data-ad-format="autorelaxed">
ปัจจุบันในภาคเกษตรกรรมของประเทศไทยเรา ได้มีการนำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาประยุกต์ใช้ในงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ ระบบการผลิต ระบบการตลาด ระบบการส่งเสริมการเกษตร รวมจนถึงเรื่องของระบบการวิจัยและพัฒนา ซึ่ งการนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้ในงานดังกล่าวยังมียังขอบเขตการใช้อยู่ในวงที่ค่อนข้างจำกัด กล่าวคือเป็นการใช้งานเพียงแค่ในหน่วยงานที่อยู่ในส่วนกลาง หรือเฉพาะหน่วยงานของการบริหารของภาครัฐเท่านั้น ส่วนภาคเอกชนก็มีการใช้กันเฉพาะในบริษัทเคมีเกษตร และที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรชั้นนำเท่านั้น
จากการนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้ในงานด้านการเกษตรทั้งภาครัฐและเอกชน ส่งผลให้ระบบเกษตรกรรมในภาพรวมได้มีการเปลี่ยนแปลงไป จากระบบดั้งเดิมที่เคยใช้กันอยู่โดยใช้คนเป็นกลไกหลักหลัก ได้มีการปรับเปลี่ยนมาเป็นการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในด้านคอมพิวเตอร์ เครือข่ายคอมพิวเตอร์ ระบบการสื่อสาร เข้ามาเป็นเครื่องมือสำคัญในการดำเนินงาน ส่งผลให้บทบาทของเจ้าหน้าที่ในการดำเนินด้านการเกษตรมีบทบาทลดลง แต่ในทางตรงกันข้ามเทคโนโลยีสารสนเทศกลับมีบทบาทเพิ่มขึ้น นอกจากจะอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงานแล้ว ยังทำให้เรื่องของข้อมูลข่าวสารและสารสนเทศในรูปแบบต่างๆ มีบทบาทต่องานด้านการเกษตรเพิ่มทวีคูณมากยิ่งขึ้น
ในส่วนของหน่วยงานการเกษตรในภาครัฐและเอกชน ได้มีการปรับตัวขององค์กรและบุคลากรที่ปฏิบัติงานให้มีความพร้อมและศักยภาพให้สามารถปฏิบัติงานโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการเตรียมการพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรให้มีความรู้และทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศหรือที่เรียกกันว่า IT Literacy และความยืดหยุ่นในการปรับตัวในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการปฏิบัติงาน รวมถึงเรื่องของการจัดหาเตรียมพร้อมด้านเครื่องมือและอุปกรณ์ในการปฏิบัติงาน ซึ่งจนถึงทุกวันนี้ทางภาครัฐเองก็ได้มีนโยบายเรื่องของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศไทยที่ชัดเจน ยังส่งผลให้หน่วยงานต่างๆมีความตื่นตัวและใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพิ่มมากขึ้น จนกลายเป็นองค์ประกอบหนึ่งของการปฏิบัติงานไปโดยปริยาย
แต่ในภาคการเกษตรบุคคลที่มีความสำคัญมากและมีบทบาทมากที่สุดก็คือตัวเกษตรกร เนื่องจากเป็นกำลังหลักในการสร้างผลิตผลทางการเกษตรเพื่อนำเข้าสู่ตลาดการบริโภคและอุปโภค และแน่นอนที่สุดการเปลี่ยนแปลงระบบการเกษตรจากระบบดั้งเดิมไปสู่ยุคเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งอาจเรียกได้ว่ายุคข้อมูลข่าวสารการเกษตรย่อมเกิดผลกระทบโดยตรงต่อตัวเกษตรกรเช่นกัน เมื่อระบบเกษตรหลักได้มีการเปลี่ยนไป ระบบย่อยต่างๆ ก็จำเป็นต้องมีการปรับตัวตามไปด้วย ถ้ามองในเชิงโครงสร้างในส่วนของตัวกระทรวง ทบวง กรม ที่รับผิดชอบงานด้านการเกษตรได้มีการปรับตัวไปแล้วในทั้งระบบ ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรก็ได้มีการปรับตัวไปแล้วเช่นกัน แต่ตัวเกษตรกรซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มเป้าหมายที่สำคัญที่สุด มีจำนวนมากที่สุด ยังมิได้มีการปรับตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของระบบที่เปลี่ยนไป จึงเป็นสิ่งที่ต้องคิดกันต่อไปว่าระบบเกษตรกรรมในยุคข่าวสารที่เกิดขึ้นจะประสบความสำเร็จได้หรือไม่อย่างไร ในเมื่อตัวเกษตรยังขาดความพร้อม ความรู้ และทักษะในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ จุดนี้จึงเป็นประเด็นที่ควรตระหนักและคิดกันอย่างรอบคอบ
การเตรียมความพร้อม การให้ความรู้และทักษะในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศแก่เกษตรกรไทย จึงเป็นเรื่องสำคัญอันหนึ่งที่ต้องพูดถึงกัน ตั้งคำถามง่ายๆว่า ณ ขณะนี้เกษตรกรไทยโดยภาพรวมมีความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับเรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศขนาดไหน มีทัศนคติเป็นอย่างไร ยอมรับหรือต่อต้านเรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างไร ถ้านำมาใช้งานและการให้ข้อมูล จะได้รับความเชื่อถือหรือไม่ คำถามที่กล่าวถึงคงจะทำให้ฉุกคิดได้ว่าการนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้แต่เพียงฝ่ายเดียว โดยที่ตัวผู้รับยังไม่พร้อมคงจะเป็นการทำงานที่คาดหวังประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นได้ยาก ดังนั้นระบบการเกษตรในยุคเทคโนโลยีสารสนเทศจึงควรให้ความสำคัญกับเรื่องการเตรียมความพร้อมหรือสร้างเกษตรกรให้เป็น e-Farmer ไปด้วยพร้อมๆกัน จึงเป็นเรื่องที่ควรกระทำเป็นอย่างยิ่ง
การสร้างความรู้ ความสามารถ และทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศให้แก่เกษตรกรนั้น อาจจะต้องมองในมุมตรงกันข้ามกับการพัฒนาเจ้าหน้าที่หรือบุคลากรในภาครัฐซึ่งเป็นส่วนของผู้ให้บริการ การพัฒนาตัวของเกษตรกรจะมุ่งไปที่เรื่องของการปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีสารสนเทศ การยอมรับเทคโนโลยีสารสนเทศในการให้ข้อมูลข่าวสาร ความเชื่อในข้อมูลข่าวสารผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นหลัก คือมุ่งทำให้เกษตรกรเห็นว่าเทคโนโลยีสารสนเทศไม่ใช่เรื่องไกลตัว ไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัว ไม่ใช่เป็นเทคโนโลยีขั้นสูง(Hi-Technology) ไม่ใช่สิ่งของที่มีราคาแพง ไม่ใช่สิ่งที่มีความลึกลับซับซ้อนอะไร ตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญประการแรกที่ควรต้องทำให้บังเกิดผล
จากสถานการณ์จริงในปัจจุบันเทคโนโลยีสารสนเทศ ก้าวเข้าไปใกล้ตัวเกษตรกรเรียกได้ว่าเข้าถึงตัวเกษตรกรอย่างแท้จริง เห็นง่ายๆได้จากการจัดตั้งศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีประจำตำบล ซึ่งมีอยู่แทบทุกตำบลของประเทศไทยและเป็นหน่วยงานที่ใกล้ชิดกับตัวเกษตรกรมากที่สุด ส่วนหนึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่นำเรื่องของเทคโนโลยีสารสนเทศเข้าไปสู่ตัวเกษตรกรโดยตรง เพราะมีการเชื่อมโยงข้อมูลและฐานข้อมูลรวมถึงระบบสารสนเทศต่างๆของหน่วยงานในส่วนกลางและหน่วยงานอื่นๆทางการเกษตรทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้าด้วยกัน นอกจากนี้ทางภาครัฐได้สนับสนุนให้มีโครงการอินเตอร์เน็ตตำบลเกิดขึ้น ตรงนี้จึงเป็นส่วนเสริมสำคัญที่ผลักดันให้การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการเกษตรมีความเด่นชัดมากยิ่งขึ้น
จากขั้นตอนของการสร้างการยอมรับเทคโนโลยีสารสนเทศให้กับเกษตรกรแล้วก็คงจะเป็นหน้าที่ของหน่วยงานเกษตรของภาครัฐทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคที่จะต้องทำหน้าที่นำเรื่องของข้อมูลข่าวสารผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศไปสู่ตัวเกษตรกร และในอีกทางหนึ่งก็คือการดึงตัวเกษตรกรให้เข้าใกล้เรื่องของ เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเข้าสู่ตัวข้อมูลข่าวสารที่มีอยู่ ซึ่งในขั้นตอนถือว่าเป็นขั้นตอนที่ค่อนข้างลำบาก พอสมควร เนื่องจากเป็นเรื่องของกระบวนการใช้งานโดยตรง การจะทำให้ตัวเกษตรกรเข้าไปใช้งานด้วยตัวเองคงเป็นเรื่องยาก อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่และบุคลากรเกษตรของภาครัฐก็ยังคงต้องเป็นผู้ให้คำแนะนำและเป็นที่ปรึกษาควบคู่ไปด้วยในระยะแรกๆ นอกเหนือจากนี้ในส่วนของเกษตรกรก้าวหน้า หรือเกษตรกรยุคใหม่ที่มีความรู้ความสามารถร่วมสมัยก็สามารถเข้าสู่ระบบนี้ได้ทันทีโดยไม่มีข้อจำกัดดังที่กล่าวมาและในอีกทางหนึ่งก็ยังสามารถเป็นพี่เลี้ยงให้กับเกษตรกรที่ยังขาดความรู้และทักษะในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศได้อีกทางหนึ่ง
ภาพของ e-Farmer หรือเกษตรในยุคเทคโนโลยีสารสนเทศที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทยคงไม่ใช่เกิดขึ้นจากนโยบายหรือการคิดของภาครัฐแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่คงจะต้องมีการดำเนินการที่เป็นรูปธรรม มีขั้นตอนและกระบวนการที่ชัดเจนจึงจะส่งผลให้ระบบเกษตรในยุคเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาตัวเกษตรไทยทั้งระบบให้เกิดการรับรู้ ยอมรับ และมีฐานความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศให้อยู่ในระดับหนึ่งจนได้เรียกได้ว่าe-Farmer จึงคงเป็นสิ่งที่จะมองข้ามไปไม่ได้เพราะเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้ระบบเกษตรในยุคเทคโนโลยีสารสนเทศประสบความสำเร็จได้อย่างแท้จริง
source: ku.ac.th/e-magazine/december46/agri/efarmer.html