<กลับหน้าค้นข้อมูล
แจ้งลิงค์ในเนื้อหาเสีย
ทุ่มงบประมาณ 34 ล้านบาท ขยายตลาดยางแบบ ข้อตกลงส่งมอบจริง
ทุ่มงบประมาณ 34 ล้านบาท ขยายตลาดยางแบบ “ข้อตกลงส่งมอบจริง” ภายหลังยอดซื้อขายพุ่งกว่า 700 ล้านบาท คึกคักช่วงราคายางผันผวน ตั้งเป้าเปิดตลาดในเดือนเมษายน 2556 รองรับยางแผ่นรมควัน-ยางแผ่นรมควันอัดก้อน วันละ 60 ตัน
นายสุจินต์ แม้นเหมือน ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า จากการที่สำนักงานตลาดกลางยางพารานครศรีธรรมราช จ.นครศรีธรรมราช ได้ใช้ระบบตลาดกลางยางพาราดำเนินการทดลองซื้อขายยางแบบมีข้อตกลงส่งมอบจริง (Physical Rubber Forward Market) ตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม 2553 ปัจจุบันการซื้อขายยางด้วยวิธีดังกล่าวประสบความสำเร็จอย่างสูง โดยมีการซื้อขายยางแผ่นรมควันไปแล้วกว่า 1,400 สัญญา คิดเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 700 ล้านบาท โดยเฉพาะช่วงราคายางผันผวนหรือตกต่ำลง เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรได้นำยางเข้ามาขายในรูปแบบมีข้อตกลงส่งมอบจริงอย่างคึกคัก ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับเกษตรกรที่จะขายยางได้ในราคาที่พึงพอใจ
อย่างไรก็ตาม สถาบันวิจัยยางได้จัดสรรงบประมาณ จำนวน 34 ล้านบาท ให้สำนักงานตลาดกลางยางพารานครศรีธรรมราชเร่งพัฒนาและขยายตลาดซื้อขายยางแบบมีข้อตกลงส่งมอบจริงเพื่อรองรับการพัฒนาการผลิตและจำหน่ายทั้งยางแผ่นรมควัน และยางแผ่นรมควันอัดก้อน โดยคาดว่าจะสามารถเปิดตลาดซื้อขายได้ในเดือนเมษายน 2556 เบื้องต้นคาดว่า จะมีปริมาณยางแผ่นรมควันและยางแผ่นรมควันอัดก้อนเข้ามาซื้อขายในตลาดไม่น้อยกว่า 60 ตัน/วัน
...เมื่อระบบตลาดเข้าที่แล้ว สถาบัน วิจัยยางมีแผนที่จะส่งเสริมขยายตลาดซื้อยางแบบมีข้อตกลงส่งมอบจริงไปยังตลาดกลางยางพาราสงขลา พร้อมเชื่อมโยงเครือข่ายกับตลาดกลางยางพาราบุรีรัมย์ด้วย...
ระบบตลาดซื้อขายยางแบบมีข้อตกลงส่งมอบจริงมีข้อดี คือ มีกระบวนการคัดคุณภาพยางก่อนจำหน่าย ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการ ทำให้มีการเสนอซื้อไม่จำกัดปริมาณ ขณะเดียวกันผู้ซื้อและผู้ขายยังสามารถตกลงซื้อขายด้วยความพึงพอใจ ทั้งยังกระตุ้นให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรหันมา สร้างโรงรมยางแผ่นรมควันมากขึ้น มีการพัฒนาการผลิตยางแผ่นรมควันอัดก้อนหรือยางลูกขุนด้วย ซึ่งตลาดรูปแบบนี้ได้รับความสนใจมากในช่วงราคายางตกต่ำ เป็นช่องทางช่วยรักษาเสถียรภาพราคายางและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับยางพาราได้
ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยางว่า ภายหลังสภามนตรีไตรภาคียางพาราหรือไอทีอาร์ซี (International Tripartite Rubber Council :ITRC) มีมติเห็นชอบให้จัดตั้ง ตลาดกลางยางพาราระดับภูมิภาค (Regional Rubber Market) ขึ้น เพื่อเชื่อมโยงกิจกรรมการซื้อขายยางธรรมชาติ และช่วยเสริมศักยภาพให้ประเทศสมาชิก ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และ ไทย มีบทบาทในการกำหนดราคายางธรรมชาติในระดับ โลก ล่าสุดไทยได้นำเสนอ รูปแบบการซื้อขายยางแบบมีข้อตกลงส่งมอบจริงตามสัญญาที่กำหนด (PhysicalForward Contract Market : PFCM) ซึ่งไทยอยู่ระหว่างพัฒนาระบบและจะเริ่มเปิดตลาดในช่วงต้นปี 2556 ให้ ITRC พิจารณาแล้ว…
...ที่ประชุม ITRC สนใจรูปแบบตลาดกลางยางพารา รวมถึงกลไกในการควบคุมการบริหารงานตลาดกลางยางพาราที่ไทยดำเนินการอยู่ ซึ่งจะนำจุดเด่นดังกล่าวมาใช้ในการพัฒนาตลาดยางพาราระดับภูมิภาค โดยให้ประเทศสมาชิกพิจารณารูปแบบการดำเนินการตลาดกลางยางพาราของไทย เพื่อสร้างความพร้อมของทั้ง 3 ประเทศ จากตลาดที่มีการส่งมอบจริงให้สำเร็จในขั้นต้น ก่อนพัฒนาไปสู่ตลาดยางพาราล่วงหน้า ตลาดยางระดับภูมิภาคต่อไป และเชื่อมโยงกับระบบตลาดยางธรรมชาติระดับโลกในอนาคต
จาก dailynews.co.th