<กลับหน้าค้นข้อมูล
แจ้งลิงค์ในเนื้อหาเสีย
ปลูกพืชในดินลูกรัง การจัดการ ดินลูกรัง ที่ถูกวิธี ช่วยเพิ่มผลผลิตพืชได้
ดินลูกรัง (Skeletal soils) หมายถึง ดินที่พบชั้นลูกรัง ชั้นกรวด ชั้นเศษหิน หรือชั้นหินพื้นในระดับตื้นกว่า 50 เซนติเมตร จากผิวดิน เนื้อดินบนเป็นดินทรายปนดินร่วนถึงดินร่วนปนทราย อาจพบกรวด หินมนเล็ก หรือเศษหินปะปน จึงทำให้เป็นอุปสรรคต่อการเจริญเติบโตของพืช
การจัดการดินลูกรังเพื่อเพิ่มผลผลิต
ดินลูกรัง (Skeletal soils)หมายถึง ดินที่พบชั้นลูกรัง ชั้นกรวด ชั้นเศษหิน หรือชั้นหินพื้นในระดับตื้นกว่า 50 เซนติเมตร จากผิวดิน เนื้อดินบนเป็นดินทรายปนดินร่วนถึงดินร่วนปนทราย อาจพบกรวด หินมนเล็ก หรือเศษหินปะปน จึงทำให้เป็นอุปสรรคต่อการเจริญเติบโตของพืช ดินลูกรังเป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ จากผลการสำรวจพบว่า ประเทศไทยมีดินลูกรังประมาณ 52 ล้านไร่ หรือร้อยละ 16.3 ของพื้นที่ทั้งประเทศ พบมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ปัญหาการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการเกษตรของดินลูกรัง
พื้นที่ที่พบดินลูกรังมีอยู่เกือบทุกภาคของประเทศ ยกเว้นในเขตฝนตกชุกทางภาคใต้ ปัญหาการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการเกษตรที่สำคัญ คือเป็นดินตื้นที่มีกรวดหินมนเล็กหรือเศษหินปะปนกันอยู่มาก ทำให้ดินมีปริมาณเนื้อดินน้อยลง มีความสามารถในการอุ้มน้ำต่ำ นอกจากนี้ลักษณะของดินเป็นอุปสรรคต่อการไถพรวนหน้าดินถูกชะล้างพังทลายได้ง่าย ดินมีความสมบรูณ์ต่ำ และการจัดระบบชลประทานมีความเป็นไปได้น้อย เนื่องจากสภาพพื้นที่ไม่อำนวย
ดินลูกรัง เป็นดินที่มีศักยภาพในการเกษตรต่ำ เนื่องจากดินชั้นล่างแน่นทึบเป็นอุปสรรคต่อการชอนไชของรากพืช ทำให้พืชชะงักการเจริญเติบโต นอกจากนี้ดินที่มีกรวดปนมักเป็นดินที่ขาดความชุ่มชื้นได้ง่าย และปัญหาอีกอย่างหนึ่งคือ มีข้อจำกัดในการเลือกชนิดของพืชปลูก โดยเฉพาะไม้ยืนต้นและไม้ผลจำเป็นต้องจัดการเป็นพิเศษ ในการเตรียมหลุมปลูก การปลูกพืชติดต่อกันในดินนี้จะทำให้ปริมาณธาตุอาหารในดินลดลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากหน้าดินมักเกิดการกร่อนได้ง่าย ปัจจุบันดินนี้ยังใช้ประโยชน์ในด้านการเพาะปลูกไม่มากนัก ส่วนใหญ่ยังปกคลุมด้วยป่าไม้จำพวกป่าแดงโปร่ง
แนวทางแก้ไขและการใช้ประโยชน์ดินลูกรัง
ดินลูกรังเป็นดินที่มีข้อจำกัดต่าง ๆ มาก การแก้ไขปัญหาเพื่อใช้ประโยชน์จากดินนี้อาจทำได้หลายแนวทาง คือ
1. การทำทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ เหมาะกับดินลูกรังที่พบในที่ดอนและมีหน้าดินหนาเกิน 15 ซม. ขึ้นไป
2. การปลูกพืชไร่ ดินลูกรังที่มีหน้าดินหนา ประมาณ 20 ซม. มีการระบายน้ำดีปานกลาง ไม่มีน้ำท่วมขังในฤดูฝน สามารถปลูกพืชไร่ได้หลายชนิด เช่น ข้าว ฟ่าง ถั่วลิสง ถั่วเขียว ถั่วเหลือง และพืชรากตื้นอื่น ๆ แต่ควรมีการบำรุงรักษาความอุดมสมบรูณ์ของดินโดยการใส่ปุ๋ย และรักษาความชื้นของดินโดยใช้วัสดุคลุมดิน
3. การปลูกไม้ผลและไม้โตเร็ว ดินลูกรังจะไม่จับกันเป็นชั้นแน่นมากนักสามารถปลูกไม้ผลและไม้โตเร็ว เช่น มะม่วง มะม่วงหิมพานต์ มะขาม ยูคาลิปตัส กระถินต่างๆ สะเดา ขี้เหล็กบ้าน น้อยหน่า พุทรา และไผ่ ส่วนยางพาราสามารถปลูกได้ในบริเวณที่มีปริมาณฝนมากกว่า 1_400 มม. /ปี
4. การทำนา ดินลูกรังที่พบในที่ราบหรือที่ราบต่ำที่มีหน้าดินลึกประมาณ 15 ซม. และมีการระบายน้ำเลวในช่วงฤดูฝนมีน้ำขังแฉะเป็นเวลานาน ควรใช้ปลูกข้าวและมีการใส่ปุ๋ยซึ่งจะช่วยให้ข้าวมีผลผลิตคุ้มค่ากับการลงทุน
อย่างไรก็ตาม ดินลูกรังที่มีหน้าดินตื้น ไม่ควรใช้ในการเพาะปลูกพืชที่ต้องมีการไถพรวนดิน เช่น มันสำปะหลัง ข้าวโพด หากไม่จำเป็นจึงไม่ควรนำมาใช้ในการเพาะปลูกแต่ควรปล่อยให้เป็นพื้นที่ป่าไม้ตลอดไป
การปรับปรุงดินลูกรังให้เหมาะสมต่อการปลูกพืช
ในการปรับปรุงบำรุงดินลูกรังเพื่อปลูกพืชเพื่อเพิ่มผลผลิต โดยการเพิ่มอินทรียวัตถุสามารถทำได้โดย
1. การไถกลบฟางข้าว และรดด้วยปุ๋ยอินทรีย์น้ำอัตรา 5 ลิตร/ไร่ หมักทิ้งไว้ช่วยให้ฟางย่อยสลายเร็วขึ้นเพิ่มอินทรียวัตถุให้แก่ดิน
2. ใส่ปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยคอก อัตรา 2 - 4 ตัน/ไร่ คลุกเคล้ากับดินในแปลงปลูกพืช หรือในบริเวณหลุมปลูกไม้ผล ในอัตราเฉลี่ย 25 - 50 กิโลกรัมต่อหลุม
3. ปลูกพืชปุ๋ยสด เช่น ปอเทือง ถั่วพุ่ม ถั่วพร้า แล้วไถกลบลงดิน ในช่วงออกดอก (อายุประมาณ 50 - 60 วัน หลังปลูก) ก่อนปลูกพืชหลักทุกชนิดเพิ่มอินทรีย์วัตถุ ทำให้ดินร่วนซุย การถ่ายเทอากาศดีการระบายน้ำดีดินมีความอุดมสมบรูณ์เพิ่มขึ้น
ข้อมูลจาก
http://www.farmkaset..link..