data-ad-format="autorelaxed">
วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (STC) เห็นความสำคัญของเกษตรไทย จึงได้พัฒนานวัตกรรมเพื่อการเกษตรหวังช่วยเกษตรไทยพัฒนาคุณภาพการทำเกษตร และลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานอันจะเกิดขึ้นในอนาคต
อาจารย์วริศร์ รัตนนิมิตร อาจารย์ประจำสาขาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ คณะเทคโนโลยี และอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (STC) กล่าวว่า “เดิมทีเราคิดทำนวัตกรรมเพื่อการเกษตร โดยคิดถึงแนวคิดการพัฒนา Smart Farm โดยการใช้ Sensor ปักลงไปในฟาร์มแล้วทำการตรวจสอบสภาพแวดล้อมไม่ว่าจะดิน อากาศ ความชื้นสัมพันธ์ ฯลฯ เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของเกษตรไทย แต่การที่เกษตรของบ้านเรามีพื้นที่กว้างขวางทำให้การทำระบบนี้ไม่ตอบรับ จึงได้เกิดแนวคิดพัฒนาหุ่นยนต์เก็บข้อมูลการเกษตร โดยให้หุ่นยนต์เป็นผู้สำรวจไร่แทนเกษตรกร”
หน้าที่การทำงานของหุ่นยนต์ คือ การเข้าไปสำรวจและเก็บข้อมูลที่สำคัญสำหรับการทำเกษตร ณ บริเวณนั้น เช่น สภาพดิน สภาพอากาศ ความชื้นสัมพันธ์ เป็นต้น และส่งข้อมูลมาแสดงยังโทรศัพท์สมาร์ทโฟนที่ใช้ควบคุม โดยหุ่นยนต์รุ่นแรกจะใช้การควบคุมผ่านโทรศัพท์สมาร์ทโฟนแบบแมนนวลก่อน ส่วนในอนาคตคาดว่าจะพัฒนาให้เป็นแบบออโต้เมติค
“การทำงานของหุ่นยนต์จะใช้โทรศัพท์สมาร์ทโฟนเป็นตัวสั่งการและเก็บข้อมูล ผ่าน Web Browser อย่าง Chrome หรือ Safari ซึ่งหุ่นยนต์เก็บข้อมูลการเกษตรนี้ให้ความแม่นยำในการสำรวจได้ถึง 80% ยกเว้นเมื่อเจอกับสภาพพื้นดินที่แข็งมากทำให้ไม่สามารถเจาะพื้นที่เพื่อทำการสำรวจสภาพดินได้ แต่ค่าอื่นๆ เช่น อุณหภูมิ ความชื้นในอากาศ ณ บริเวณนั้นยังสามารถตรวจสอบและเก็บข้อมูลได้เหมือนเดิม” อาจารย์วริศร์ รัตนนิมิตร กล่าว
อย่างไรก็ดี หุ่นยนต์เก็บข้อมูลการเกษตรสามารถเข้าสำรวจพื้นที่ได้ทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นพื้นราบหรือขรุขระ เนื่องจากถูกออกแบบให้ล้อเป็นตีนตะขาบจึงสามารถเดินทางในบริเวณที่สมบุกสมบันได้ระดับหนึ่ง ด้านความจำเป็นของเกษตรกรที่ต้องมีหุ่นยนต์เก็บข้อมูลการเกษตรถือว่าเป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะหุ่นยนต์จะช่วยให้เกษตรตัดสินใจในการลงพื้นที่เพื่อทำการเพาะปลูกได้ง่ายขึ้น
“อย่างวันนี้แดดน้อย อากาศไม่ร้อน ความชื้นสัมพันธ์สูง เกษตรกรก็ไม่จำเป็นต้องรดน้ำ ทำให้ลดค่าใช้จ่ายไปได้ หรือวันนี้อากาศไม่ค่อยดีเกษตรกรอาจจะตัดสินใจไม่เข้าไร่” อาจารย์วริศร์ รัตนนิมิตร กล่าว
source: matichon.co.th/news/635752