data-ad-format="autorelaxed">
หลังจากสายลมหนาวและเกร็ดหิมะพัดผ่านไปพร้อมๆ กับอุณหภูมิที่ค่อยๆ อุ่นขึ้น แสงพระอาทิตย์ที่ฉายส่องทะลุกลุ่มเมฆฉาดแสงให้ผู้คนได้เบิกบานกับความงามที่ถูกแต่งแต้มด้วยสีสันจากปลายพู่กันของจิตรกรที่ชื่อว่า “ธรรมชาติ” อีกครั้ง
การรอคอยอย่างใจจดใจจ่อของฝูงภมรที่พร้อมเดินทางไปยังดินแดนซึ่งได้รับการกล่าวขานถึงการบานของดอกไม้ที่งดงามที่สุดแห่งหนึ่งบนโลกสีน้ำเงินใบนี้ตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม คือช่วงเวลาเดียวกับการเฝ้ารอการผลิบานของดอกไม้ชื่อไพเราะ “ซากุระ” จนครบทั้ง 5 กลีบของคนญี่ปุ่น เช่นกัน
ผู้สร้างชาติด้วยนัยสำคัญทางประวัติศาสตร์และความเหมาะสมของสภาพพื้นที่ ซึ่งได้รับการรบกวนจากสภาพอากาศน้อยและอยู่ใกล้กับสถานีวัดสภาพอากาอาศ ที่นี่คือจุดที่ต้นซากุระต้นสำคัญได้หยั่งรากอันแข็งแกร่งทะลุชั้นดิน สั่งสมธาตุอาหารผ่านช่วงเวลาสำคัญเกิดเป็นลำต้นที่แข็งแกร่งและงดงามนานนับร้อยปี “ซากุระต้นอิงมาตรฐานของกรุงโตเกียว” หรือ “ซากุระพยากรณ์” เมื่อใดที่ซากุระต้นนี้บานจนครบ 5 กลีบ กรมอุตุนิยมวิทยาของญี่ปุ่นจะถือว่าดอกซากุระของเมืองโตเกียวทั้งเมืองเริ่มบานเช่นกัน และในแต่ละเมืองซึ่งมีอุณหภูมิและสภาพอากาศแตกต่างกัน ก็จะมีการกำหนดซากุระต้นอิงมาตรฐานเพื่อกำหนดการบานของดอกไม้ที่ทรงมนต์เสน่ห์นี้ในทุกๆ เมือง
ก่อนการรอคอยจะมาถึง หนึ่งดอกไม้งามที่แรกแย้มต้อนรับการมาของฤดูใบไม้ผลิในญี่ปุ่นจนเรียกรอยยิ้มจากผู้ปลูก คนในพื้นที่ และนักท่องเที่ยวได้ไม่แพ้กันคือ “ดอกคามิเลีย”หรือชื่อในภาษาญี่ปุ่นว่า “ดอกสึบากิ” มีหลายสีเช่น ชมพู แดง ขาว หลายสายพันธุ์ บางพันธุ์กลีบซ้อนหลายชั้นคล้ายกุหลาบ หรือบางสายพันธุ์กลีบชั้นเดียว ดอกคามิเลียจะเริ่มบานตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์และยาวนานไปจนถึงการเริ่มบานของดอกซากุระ
ข้ามไปอีกซีกโลกหนึ่ง จุดที่ต้นซากุระสายพันธุ์โยชิโนะคือสะพานเชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่างญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกาในการเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเมื่อปี ค.ศ.1912 (พ.ศ. 2455) ต้นซากุระจำนวน 31 ต้น ซึ่งได้รับมอบจากนายกเทศมนตรีกรุงโตเกียวมีการปลูกและดูแลอย่างดี ณ UW Quad สวนสวยกลางมหาวิทยาลัยวอชิงตันเมืองซีแอตเทิล มลรัฐวอชิงตันสหรัฐอเมริกา ช่วงเวลาเดียวกับการเริ่มผลิบานของดอกซากุระในประเทศญี่ปุ่น ที่นี่คือช่วงเวลาแห่งการเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิเช่นเดียวกันแต่ด้วยลักษณะภูมิภาคและภูมิอากาศของซีแอตเทิลซึ่งเป็นเมืองชายฝั่ง อากาศค่อนไปทางชื้นและมีฝนตกเป็นประจำ การชื่นชมดอกซากุระที่นี่บ่อยครั้งมาพร้อมกับฝนพรำ แต่ก็มิได้เป็นอุปสรรคของการออกมาทำกิจกรรมกลางแจ้งเพื่อชมดอกซากุระแต่อย่างใด
นอกเหนือไปจากนักศึกษาในมหาวิทยาลัยที่มักจะได้ชื่นชมซากุระเป็นรางวัลทางใจหลังจากการสอบภาคฤดูหนาวเสร็จสิ้นแล้วนั้น ในวันที่อากาศเป็นใจคนในพื้นที่ รวมถึงชาวอเมริกันที่เดินทางมาเพื่อชมดอกซากุระและนักท่องเที่ยว ต่างเดินทางมาเยี่ยมชมที่ UW Quad กันไม่ขาดสาย ลานหญ้าสีเขียวกว้างถูกจับจองเป็นโต๊ะอาหารธรรมชาติเล็กๆ บ้างก็นอนอ่านหนังสือ บ้างก็เล่นดนตรีพากันเอาสัตว์เลี้ยงออกมาเดินเล่นจิตรกรหรือผู้มีฝีมือในการวาดภาพก็พากันหอบหิ้วอุปกรณ์มาบันทึกความงามในความทรงจำนี้ ตั้งแต่ดอกแรกผลิบานจนถึงวันที่ร่วงโรยพร้อมกับการผลิใบเตรียมความพร้อมสำหรับการสร้างความสวยงามในปีหน้าอีกครั้ง
แม้รากจะฝังลึกในดินแดนอันห่างไกล ดินแดนซึ่งแตกต่างทั้งผู้คนความเป็นอยู่ และศิลปวัฒนธรรมแต่ดอกซากุระได้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนสะท้อนจิตวิญญาณโลกตะวันออก ขับความงดงามของสถาปัตยกรรมตะวันตกที่รายรอบภายในมหาวิทยาลัยวอชิงตันให้งดงาม และคงเอกลักษณ์อันน่าหลงใหลเรื่อยมานับร้อยปี
“ธรรมชาติ” จิตรกรเอกของทุกสรรพสิ่งก็ไม่ลืมที่จะแต่งแต้มสีชมพูสวยลงบนแผนที่ประเทศไทยในคิมหันตฤดู ในขณะที่เรากำลังชื่นชมดอกไม้งามจากต่างแดน “ดอกชมพูพันธุ์ทิพย์” ที่เรียงรายอยู่ทุกหัวมุมถนนก็พากันแข่งผลิดอกงาม ชูกิ่งก้านสีชมพูสูงจนเกือบถึงชานชาลารถไฟฟ้า สร้างความตื่นเต้นให้กับผู้ชื่นชอบถ่ายภาพในประเทศไทยได้ไม่แพ้กัน
ชมพูพันธุ์ทิพย์ มีชื่อเรียกโดยทั่วไปอีกถึง 2 ชื่อคือ “ธรรมบูชา” และ “ตาเบบูญ่า” มีบันทึกเป็นหลักฐานว่า กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิต และม.ร.ว.พันธุ์ทิพย์ บริพัตร เป็นผู้นำไม้ยืนต้นซึ่งผลิดอกงามนี้เข้ามาจากอเมริกาใต้เป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2500 ความงามอันโดดเด่น ทั้งทรงลำต้นกิ่งก้านที่แผ่นขยาย และกลีบสีชมพูอ่อนนุ่มที่โปรยเป็นพรมบนผืนหญ้าทำให้ชมพูพันธุ์ทิพย์ได้รับความนิยมเป็นอย่างยิ่งจนได้รับการขนานนามให้เป็น “ซากุระเมืองไทย”
ที่ญี่ปุ่นมี “Ueno Park” ที่สหรัฐอเมริกามี “UW Quad” ที่เมืองไทยก็มี “Mochito Chatuchak Park” เช่นกัน นี่แหล่ะสีชมพูที่สวยที่สุดของโลกใบนี้
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,255 วันที่ 23 - 26 เมษายน พ.ศ. 2560