data-ad-format="autorelaxed">
แปรรูปยางพารา
นายอนุชิต วิเชียรชม หัวหน้าสาขาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช ไสใหญ่ กล่าวถึงแนวคิดการผลิตสื่อการสอนจากยางพารา ว่าจากการบริการวิชาการให้กับนักเรียนในระดับประถมศึกษาจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย พบว่าหลายๆ โรงเรียน โดยเฉพาะโรงเรียนในชนบทขนาดเล็ก ยังขาดสื่อการสอนในการเรียนรู้เช่น สื่อการสอนทางด้านวิทยาศาสตร์ที่มีราคาต่อชุดค่อนข้างแพง ทำให้โรงเรียนไม่สามารถจัดหาอุปกรณ์เหล่านั้นมาให้ครูผู้สอนและนักเรียนได้
คุณสมบัติของยางพาราเป็นวัสดุที่มีความยืดหยุ่นสูง เหนียว ทนทาน อีกทั้งกระบวนการผลิตยังสามารถทำได้ง่าย ไม่ซับซ้อน และมีต้นทุนต่ำ เป็นการส่งเสริมให้เยาวชนได้เห็นคุณค่าของยางพาราในการพัฒนาไปสู่การใช้งานได้ต่อไป ดังนั้นทางสาขาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์จึงมีความสนใจและได้พัฒนาสื่อการสอนจากยางพาราขึ้นมาเพื่อมอบให้กับโรงเรียนต่างๆ ได้นำไปใช้ในการเรียนการสอน ภายใต้แนวคิด “สื่อการเรียนการสอน จากทรัพยากรท้องถิ่น”
นายอนุชิต กล่าวว่า กระบวนการหล่อแบบจากน้ำยางพารา ใช้แม่พิมพ์ปูนพลาสเตอร์เป็นแบบในการขึ้นรูป โดยน้ำยางพาราที่ใช้เป็นน้ำยางข้นที่มีปริมาณเนื้อยางแห้งทั้งหมดร้อยละ 60 โดยการปั้นต้นแบบเช่น เซลล์พืชจากดินน้ำมันให้มีรูปร่างตามต้องการและใช้ปูนพลาสเตอร์ผสมน้ำ จากนั้นเททับแบบดินน้ำมันที่ปั้นไว้ รอให้ปูนแข็งใช้เวลาประมาณ 20 นาทีแกะดินน้ำมันออกจากแบบพิมพ์ปูนพลาสเตอร์ และวางทิ้งไว้ให้แบบพิมพ์แห้งสนิทประมาณ 2 ชั่วโมงนำน้ำยางพรีวัลคาไนซ์ (น้ำยางพาราที่ผสมสารเคมีแล้ว) เทลงในแบบพิมพ์ปูนพลาสเตอร์แล้วนำไปอบในตู้อบลมร้อนที่อุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 4 ชั่วโมง จากนั้นแกะชิ้นงานออกจากแบบพิมพ์แล้วนำไปล้างทำความสะอาดอบให้แห้งอีกครั้งที่อุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 20 นาทีนำชิ้นงานมาระบายสีให้มีความสวยงาม นำไปประกอบบนแผ่นไม้อัด พร้อมกับติดคำอธิบายองค์ประกอบของเซลล์ ซึ่งพร้อมสำหรับการนำไปใช้ในการเรียนการสอน
ปัจจุบันสาขาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ได้ทำโมเดลเซลล์พืชและเซลล์สัตว์จากน้ำยางพารา และโมเดลแสดงระบบการไหลเวียนเลือดของมนุษย์ เพื่อใช้ในสถาบันทางการศึกษาและมอบให้แก่โรงเรียนในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยในอนาคตจะพัฒนาไปสู่การจำหน่ายตามคำสั่งซื้อจากผู้ที่สนใจโดยตรงหรือผ่านช่องทางออนไลน์ โดยราคาจำหน่ายจะขึ้นอยู่กับรูปแบบแต่ละชุด เช่น โมเดลเซลล์พืชและสัตว์จำหน่ายราคาประมาณ 300-500 บาทต่อชิ้น ส่วนโมเดลระบบอื่นๆ ราคาประมาณ 500-1,000 บาทต่อชิ้นขึ้นอยู่กับขนาดและน้ำหนักของชิ้นงาน
source: banmuang.co.th/news/education/60336