร้างเนื้อผล (เปลือกสีเขียวปนเหลือง) ต่อมาเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มหรือน้ำตาลปนดำ บางครั้งแผลแตกปริเนื่องจากเนื้อผลขยายขนา
- อาการไหม้ทั่วไปบนผล แผลมีลักษณะสีน้ำตาลอ่อนจนถึง น้ำตาลปนดำบนผล ตำแหน่ง ขนาดและรูปร่างของแผล ไม่แน่นอน พบในระยะที่ผลลิ้นจี่กำลังสร้างเนื้อเป็นต้นไป แผลอาจแตกปริเนื่องจากเนื้อผลขยายขนาด
โรคผลแตก
สาเหตุ ลิ้นจี่ได้รับน้ำหรือธาตุอาหารไม่เพียงพอในระยะระหว่างที่ผลลิ้นจี่กำลังพัฒนา
ลักษณะอาการ เปลือกผลแตกตามความยาวของผลบริเวณก้นผลในระยะที่ผลลิ้นจี่กำลังสร้างเนื้อผลหุ้มเมล็ด และระยะที่เปลือกผลเริ่มเปลี่ยนสี ต่อมาเนื้อผลเน่าเนื่องจากมีจุลินทรีย์เข้าทำลายซ้ำเติม การแพร่ระบาด เป็นโรคที่ไม่ติดเชื้อไม่มีการแพร่ระบาด
การป้องกันกำจัด
1. ให้น้ำลิ้นจี่ทีละน้อยและสม่ำเสมอระหว่างที่ผลลิ้นจี่ กำลังพัฒนา
2. ให้ปุ๋ยธาตุอาหารรองอย่างสม่ำเสมอระหว่างที่ผลลิ้นจี่กำลังพัฒนา เช่น ธาตุแคลเซียม โบรอน สังกะสี ทองแดง และแมกนีเซียม นอกเหนือจากการให้ธาตุอาหารหลักได้แก่ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโปแตสเซียม
3. พ่นสารป้องกันและกำจัดโรคแมลงศัตรูพืชโดยสม่ำเสมอ
โรคผลร่วง
สาเหตุเป็นผลมาจากการตายของคัภพะในระหว่างที่ใบเลี้ยงมีการพัฒนา เกิดในช่วงที่ผลลิ้นจี่มีอายุ ประมาณ30-50 วัน ภายหลังการผสมเกสร และบางครั้งอาจเกิดจากการทำลายของหนอนเจาะขั้วลิ้นจี่
ลักษณะอาการ ผลลิ้นจี่ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5-8 มิลลิเมตร ร่วง ผลลิ้นจี่บางส่วนอาจไม่ร่วงและมีการพัฒนาเจริญเติบโตไปจนแก่และสุก แต่ผลจะมีขนาดเล็กกว่าผลที่มีเมล็ดปกติ
การแพร่ระบาด สาเหตุที่เกิดจากการตายของคัภพะ ไม่ทำให้โรคแพร่ระบาด ปัจจัยที่เกิดจากหนอนเจาะขั้ว ลิ้นจี่ ดูรายละเอียดในแมลงศัตรูลิ้นจี่และการป้องกันกำจัด
การป้องกันกำจัด การตายของคัภพะไม่ทราบวิธีการป้องกันกำจัด ส่วนการป้องกันกำจัดหนอนเจาะขั้วลิ้นจี่ ดูในแมลงศัตรูลิ้นจี่และการป้องกันกำจัด
โรคราน้ำค้างเทียม หรือโรคผลไหม้สีน้ำตาล
สาเหตุ เชื้อราเพอร์โรโนไฟโธรา (Peronophythora litchii)
ลักษณะอาการ เกิดแผลสีน้ำตาลดำรูปร่างและขนาดไม่แน่นอน และขอบแผลมีลักษณะไม่ชัดเจนบนก้านผล ผล ใบ และรากลิ้นจี่ เชื้อราสร้างส่วนขยายพันธุ์สีขาวฟูบนแผลในช่วงระยะหลังของการติดเชื้อ เมื่อสภาพแวดล้อมชุ่มชื้นและมีฝนตก
การแพร่ระบาด เชื้อราฟักตัวข้ามฤดูถัดไป หรือเศษซากพืชที่ติดเชื้อ แล้วแพร่ระบาดไปกับน้ำฝน ลมพายุ แมลง และดินที่มีเชื้อในฤดูถัดไป สภาพอุณหภูมิที่ 22-25 0C และมีฝนตกชุกเกือบทุกวัน โรคจะลุกลามและแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรง
การป้องกันกำจัด การป้องกันกำจัดโรคราน้ำค้างเทียม จะให้ผลดีถ้าใช้วิธีผสมผสานกันระหว่างวิธีการต่าง ๆ ดังนี้
1. ปลูกลิ้นจี่ให้มีระยะห่างที่พอเหมาะไม่ปลูกชิดเกินไป
2. ตัดแต่งกิ่งให้โปร่งเพื่อให้แสงแดดส่องถึงโคนต้น และกำจัดวัชพืชภายใต้ทรงพุ่ม แล้วขนย้ายกิ่งแห้ง และกิ่งที่ติดเชื้อออกไปจากแปลงแล้วเผาทำลาย
3 บำรุงรักษาต้นลิ้นจี่ให้เจริญเติบโตแข็งแรง โดยการใส่ปุ๋ย ให้น้ำในช่วงที่อากาศแห้งแล้งและพ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืชและสารฆ่าแมลงอย่างสม่ำเสมอ
4. หมั่นตรวจแปลงในฤดูหนาวเมื่อพบใบลิ้นจี่เป็นโรค ควรพ่นต้นลิ้นจี่และผิวดินบริเวณ โคนต้นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชคอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ กรณีที่พบโรคช่วงฤดูฝน ซึ่งสภาพอากาศอบอุ่นและดินมีความชื้นสูง ควรพ่นด้วยสารละลายจุนสีเข้มข้น 0.2-0.3% ผสมโซดาซักผ้า เข้มข้น 0.1% ถ้าพ่นบนผิวดินเพิ่มความเข้มข้นเป็น 2 เท่า จาก นั้นโรยปูนขาวบริเวณโคนต้น
5.การป้องกันกำจัดโรคในระยะแตกตาดอก ระยะเริ่มติดผลไปจนถึงก่อนผลสุกควรพ่นป้องกันด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชแมนโคเซบ เมื่อพบอาการของโรคปรากฏที่ผลเพียง 1 ผล ให้เปลี่ยนไปพ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืช เมตาแลกซิลผลมแมนโคเซบ ไซม๊อกซานิล และแมนโคเซบ ฯลฯ จำนวน 1-2 ครั้ง แล้วกลับไปพ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืช แมนโคเซบ เช่นเดิม เว้นระยะให้สารเคมีสลายตัวก่อนการเก็บเกี่ยวอย่างน้อย 7 วัน
6. กรณีที่ผลและใบลิ้นจี่เป็นโรคแล้วร่วงหล่นอยู่บนพื้นดินภายใต้ทรงพุ่ม ควรรีบเก็บแล้วนำไปเผาทำลาย ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้นาน เนื่องจากเชื้อราสามารถมีชีวิตและอาศัยอยู่ในดินข้ามฤดู เมื่อสภาพแวดล้อมเหมาะสมจะทำให้เกิดการติดเชื้อใหม่ในฤดูต่อไป
สาเหตุ เกิดจากเชื้อราหลายชนิด เช่น เชื้อราคอเลคโตตริคัม (Colletrichum gloeosporioides)
เชื้อราโบทรัยโอดิโพลเดีย (Botryodipia theobromae) เชื้อราโฟมา (Phoma sp.) เชื้อราโฟมอพซิส (Phomopsissp.) เป็นต้น
ลักษณะอาการ ผลลิ้นจี่สุกภายหลังเก็บเกี่ยวที่เก็บรักษาไว้ในสภาพควบคุมความชื้น จะแสดงอาการแผลเน่า สีน้ำตาลเข้มจนถึงสีน้ำตาลดำ ลักษณะแผลค่อนข้างกลมมีขนาดไม่แน่นอน เชื้อราสร้างเส้นใยและมวลสปอร์บนผิวเปลือกที่เป็นโรค ภายใต้สภาพอุณหภูมิห้องโรคผลเน่าจะพัฒนาอย่างรวดเร็วภายในเวลา 2-3 วัน การเก็บรักษาผลลิ้นจีในสภาพอุณหภูมิ 5-6๐C
อาการโรค ผลเน่าจะมีการพัฒนาการไปอย่างช้า ๆ และอาการรุนแรงน้อยกว่าการเก็บรักษา ในสภาพอุณหภูมิห้อง
การแพร่ระบาด เชื้อราแพร่ระบาดไปกับลมและพายุฝน เข้าทำลายผลลิ้นจี่แบบแฝงตั้งแต่ในแปลงปลูก แต่จะปรากฏอาการให้เห็นภายหลังการเก็บเกี่ยว
การป้องกันกำจัด พ่นป้องกันด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชแมนโคเซบ โปรคลอราซ คาร์เบนดาซิม ฯลฯ ชนิดใดชนิดหนึ่ง และหยุดพ่นก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิตอย่างน้อย 14 วัน
อ้างอิง arda.or.th/kasetinfo/north/plant/lychee_disease.html