<กลับหน้าค้นข้อมูล
แจ้งลิงค์ในเนื้อหาเสีย
โรคพืชในระบบนิเวศป่าไม้
โรคพืช (plant disease) เป็นความสัมพันธ์ระหว่างพืชอาศัยกับเชื้อสาเหตุโรค หรือระหว่างพืชกับปัจจัยอื่นๆ ที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรค มีผลให้พืชเกิดอาการผิดปกติหรือมีสภาพที่เปลี่ยนไปจากเดิม การเกิดโรคพืชมีองค์ประกอบ (Disease triangle) ดังนี้คือ
1. พืชอาศัย (Host)
2. เชื้อสาเหตุ (Pathogen)
3. สภาพแวดล้อม (Environment) ที่เหมาะสมต่อการเกิดโรค เช่น อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเกิดโรค
4. เวลา (Time) เช่น ระยะเวลาที่เหมาะสมต่อการเข้าทำลายของเชื้อสาเหตุโรค การแพร่กระจายของสปอร์ การงอกของสปอร์ หรือช่วงเวลาของติดเชื้อ เป็นต้น
โรคพืชนั้นอาจเป็นทั้งโรคที่ติดเชื้อ (Infectious disease) ซึ่งหมายถึง โรคที่เกิดจากเชื้อที่มีชีวิตเป็นเชื้อก่อโรค พืชจะมีปฏิกิริยาตอบโต้การติดเชื้อและสามารถแพร่ระบาดไปยังต้นอื่นๆได้ หากอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม และโรคที่ไม่ใช่โรคติดเชื้อ (Non infectious disease) ซึ่งหมายถึง โรคที่เกิดจากสาเหตุที่นอกเหนือจากโรคติดเชื้อ โดยจะไม่เกิดระบาดจากต้นที่เป็นมีอาการของโรคไปยังพืชปกติได้
ตัวอย่างลักษณะอาการและโรคพืชที่เกิดจากสาเหตุต่างๆ
1. โรคที่เกิดจากเชื้อรา ได้แก่ โรคราสนิม โรคราเขม่าดำ โรคใบไหม้มันฝรั่ง โรคราน้ำค้างองุ่น โรคใบจุดสีน้ำตาลข้าว
2. โรคที่เกิดจากไวรัส ได้แก่ โรคใบด่างอ้อย
3. โรคที่เกิดจากแบคทีเรีย ได้แก่ โรคแคงเกอร์ของพืชตระกูลส้ม โรคเหี่ยวของพืชตระกูลผักกาด
4. โรคที่เกิดจากไส้เดือนฝอย ได้แก่ โรครากปม โรคเหี่ยว เป็นต้น
5. อาการที่เกิดจากการขาดธาตุอาหารต่างๆ
สำหรับโรคพืชในระบบนิเวศป่าไม้ มีความหลากหลายของเชื้อสาเหตุโรคพืชเช่นเดียวกับโรคของพืชเกษตร มีความซับซ้อนของลักษณะอาการแปรเปลี่ยนไปตามสภาพของแต่ละระบบนิเวศ เช่น โรคของพืชในระบบนิเวศป่าปลูก ระบบนิเวศป่าเต็งรัง ป่าดิบ หรือป่าเบญจพรรณ เป็นต้น แต่ละสภาพแวดล้อมจะมีปรากฏการณ์ของโรคพืชแตกต่างกัน เชื้อสาเหตุโรคมีความสำคัญต่อความสมดุลในระบบนิเวศ ความรุนแรงของเชื้อโรคที่มีต่อพืชป่าชนิดต่างๆ ทำให้เกิดศักยภาพของเชื้อราที่อาจมีบทบาทสำคัญต่อพืชเศรษฐกิจ ทั้งในด้านที่เป็นโทษและเป็นประโยชน์ สามารถนำไปใช้เปรียบเทียบแหล่งที่มาของศัตรูพืชทางการเกษตรและข้อมูลจากการศึกษาวิจัยยังมีความสำคัญต่อการสร้าง ฐานข้อมูลเชื้อสาเหตุโรคของพืชในประเทศไทย
อาการของโรคพืชป่าไม้ ที่สำคัญได้แก่ โรคใบจุด (leaf spot) ใบไหม้ (leaf blotch/ leaf blight) ราสนิม (rust) ราแป้ง (powdery mildew) ราดำ(black mildew) ราน้ำค้าง(downy mildew) จุดนูนดำ (tar spot) อาการเหี่ยว (wilt) เป็นต้น โรคที่พบส่วนใหญ่มักเป็นโรคที่เกิดทางใบ มีผลกระทบต่อการสังเคราะห์ด้วยแสงของพืช เกิดการเสื่อมโทรมทางลำต้น บางครั้งพบว่าพืชป่าบางชนิดเป็นพืชอาศัยรองของเชื้อสาเหตุโรคของพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นๆ อีกหลายชนิด (Alternate host) และเป็นแหล่งกำเนิดของเชื้อโรคในเมล็ดและกล้าไม้ที่มีการนำมาปลูก ในโรงเรือนเพาะชำของศูนย์เพาะชำกล้าไม้ป่าอีกด้วย ประเภทของพืชที่พบอาการโรค สามารถพบได้ในพืชทุกชนิด ตั้งแต่พืชล้มลุก ไม้พุ่ม ไม้ยืนต้น ไม้เถาหรือไม้เลื้อย
เอกสารอ้างอิง
http://www.farmkaset..link..รคพืชวิทยา_(Plant_pathology)
ประสาทพร สมิตะมาน ชาตรี สิทธิกุล นุชนารถ จงเลขา นิตยา สุวรรณรัตน์ ภมรทิพย์ อักษรทอง และสมบัติ ศรีชูวงศ์. ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์. โรคพืชวิทยา (Plant Pathology). ภาควิชาโรคพืช คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
โดย จันจิรา อายะวงศ์
[email protected]http://www.farmkaset..link..