data-ad-format="autorelaxed">
ยก Hay Day เข้าสู่ชีวิตจริง
ไม่ว่าจะเป็น Hay Day, Harvest Moon หรือ Stardew Valley ต่างเป็นแค่เกมปลูกผัก, เลี้ยงสัตว์ และเก็บผลผลิตไปจำหน่าย ซึ่งเนื้อหาแค่นี้ก็ทำให้ผู้เล่นติดกันงอมแงมได้ แล้วทำไมไม่ลองยกแพลตฟอร์มนี้มาอยู่ในชีวิตจริงล่ะ และล่าสุดก็มี Startup จากประเทศอินโดนีเซียในชื่อ i-Grow นำแนวคิดนี้มาปรับใช้แล้ว
สำหรับรูปแบบธุรกิจของ i-Grow นั้นจะเริ่มที่เปิดให้ผู้ใช้มีสิทธิ์เลือกซื้อเมล็ดพันธุ์พืชต่างๆ เช่นมะพร้าว, อะโวคาโด้ หรือถั่วลิสง จากนั้นเกษตรกรกว่า 2,000 รายในระบบจะเป็นผู้ปลูก และเก็บเกี่ยวผลผลิตให้ ซึ่งรายได้ทั้งหมดที่เกิดขึ้นจะแบ่งกันระหว่างเกษตรกร และผู้ลงทุน ที่สำคัญรายได้ที่เกิดขึ้นหลังปลูกมีการการันตี
ตัวอย่างเช่นการลงทุนปลูกถั่วลิสงจะมีกำไรกลับคืนมา 9-13% ภายใน 6 เดือน โดยการลงทุนปลูกผลผลิตนั้นทุกอย่างทำได้ผ่าน Smartphone เพียงเครื่องเดียว เพราะเกษตรกรจะรายงานการเพาะปลูกโดยตลอด รวมถึงการขายผลผลิตด้วย และปัจจุบันก็มีผู้ใช้งานกว่า 10,000 คน ลงทุนเพาะปลูกไปกว่า 10 ล้านต้นแล้ว
ใช้ข้อมูลเพิ่มคุณภาพผลผลิต
อีกปัญหาของการทำเกษตรกรรม คือการลงทุนเพาะปลูกแล้วไม่ได้ผลกำไรตามที่คาดการณ์ไว้ และเกษตรกรต้องเจอกับปัญหาการเงินที่ตามมาอีก แต่ปัจจุบันฐานข้อมูล รวมถึงอุปกรณ์เซ็นเซอร์ในรูปแบบต่างๆ สามารถช่วยแก้ปัญหานี้ได้ และกลายเป็นอีกเทรนด์สำคัญที่สามารถประยุกต์ใช้ในการเพาะปลูก
CI Agriculture อีก Startup จากประเทศอินโดนีเซีย ได้สร้างแพลตฟอร์มนี้ขึ้นมา โดยรวมการวิเคราะห์พื้นที่เพาะปลูกผ่านดาวเทียม, Drone และเซ็นเซอร์ตรวจสอบความชื้นของดิน เพื่อให้ผลลัพธ์เกี่ยวกับสถานที่ว่าคุ้มค่าแก่การเพาะปลูกหรือไม่ เพราะไม่ต้องการให้การลงทุนสูญเปล่า
และจากฐานข้อมูลแบบนี้ ทาง CI Agriculture สามารถให้คะแนนแก่พื้นที่เหล่านั้นว่ามีคุณภาพในการเพาะปลูกแค่ไหน และอนาคตสามารถนำตัวเลขดังกล่าวไปยื่นต่อสถาบันการเงินเพื่ออนุมัติเงินกู้เพื่อทำเกษตรกรรมได้ง่ายขึ้นเช่นเดียวกัน
Drone คืออีกตัวแปรเพาะปลูก 4.0
เกษตรกรในสหรัฐอเมริกา และยุโรปต่างประยุกต์ใช้ซอฟต์แวร์เพื่อยกระดับการเพาะปลูกแล้ว รวมถึงในออสเตรเลียก็เริ่มใช้เครื่องจักรอัตโนมัติในการเพาะปลูกเช่นกัน แต่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลับใช้แรงงานคนเป็นหลัก แสดงให้เห็นถึงความล้าหลัง เมื่อเทียบกับจำนวนผลผลิตที่มากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก
และเมื่อพูดถึงเครื่องจักร ยุค 4.0 ก็คงไม่ใช่รถไถ หรือรถเกี่ยวข้าวอีกต่อไปแล้ว เพราะมันต้องเป็น Drone ที่เข้ามาช่วยเกษตรกรยุคนี้ โดยในสิงคโปร์มี Startup ชื่อ Garuda Robotics เข้ามาทำตลาดเรื่องนี้อย่างจริงจัง ผ่านการสร้างซอฟต์แวร์ให้ Drone เพื่อช่วยตรวจสอบพื้นที่ และทำกิจกรรมต่างๆ แทนแรงงาน
ตัวอย่างที่ดี คือการโปรยปุ๋ยให้กับผลผลิตได้อย่างแม่นยำ และครอบคลุมพื้นที่ที่เกษตรกรต้องการ เพราะส่วนใหญ่แล้วแรงงานคนอาจทำได้ไม่แม่นยำนัก และถึงทำได้ดี ก็คงวิเคราะห์พื้นที่ได้ดีไม่เท่ากับซอฟต์แวร์ ดังนั้นถ้าจะไป 4.0 จริง เรื่องนี้คงต้องมีการลงทุนอย่างจริงจัง
สรุป
ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นพื้นที่การเกษตรที่สำคัญ เพราะส่งออกปาล์มน้ำมันกว่า 90% ของตลาด และส่งออกข้าวเป็น 1 ใน 4 ของทั่วโลก ดังนั้นการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามายกระดับการเกษตรก็คงเป็นเรื่องที่ดีกว่า และมันน่าจะทำให้คุณภาพชีวิตของเกษตรกรดีขึ้นด้วย
อ้างอิง // 3 Hottest Trends in AgTech in Southeast Asia