data-ad-format="autorelaxed">
วัดถ้ำเชียงดาว สร้างเมื่อ พ.ศ. 2310 มีชื่อเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า วัดถ้ำหลวงเชียงดาว การก่อสร้างเริ่มครั้งแรกโดยพระครูบาประธรรมปัญญา และพ่อแสนปี ต่อมา พ.ศ. 2430 พระยาอินต๊ะภิบาล มาทำบันไดขึ้นสู่ปากถ้ำ พร้อมเสนาสนะและศิลปวัตถุอื่นๆ ใน พ.ศ. 2456 มีฤาษีชื่อคันธะมาสร้างพระพุทธรูป จนถึง พ.ศ. 2477 ครูบาศรีวิชัย มาสร้างและบูรณะ นอกจากนั้นในสมัยหลังได้มีการสร้างและบูรณะเสนาสนะเพิ่มเติมจนถึงปัจจุบัน ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2514
ถ้ำเชียงดาว เดิมทีในสมัยโบราณเป็นสถานที่ปลีกวิเวกและปฏิบัติธรรมของพระธุดงค์และฤาษี จนมีคนเข้ามาค้นพบเมื่อปี พ.ศ. 2178 แต่ผู้ที่บทบาทสำคัญในการพัฒนาถ้ำเชียงดาวคือ ฤาษีอุคันธะ ซึ่งท่านเป็นชาวไทใหญ่เดินทางมาจาริกแสวงบุุญจนถึงบริเวณนี้ และได้นำชาวบ้านผู้ศรัทธาในพุทธศาสนาสร้างเจดีย์ 25 ยอดขึ้นในปี พ.ศ. 2456 และสร้างพระพุทธรูปศิลปะพม่าเป็นจำนวนมากภายในถ้ำเชียงดาว รวมถึงการสร้างองค์หลวงพ่อทันใจซึ่งเป็นพระพุทธรูปซึ่งชาวบ้านในอำเภอเชียงดาวเคารพนับถือกันมากที่สุดองค์หนึ่ง
มีนิยายปรัมปราเกี่ยวกับ "ถ้ำเชียงดาว" ที่เล่าสืบต่อกันมาว่า ครั้งอดีตสมัยเมืองพะเยารุ่งเรืองอำนาจ เจ้าผู้ครองนครพระนามว่า "เจ้าหลวงคำแดง" พระองค์โปรดการเสด็จประพาสป่าล่าสัตว์ ครั้งหนึ่งได้เสด็จไล่ตามจับกวางงามตัวหนึ่ง พระองค์พยายามควบม้าไล่ตามอย่างกระชั้นชิดแต่ก็หาทันไม่ กวางได้วิ่งหนีไปจนถึงเชิงดอยอ่างสะลุงและหลบหนีเข้าไปซ่อนตัวในถ้ำเชิงเขา เจ้าหลวงพยายามจะตามจับให้ได้ ลงจากหลังม้าแล้วทรงวิ่งตามกวางเข้าไปในถ้ำ ส่วนไพรพลสุดที่จะทัดทานได้และวิ่งตามไม่ทัน เจ้าหลวงคำแดงเข้าไปเที่ยวหากวางในถ้ำแต่ไม่พบ พบแต่สาวงามผู้หนึ่งได้สนทนากันจนเป็นที่พอพระทัย ได้ทรงทราบความจากสาวงามชื่อ "อินทร์เหลา" ว่านางถูกสาปให้มาอยู่ในถ้ำนี้ ถ้าออกนอกถ้ำจะกลายร่างเป็นกวางทันที เจ้าหลวงได้ทรงทราบมีความสงสารและเกิดความเสน่ห์าได้อยู่กินกับนางกวางในถ้ำ นั้นตลอดมา โดยไม่ยอมกลับไปบ้านเมือง แม้พวกข้าราชบริพารจะมาเชิญให้กลับก็ไม่ยอม พระองค์จะพานางไปอยู่ในเมืองก็ไม่ได้ เพราะนางจะกลายร่างเป็นกวาง ฉะนั้นพระองค์จึงตัดสินพระทัยอยู่กินกับนางจนตลอดชีวิต ชาวบ้านยังคงมีเชื่อว่าวิญญาณของเจ้าหลวงคำแดงกับนางอินทร์เหลายังคงสิงสถิตอยู่ในถ้ำเชียงดาวมาจนทุกวันนี้
ปัจจุบันถ้ำเชียงดาวได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงาม นักท่องเที่ยวนิยมเดินทางมาเที่ยวที่ถ้ำเชียงดาวเพื่อชมความสวยงามของหินงอกหินย้อย
ข้อมูลทั่วไป
วัดถ้ำเชียงดาว ตั้งอยู่ที่บ้านถ้ำ ถนนเชียงใหม่-ฝาง ตำบลเชียงดาว อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ มีเนื้อที่ประมาณ 90 ไร่ ภายในบริเวณวัดมีโบราณสถานโบราณวัตถุต่างๆ สิ่งก่อสร้างภายในวัดได้แก่ อุโบสถ วิหาร กุฏิสงฆ์ ศาลา ศาลเจ้าหลวงคำแดง (ศาลเทพารักษ์) นอกจากนี้ยังมีถ้ำที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่ง เรียกว่า ถ้ำเชียงดาว
ถ้ำเชียงดาว ตั้งอยู่บริเวณไหล่เขาดอยหลวง หรือดอยอ่างสลุง เป็นถ้ำที่ใหญ่และลึกมากแห่งหนึ่งในประเทศไทย ทางเข้าถ้ำจะมีศาลาและบันไดมุงด้วยหลังคาศิลปะแบบพม่าซ้อนกันเป็นชั้นตามลำดับ บริเวณหน้าถ้ำยังมีธารน้ำใสไหลผ่าน มีปลาหลายชนิด นักท่องเที่ยวสามารถให้อาหารปลาได้ และหากต้องการชมบริเวณถ้ำ สามารถติดต่อคนนำทางได้ที่บริเวณหน้าถ้ำ
เมื่อผ่านบันไดทางเข้าไปจะมีถ้ำเล็กถ้ำน้อยแยกออกไปหลายเส้นทางมีชื่อต่างๆ ได้แก่ ถ้ำม้า (735 เมตร), ถ้ำแก้ว (474 เมตร), ถ้ำน้ำ (660 เมตร), ถ้ำพระนอน (360 เมตร) และถ้ำเสือดาว (540 เมตร) แต่ละถ้ำเต็มไปด้วยหินงอกหินย้อยสวยงามรูปต่างๆ ตามแต่จะจินตนาการ ภายในถ้ำยังมีพระพุทธประดิษฐานไว้เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้กราบไหว้
การเข้าชมจะต้องเสียค่าบำรุงสถานที่คนละ 10 บาท เฉพาะเส้นทางถ้ำพระนอนจะมีไฟฟ้าส่องสว่าง ส่วนถ้ำอื่นๆ ถ้าไม่มีไกด์นำเที่ยวทางวัดจะไม่อนุญาตให้เข้าไป เนื่องจากว่าเส้นทางบางช่วงต้องรอดผ่านช่องแคบเข้าไป บางช่วงลื่น และต้องระวังศีรษะ หากไม่มีผู้ชำนาญทางอาจเป็นอันตรายได้ โดยไกด์จะเป็นคนในพื้นที่หมุนเวียนกันมานำทางพาเที่ยวชมถ้ำ ไกด์หนึ่งคนจะดูแลนักท่องเที่ยวกลุ่มเล็กๆ ประมาณ 5-6 คน (เพื่อให้ไฟจากตะเกียงส่องสว่างได้อย่างทั่วถึง) ผู้เข้าชมถ้ำจะจ่ายค่าน้ำมันตะเกียงสำหรับใช้นำทาง 100 บาท และให้ค่าทิปแก่ไกด์เป็นสินน้ำใจ
บริเวณแรกเมื่อเข้าไปจะพบกับพระพุทธรูปศิลปะพม่า บันไดนาค สิงห์และคนหามระฆัง เส้นทางแรกจะเป็นถ้ำม้า ระยะทาง 735 เมตร เมื่อเข้าไปแล้วจะไม่ได้เดินกลับทางเดิม (แต่เดิมใช้เส้นทางเดิม เมื่อมีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ทำให้เดินสวนทางกันลำบาก ทางวัดจึงได้สร้างทางออกใหม่ในภายหลัง)
ระหว่างทางผ่านอาศรมเจ้าพ่อปู่เทพฤาษี เป็นที่เคารพสักการะของชาวบ้าน ไกด์นำทางเล่าว่า การบนบานให้ใช้ผลไม้ 7 อย่าง ถ้าบนด้วยอย่างอื่นอาจจะไม่สัมฤทธิ์ผล
จุดสิ้นสุดของเส้นทางนี้เป็นเหวลึก ขากลับเดินย้อนกลับมาทางเดิมเล็กน้อยแล้วจะมีบันไดให้เดินลงแยกไปอีกเส้นทาง เพื่อไปยังถ้ำแก้ว
ถ้ำน้ำเป็นถ้ำที่อยู่ลึกเข้าไปจากถ้ำพระนอนประมาณ 40 เมตร หากเป็นหน้าฝนน้ำจะมีมากจนถึงผนังถ้ำไม่สามารถเที่ยวชมได้
ส่วนเส้นทางถ้ำพระนอนจะได้พบกับหินงอกหินย้อยรูปเต่าล้านปี ฮิปโปโปเตมัส ยักษ์อกแตก ใบหูช้าง หินกลีบบัว และ พระพุทธรูปนอนหงาย ซึ่งสร้างเมือ่ปี พ.ศ. 2400 ชื่อว่า พระมหากัสส์ปะ ปางไสยาสน์ โดยชาวพม่า หม่องเผ่า
จุดเด่นหรือสิ่งที่น่าสนใจ
ตลอดเส้นทางภายในถ้ำต่างๆ จะได้พบกับหินงอกหินย้อยรูปร่างต่างๆ สร้างความเพลิดเพลิน เช่น ดอกบัวตูม บัวพันชั้น ช้างสามเศียร ไก่ฟ้า เต่าล้านปี ฮิปโปโปเตมัส และบางจุดหินจะมีประกายระยิบระยับ บางจุดเป็นลานกว้าง เรียก สนามกีฬาเทวดา ตามพื้นทางเดินจะพบหินงอกที่มีลักษณะเหมือนไข่ดาว และไข่ต้ม
เหมาะสำหรับ
เด็ก, เยาวชน, ผู้ใหญ่, ครอบครัว, ผู้ชาย, ผู้หญิง, เที่ยวคนเดียว, เที่ยวเป็นกลุ่ม, เที่ยวผจญภัย, เที่ยวเป็นคู่
กิจกรรมสำหรับนักท่องเที่ยว
เดินชมหินงอกหินย้อยที่งดงามตระการตาภายในถ้ำเชียงดาว (ถ้ำเชียงดาวนี้ เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ให้สำรวมระวัง และอย่าได้นำของภายในถ้ำติดตัวออกมา)
ไหว้พระและทำบุญตามจิตศรัทธา
ให้อาหารปลา
ของฝาก/ของที่ระลึก
ที่ด้านนอกวัดมีร้านค้าจำหน่ายพืชสมุนไพรต่างๆ
ค่าธรรมเนียม/ค่าเข้าชม
ค่าบำรุงสถานที่ (ไฟฟ้า) คนละ 10 บาท
ค่าน้ำมันตะเกียงเจ้าพายุ กลุ่มละ 100 บาท
ค่าทิปไกด์นำเที่ยวถ้ำ
อ้างอิง : www.teeteawthai.com