data-ad-format="autorelaxed">
เทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่
อะไรคืออุปสรรคสำคัญให้ประเทศไทย ไม่สามารถก้าวข้าม Middle Income Trap หรือ “กับดักของประเทศรายได้ปานกลาง”
ไปได้ สวนทางกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามที่เคยล้าหลังกว่า แต่กลับเร่งเครื่องตัวเองขึ้นมาอยู่ในระดับที่พร้อมแข่งขันกับไทยแล้วโดยเฉพาะในภาคเกษตร เรามักเห็นเกษตรกรไทยออกมาเรียกร้องให้ภาครัฐเยียวยา เรียกร้องการประกันราคาสินค้าเกษตร เรียกร้องการรับจำนำผลผลิตสะท้อนความอ่อนแอของภาคเกษตรไทยที่ไม่มีการวางแผนการผลิต ไม่มีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้อย่างเพียงพอ ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงและแข่งขันกับเพื่อนบ้านได้ยากขึ้น
เมื่อรัฐบาลปัจจุบันคิดถึงจุดแข็งตรงนี้ และจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ที่เรียกกันว่า “ประชารัฐ”จากความร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน โดยจัดตั้งถึง 12 คณะ ในจำนวนนี้มี 2 คณะที่น่าจะมีบทบาทโดยตรงในการขับเคลื่อนภาคเกษตร ได้แก่ คณะกรรมการที่จะเข้ามาพัฒนาเกษตรสมัยใหม่ และคณะกรรมการด้านนวัตกรรมและผลิตภาพ
แนวคิดของนายกานต์ ตระกูลฮุน มองว่า การพัฒนาเกษตรสมัยใหม่นั้นจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย เกษตรกรต้องปรับตัวไม่ยึดติดกับวิธีการทำการเกษตรแบบเดิมๆ เนื่องจากสภาพภูมิอากาศ การค้าของโลกและความต้องการของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ต้องยอมรับภาคการเกษตรไทยมีการใช้เครื่องจักรเข้ามาช่วยน้อยมาก และใช้อย่างไม่ถูกต้อง ขนาดฟาร์มเล็ก ส่วนใหญ่เป็นรายย่อย ในขณะที่แรงงานคนปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง แรงงานที่มีอยู่ส่วนใหญ่สูงอายุ หากปล่อยให้สถานการณ์เป็นอย่างนี้ต่อไป ภาคการเกษตรไทยจะลำบาก หากมีการใช้เครื่องจักร เทคโนโลยีเข้ามาช่วย จะเป็นส่วนหนึ่งที่ดึงดูดให้คนรุ่นใหม่เข้ามาสู่ภาคการเกษตรมากขึ้น
ไทยมีความจำเป็นต้องรวมแปลงให้ใหญ่ขึ้น เพื่อผลิตสินค้าชนิดเดียวกันตามความต้องการของตลาด ตัดปัญหาสินค้าล้นตลาดและสามารถกำหนดคุณภาพสินค้าให้มีมาตรฐานเท่าเทียมกันเกษตรกรที่ปฏิบัติได้จะเป็นเกษตรกรมืออาชีพ ที่มีองค์ความรู้ หากประเทศไทยมุ่งไปในโมเดลดังกล่าวจะส่งผลให้สัดส่วนของภาคการเกษตรในจีดีพีเพิ่มขึ้นจาก 10% เป็น 20%
ขณะที่นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ก็มองตรงกันว่าการปฏิรูปภาคการเกษตรใหม่นั้น ต้องนำเครื่องจักรกลเข้ามาช่วยมากขึ้นในทุกขั้นตอนการผลิต แต่ขณะนี้ยังมีปัญหาคือขนาดฟาร์มของไทยที่ยังมีขนาดเล็กเกินไป รถไถ แปลงยังไม่ทันเดินก็ต้องหมุนกลับ การหมุนวกกลับบ่อยๆ นี้ไม่ดี เพราะเครื่องจักรจะเสีย ต้องซ่อมบำรุงรักษา ดังนั้นเกษตรกรต้องรวมแปลงให้มีขนาดใหญ่ขึ้น แล้วใช้สัญญาณดาวเทียมจีพีเอส มาใช้คุมการจัดแถวแปลงพืช เพื่อใช้เครื่องจักรในการหว่าน รอยรถเครื่องจักรสามารถวิ่งในร่องไม่ทับเมล็ดพืชที่โรยเอาไว้ จึงสามารถควบคุมอัตราการเติบโตของแปลงพืชได้จะมีการกำหนดระยะเวลาการให้ปุ๋ย ให้น้ำ ทำให้พืชโตในขนาดที่เท่ากันเก็บเกี่ยวในระยะเวลาใกล้เคียงกัน เพื่อให้ง่ายต่อการบรรจุส่งเข้าโรงงานที่ผูกพันสัญญาเอาไว้ วิธีการนี้จะทำให้เกษตรกรรู้จักการวางแผนและมีรายได้เป็นที่น่าพอใจ
ก่อนหน้านี้ก็เคยได้ยินแนวคิดการปฏิรูปภาคเกษตรของ ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มีมุมมองไปในทิศทางเดียวกันว่าการแข่งขันในโลกความจริงของภาคเกษตร มีเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่พัฒนาก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ดังนั้น แม้จะให้โอกาสเกษตรกรในที่ทำกินและในอาชีพทำกินแล้ว คงยังไม่เพียงพอ ต้องมีเรื่องของเทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่เข้ามาสนับสนุนด้วย
ตัวอย่างโครงการเลี้ยงไก่ไข่ 3 ล้านตัวของซีพีกรุ๊ปในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ณ หมู่บ้าน ซีฟานเกอจวง ตำบลยู่โค เขตผิงกู่ นครปักกิ่ง ที่มีการจัดการอย่างเป็นระบบซึ่งถือเป็นโครงการไก่ไข่ครบวงจรที่ทันสมัยและใหญ่ที่สุดในเอเชียและใหญ่เป็นอันดับสองของโลก มีกำลังการผลิตไข่ไก่มากถึง 54,000 ตันต่อปี ภายในโครงการประกอบไปด้วยโรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่ระบบปิดจำนวน 18 หลัง แต่ละหลังมีทั้งหมด 8 ชั้น ไก่จะออกไข่ตัวละฟองต่อวัน สำหรับสุขภาพแม่ไก่นั้นก็จะมีหุ่นยนต์วิ่งไปมา ใช้อินฟาเรดตรวจจับ และแยกแม่ไก่ที่ไม่แอคทีฟออกมาทันที ขณะที่การเก็บไข่จะมีสายพานลำเลียงไข่เป็นระบบอัตโนมัติ
นอกจากนี้ยังมีโรงงานผลิตอาหารสัตว์และโรงงานแปรรูปไข่เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าไข่อีกด้วย แน่นอนว่ากระบวนการผลิตทั้งหมดจะถูกควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีเหล่านี้จะช่วยให้การผลิตไข่ไก่ไม่สะดุด และมีผลผลิตเพียงพอที่จะเลี้ยงประชาชนในประเทศ ปัจจุบันคนงาน 1 คนของซีพี จึงเลี้ยงไก่ได้ถึง 1.6 แสนตัวเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอย่างมากทั้งหมดนี้สามารถคำนวณกลับเป็นต้นทุนต่อหน่วยที่ต่ำลงกว่าการไม่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย
อีกตัวอย่างจากกลุ่มน้ำตาลมิตรผล ที่เข้าไปร่วมลงทุนในอุตสาหกรรมน้ำตาล ณ มณฑลกวางสี สาธารณรัฐประชาชนจีน กว่า 22 ปีแล้ว โดยนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ เข้าไปพัฒนาและขยายธุรกิจต่อเนื่องจากอ้อย ตั้งแต่การพัฒนาพันธุ์อ้อย การควบคุมศัตรูพืชอ้อย และการพัฒนาการจัดการในไร่อ้อย รวมถึง การนำเทคโนโลยีด้านการเกษตรสมัยใหม่ นวัตกรรมด้านการผลิตน้ำตาลคุณภาพสูงหลากหลายประเภท และการสร้างมูลเพิ่มต่อเนื่องจากอ้อย เข้าไปใช้ กระทั่งต่อยอดเป็นจากธุรกิจน้ำตาล เป็นพลังงานหมุนเวียนประเภทไฟฟ้าชีวมวล จนถึง ธุรกิจปุ๋ยคุณภาพสูงสำหรับเกษตรกร
การบริหารจัดการไร่อ้อยสมัยใหม่ด้วยเทคโนโลยีระดับโลก ในชื่อ “มิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม” (ModernFarm Management)โดยใช้เครื่องจักรที่ทันสมัย (Mechanization) ที่ช่วยเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุนการจัดการ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยให้เกษตรกรสามารถเพิ่มปริมาณผลผลิตอ้อยและเพิ่มความหวานในอ้อยได้อย่างเป็นรูปธรรม
เมื่อแนวโน้มการปฏิรูปภาคเกษตรของบ้านเราในสายตาของผู้บริหารประเทศ นี่คงเป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ให้ภาคเกษตรกรของไทยที่ควรยอมรับความเปลี่ยนแปลง ร่วมมือกับภาคเอกชนที่มีโนว์ฮาวที่ดี มีการวิจัยพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง จะสามารถสร้างความเข้มแข็งให้ภาคเกษตรของไทยให้แข่งขันได้ในเวทีโลก
source: bangkokbiznews.com/blog/detail/637229