data-ad-format="autorelaxed">
แม้ว่าสภาวะในปัจจุบันหลายพื้นที่ของประเทศกำลังประสบปัญหาภัยแล้ง ซึ่งรัฐบาลก็ได้มีนโยบายในการรณรงค์ประหยัดทรัพยากรน้ำ พร้อมให้ความช่วยเหลือเกษตรกรทุกพื้นที่ การคิดค้นนวัตกรรม จึงเป็นอีกแนวทางในการช่วยเหลือเกษตรกร เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่ฤดูกาลทำนาในแต่ละปี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดย คณะวิศวกรรมศาสตร์ คิดค้นนวัตกรรม เครื่องดำนาแบบมือถือ ตอบโจทย์เกษตรกรเตรียมพร้อมเข้าสู่ฤดูกาลทำนา ช่วยลดต้นทุนการผลิต สะดวกปลอดภัยใช้งานง่าย เสริมสร้างสุขภาพที่ดีแก่ชีวิต ต้นทุนไม่เกิน 1 พันบาท ผลงานเด่นของอาจารย์รัฐพงศ์ ปฏิกานัง อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
อาจารย์รัฐพงศ์ ปฏิกานัง กล่าวว่า ปัจจุบันเกษตรกรหันมาใช้วิธีการทำนาหว่านแทนการดำกันมากขึ้น เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายด้านแรงงาน ระยะเวลา ซึ่งผลผลิตที่ได้จะน้อยกว่าการทำนาดำ ดังนั้น เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มากขึ้น ลดค่าใช้จ่ายด้านแรงงาน ต่อคน ต่อวัน และปัญหาอีกอย่างคือเรื่องของสภาพร่างกาย เพราะการดำนาต้องก้ม และใช้นิ้วปักต้นกล้าลงในดิน ทำให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพ ปวดหลัง เจ็บนิ้ว ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว จึงได้คิดค้นออกแบบและสร้างอุปกรณ์เครื่องดำนาแบบมือถือ เกษตรกรสามารถทำนาด้วยวิธีการดำเพิ่มผลผลิตสูง โดยไม่มีปัญหาเรื่องแรงงาน และสภาพร่างกาย
เครื่องดำนาแบบมือถือ เหมาะสำหรับเกษตรกรที่มีที่นาไม่มากนัก มีการใช้งานง่าย โดยนำต้นกล้าที่เตรียมส่งผ่านท่อลำเลียง ออกแรงกดปักดำในที่นาที่เตรียม เหมือนกับการปักดำนาทั่วไป ความโดดเด่นนอกจากจะประหยัดค่าใช้จ่าย ยังเป็นการทำนาแบบรักสุขภาพ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ไม่ต้องจ้างแรงงาน ไม่พึ่งพาเครื่องจักร ไม่ก่อมลพิษ เป็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ดีอีกทางหนึ่งด้วย อาจารย์รัฐพงศ์ กล่าว
ทั้งนี้ นวัตกรรมดังกล่าว ได้นำมาแสดงในงาน มหกรรมแสดงสินค้าและนวัตกรรม 2016 หรือ UBU Research and Innovations Expo (RISE2016) เมื่อวันที่ 26-28 กุมภาพันธ์ 2559 ที่ผ่านมา และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กำลังดำเนินระหว่างการขอรับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา (อนุสิทธิบัตร) ต่อไป สอบถามเพิ่มเติมที่ หน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจ อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลับอุบลราชธานี โทร.045 433456
ข้อมูลจาก ubu.ac.th