“เกาะหมาก” อ.ปากพะยูน จ.พัทลุง ซึ่งตั้งอยู่ในทะเลสาบสงขลาตอนกลางเป็นเสมือนจุดนัดพบกันระหว่างน้ำเค็มกับน้ำจืด การหมุนเวียนของกระแสน้ำได้ก่อให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพทำให้เกาะหมากอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติทั้งพันธุ์พืชและสัตว์โดยเฉพาะสาหร่ายน้ำจืดในพื้นที่ชุ่มน้ำแห่งนี้กลายเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำที่สำคัญ
คิมหันต์ สุวรรณเรืองศรี ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่พื้นเพเป็นชาวเกาะหมากดั้งเดิม ที่มีการศึกษาด้านการท่องเที่ยวสายตรง ประกอบกับได้รับการเรียนรู้และซึบซับวิถีชีวิตของชุมชนมาตั้งแต่เด็ก ปัจจุบันได้กลับมาเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการนำเที่ยวรอบทะเลสาบสงขลาตอนกลาง บอกว่าปัจจุบันกระแสการท่องเที่ยวในเชิงอนุรักษ์ได้นำพาผู้คนจากทั่วสารทิศให้เดินทางเข้ามาที่นี่ จากเดิมที่มีเพียงล่องเรือชมความสวยงามตามเกาะแก่งต่างๆ กลางลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา-พัทลุง แต่หลังจากเส้นทางรถยนต์มีความสะดวกสบายเพิ่มมากขึ้นทำให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาสัมผัสวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของชาวบ้านอย่างใกล้ชิด
ที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากคือ การทำประมงที่ยังคงใช้อุปกรณ์หรือเครื่องมือจับปลาแบบพื้นบ้านดั้งเดิมที่ใช้กันมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ เช่น เบ็ด ไซ ยอ ลอบ กัดหรือตาข่ายดักปลา เป็นต้น ซึ่งปลาและสัตว์น้ำที่จับได้ จะเป็นปลาเฉพาะถิ่นลุ่มน้ำทะเลสาบเช่น ปลามิหลัง ปลาลิ้นหมา ปลาแขยง ปลาโทง ปลาจิ้มฟันจระเข้ ปลาแมว เป็นต้น
ซึ่งสัตว์น้ำที่จับได้เหล่านี้นอกจากจะเป็นอาหารเลี้ยงชีพแล้ว ยังเป็นรายได้หลักที่สำคัญนอกเหนือจากการทำสวนและปลูกพืชผักสวนครัว แม้ชาวประมงพื้นบ้านที่นี่จะจับปลาและสัตว์น้ำอื่นๆ ได้ครั้งละไม่มากนักต่อวันเนื่องจากข้อจำกัดของเครื่องมือการทำประมง แต่เพราะความสดและไม่มีสารพิษเจือปน จึงเป็นที่ต้องการของตลาดเป็นอย่างมาก
โดยเฉพาะกุ้งก้ามกรามหรือกุ้งก้ามกรามสามน้ำ ที่ชาวประมงพื้นบ้านดักด้วยไซโดยใช้เนื้อมะพร้าวเป็นเหยื่อล่อ กุ้งเป็นๆ ตัวโตๆ สามารถขายได้ราคาดีตั้งแต่กิโลกรัมละ 600-1,300 บาท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดและความสด นับเป็นอาหารทะเลคุณภาพขึ้นชื่อของที่นี่ ซึ่งใครๆ ก็อยากจะมาลิ้มรสชาติความอร่อย
ปัจจุบัน เกาะหมาก นอกจากจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมแล้ว ยังเป็นแหล่งส่งออกอาหารจากทะเลสาบน้ำจืดทั้งสดและแปรรูปที่สำคัญ ไปยังหัวเมืองใหญ่เช่น หาดใหญ่ สงขลา เป็นต้น และด้วยวิถีชีวิตที่มีความเป็นอยู่อย่างเรียบง่ายตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แม้ความอุดมสมบูรณ์และชุกชุมของสัตว์น้ำจะลดลงไปบ้าง เมื่อเทียบกับเมื่อก่อนนี้ แต่จากการจัดการทรัพยากรชุมชน โดยที่ไม่ตักตวงผลประโยชน์จนเกินงาม ทำให้ที่นี่ยังคงเป็นอู่ข้าวอู่น้ำให้พวกเขาได้ทำกินไปชั่วลูกชั่วหลาน
และนี่คือเสน่ห์ที่สามารถสัมผัสได้ จากชุมชนที่ล้อมรอบด้วยน้ำแห่งนี้ “เกาะหมาก” พัทลุง
source: komchadluek.net/news/lifestyle/294803