<กลับหน้าค้นข้อมูล
แจ้งลิงค์ในเนื้อหาเสีย
โรคเหี่ยว หรือ แง่งเน่า ใน ขิง ข่า ขมิ้น
เตือนเกษตรกรผู้ปลูกพืชตระกูลขิง ข่า และขมิ้นในทุกภาคของประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการระบายน้ำไม่ดีเนื่องจากช่วงนี้มีฝนตกในหลายพื้นที่ สภาพอากาศชื้น เหมาะต่อการเกิดโรค โดยเฉพาะขิง ข่า ขมิ้นที่อยู่ในช่วงปลูกใหม่ ดังนั้น เกษตรกรควรหมั่นสำรวจแปลง หากพบอาการของโรคให้รีบแจ้งสำนักงานเกษตรอำเภอ สำนักงานเกษตรจังหวัดใกล้บ้านเพื่อดำเนินการหาแนวทางควบคุม และป้องกันกำจัดก่อนเกิดการระบาดรุนแรง
เชื้อสาเหตุ : เชื้อแบคทีเรีย Ralstonia solanacearum
ลักษณะอาการ
อาการในระยะเริ่มแรกหลังจากถูกเชื้อเข้าทำลาย ใบแก่ที่อยู่ตอนล่างๆ จะเหี่ยวตกลู่ลง ต่อมาจะม้วนเป็นหลอดและเหลือง อาการจะค่อยๆ ลามจากล่างสูงขึ้นไปยังส่วนบน ในที่สุดใบจะม้วนและเหลืองแห้งทั้งต้น บริเวณโคนต้นและหน่อที่แตกออกมาใหม่จะมีลักษณะช้ำฉ่ำน้ำ ซึ่งต่อมาจะเน่าเปื่อยหักหลุดออกมาจากแง่งโดยง่าย แต่จะไม่มีกลิ่นเหม็น เมื่อตรวจดูที่ลำต้นจะพบว่าส่วนที่เป็นท่อน้ำ ท่ออาหาร จะถูกทำลายเป็นสีคล้ำหรือน้ำตาลเข้ม และมีเมือกของแบคทีเรียเป็นของเหลวสีขาวข้นคล้ายน้ำนมซึมออกมาตรงรอยแผลหรือรอยตัดของต้นหรือแง่งขิงที่เป็นโรค สำหรับแง่งจากต้นที่เพิ่งแสดงอาการโรคในระยะแรก หากนำขึ้นมาผ่าออกดู จะพบรอยช้ำฉ่ำน้ำเป็นปื้นๆ โดยเฉพาะแง่งที่ยังอ่อน ต่อมาอาการจะทวีความรุนแรงทำให้เนื้อเยื่อเปื่อยยุ่ยและสีคล้ำขึ้น อาการเหล่านี้จะเป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในสภาพที่อากาศชื้นและร้อน ตั้งแต่เริ่มแสดงอาการจนทำให้ต้นหักพับตาย จะใช้เวลา ๕ - ๗ วัน เป็นอย่างช้า
การแพร่กระจาย
เชื้อสามารถติดไปกับแง่งขิง หรือหน่อที่ใช้ทำพันธุ์ เป็นเชื้อที่มีคุณสมบัติความสามารถในการขยายพันธุ์แพร่ระบาด การเข้าทำลายพืช การอยู่ข้ามฤดูปลูก ระบาดมากในช่วงฝนตกชุก
กรมส่งเสริมการเกษตร แนะนำวิธีการป้องกันกำจัด ดังนี้
๑. หมั่นตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ หากพบต้นที่เริ่มแสดงอาการของโรคเหี่ยว ให้ขุดต้นไปเผาทำลายนอกแปลงปลูกทันที และโรยปูนขาวบริเวณหลุมที่ขุด เพื่อป้องกันการระบาดของโรค
๒. ใช้เชื้อไตรโคเดอร์ม่า ๔๐ กรัม (๒ ช้อนแกง) ร่วมกับกากน้ำตาลหรือน้ำตาลทรายแดง ๑ กิโลกรัม น้ำเปล่า ๑๕ ลิตร หมักทิ้งไว้ ๖ ชั่วโมง ก่อนผสมน้ำเปล่าหรือน้ำที่ละลายพูมิชซัลเฟอร์ (พูมิชซัลเฟอร์ ๒๐ กิโลกรัมต่อน้ำ ๒๐๐ ลิตร ปล่อยให้ตกตะกอนนานประมาณ ๑๕ นาทีหรือน้ำใส) ๒๐๐ ลิตร ร่วมกับไคโตซาน MT ๕๐ ซีซี. ซิลิโคเทรช ๑๐๐ กรัม และม้อยเจอร์แพล้นหรือสารจับใบ ๒๐ ซีซี. ก่อนนำไปพ่นให้ทั่วทั้งบนใบใต้ใบอย่างชุ่มโชกเหมือนอาบน้ำทุกๆ ๑๐ - ๑๕ วัน
๓. ในแปลงที่มีการระบาดของโรค หลังเก็บเกี่ยวผลผลิต นําส่วนต่างๆ ของพืชที่เป็นโรคไปเผาทําลาย
ในฤดูถัดไป
๔ ควรเลือกพื้นที่ปลูกที่ไม่เคยมีการระบาดของโรคนี้มาก่อน และมีการระบายน้ำที่ดี
๕ ไถพรวนดินให้ลึกเกินกว่า ๒๐ เซนติเมตร จากผิวดิน และตากดินไว้นานกว่า ๒ สัปดาห์ จะช่วยลดปริมาณเชื้อในดินลงได้มาก
๖. พื้นที่ที่เคยมีการระบาดของโรค ควรรมดินเพื่อฆ่าเชื้อโรค โดยโรยยูเรียผสมปูนขาว อัตรา
๘๐ : ๘๐๐ กิโลกรัมต่อไร่ จากนั้นไถกลบและรดน้ำให้ดินมีความชื้น ทิ้งไว ๓ สัปดาห์ จึงเริ่มปลูกขมิ้น
๗. ใช้หัวพันธุจากแปลงที่ปลอดโรค
๘. ในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค ไม่ควรปลูกพืชอาศัยของเชื้อ เช่น พืชตระกูลขิง พืชตระกูลมะเขือมันฝรั่ง พริกและถั่วลิสง ให้สลับปลูกพืชชนิดอื่นที่ไมใช่พืชอาศัย เช่น ข้าว ข้าวโพด และมันสำปะหลัง เพื่อตัดวงจรของโรค
ที่มา : สำนักพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร
กรมวิชาการเกษตร
เรียบเรียงโดย : กลุ่มพยากรณ์และเตือนการระบาดศัตรูพืช กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย
อ้างอิง
http://www.farmkaset..link..