data-ad-format="autorelaxed">
กาแฟโรบัสต้า
โดยทั่วไป กาแฟโรบัสต้ามีลักษณะของความต้านทานต่อโรคมากกว่ากาแฟอราบิก้า เราจึงพบโรคที่เกิดขึ้นกับกาแฟโรบัสต้าที่ปลูกอยู่ในแถบบ้านเราได้น้อยมาก และโดยส่วนใหญ่แล้วอยู่ในระดับที่ไม่เป็นอันตรายทางเศรษฐกิจ แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น หากเกษตรกรละเลยในการดูแลสวนกาแฟของตัวเอง และประกอบกับสภาพแวดล้อมในช่วงเวลานั้นเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตและการแพร่ ระบาดของโรคแล้วนั้น โรคในกาแฟก็อาจจะทำความเสียหายในทางเศรษฐกิจให้กับเกษตรกร และของประเทศได้ ซึ่งโรคที่สำคัญของกาแฟโรบัสต้าในภาคใต้ของประเทศไทย มีดังนี้
1. โรคราสนิม เกิดจากเชื้อ Hemileia vastatrix Berk. &Br. ลักษณะอาการด้านหลังใบมีจุดวงกลมสีเหลือง และด้านใต้ใบมีลักษณะเป็นฝุ่นผงของสปอร์สีเหลืองส้ม บางส่วนของใบจะถูกปกคลุมด้วยเชื้อราสีส้ม และถ้าอาการรุนแรงจะทำให้ใบอ่อนที่ยังไม่เจริญเติบโตเต็มที่ร่วงและกิ่งแห้ง ตายได้ การแพร่ระบาดของเชื้อราจะเป็นไปอย่างรวดเร็วในพื้นที่ที่มีฝนตกชุก นอกจากนี้ลม แมลง สัตว์และมนุษย์ก็มีส่วนช่วยแพร่กระจายโรคด้วย ส่วนใหญ่กาแฟโรบัสต้าจะต้านทานโรคราสนิมนี้ ยกเว้นเพียงบางสายพันธุ์เท่านั้นที่อ่อนแอต่อโรคนี้ วิธีที่ดีที่สุดในการควบคุมโรคนี้ คือ การเปลี่ยนสายพันธุ์กาแฟที่อ่อนแอมาเป็นพันธุ์ต้านทาน ซึ่งสามารถทำได้โดยการปลูกใหม่ด้วยสายพันธุ์ต้านทาน หรือการติดตาหรือเสียบยอดด้วยสายพันธุ์ต้านทาน
2. โรครากขาว เกิดจากเชื้อ Rigidoporus lignosus (Klotz.) Imazeki ลักษณะอาการของต้นกาแฟจะมีใบเหลืองและเหี่ยว ถ้าอาการลุกลามมากจะทำให้ตายได้เมื่อขุดรากดูจะพบว่ารากเน่า และสามารถมองเห็นเส้นใยสีขาวของเชื้อราในบริเวณที่เน่านั้นด้วยตาเปล่า โรคของรากกาแฟนี้ พบได้ทั่วไปแม้ในสภาพป่าที่ไม่มีการเพาะปลูกพืชมาก่อน ในระยะเริ่มแรกเชื้อสาเหตุสะสมอยู่ที่ตอไม้หรือรากไม้ที่ผุพัง เมื่อมีการขุดถางพื้นที่สำหรับปลูกกาแฟ เชื้อโรคจะแพร่กระจายโดยการสัมผัสของระบบราก วิธีการป้องกันทำได้โดยการขุดตอพืชเดิมออกให้มากที่สุด และขุดแยกพืช ที่เป็นโรคออก หลุมปลูกพืชควรตากแดดไว้ 2-3 เดือน นอกจากนี้ควรมีการขุดร่องระหว่างแถว เพื่อป้องกันมิให้ระบบรากมาสัมผัสกัน
3. โรคแอนแทรคโนสในกาแฟ ซึ่งเป็นโรคที่พบมากที่สุดในกาแฟโรบัสต้าที่ปลูกอยู่ในเขตบ้านเรา เกิดจากเชื้อรา Colletotrichum coffeanum Noack ลักษณะการทำลายของโรค สามารถทำอันตรายกับกาแฟได้ทั้งในส่วนของใบ กิ่ง และผล อาการของโรคถ้าเข้าทำลายผลกาแฟจะทำให้ผลกาแฟมี จุดลึกสีน้ำตาลเข้ม จากนั้นจะแห้งและเปลี่ยนเป็นสีดำ หากโรคนี้เกิดที่ใบ จะทำให้ใบเหลือง และมีแผลแห้งที่ใบ โดยเฉพาะใบ
กาแฟของกิ่งที่อ่อน จากนั้นข้อและปล้องจะแห้งตายจากยอดเข้ามา และลุกลามจนกิ่งแห้งและใบร่วง หากอาการรุนแรงต้นกาแฟจะแห้งจากยอดและยืนต้นตาย การป้องกัน เกษตรกรควรมีการตัดแต่งกิ่งให้แสงส่องถึงพื้นดินได้บ้าง ควรเก็บเอาผลหรือกิ่งที่แห้งตายไปเผาทำลาย ใส่ปุ๋ยให้เพียงพอกับความต้องการ เพื่อให้กาแฟได้รับธาตุอาหารครบถ้วน ต้นกาแฟก็จะได้แข็งแรงและสามารถต้านทานการเข้าทำลายของโรคได้
จะเห็นได้ว่าโรคในกาแฟโรบัสต้า เกษตรกรสามารถป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นและควบคุมไม่ให้แพร่ระบาดได้ด้วยวิธีการ เขตกรรม โดยไม่ต้องพึ่งพาสารเคมีที่เป็นอันตรายเลย เพียงแต่เกษตรกรดูแลและบำรุงต้นกาแฟให้สมบูรณ์แข็งแรง ไม่อ่อนแอ และหมั่นตรวจแปลง สังเกตความผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในสวนกาแฟของตนเอง หากมีการระบาดของโรคเกิดขึ้นจะได้มีการแก้ไขได้ทันเวลา
credit: bloggang.com/mainblog.php?id=coffeeis&month=02-11-2010&group=7&gblog=4