<กลับหน้าค้นข้อมูล
แจ้งลิงค์ในเนื้อหาเสีย
มารู้จักกัญชา กันเถอะ!!!
กัญชา เป็นพืชที่เราคุ้นชื่อมานานและรู้จักในนามของพืชต้องห้ามเพราะกฎหมายจัดว่าเป็นยาเสพติด ส่วนกัญชง ก่อนหน้านี้เราไม่คุ้นชื่อกันเท่าไหร่ แต่ช่วงหลัง ๆ ก็เริ่มได้ยินบ่อยจนคุ้นหูมากแล้วเหมือนกัน เนื่องจากรัฐบาลปัจจุบันได้ปลดล็อกให้ใช้ประโยชน์มากมายของพืช 2 ชนิดนี้ เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และเศรษฐกิจ
คำว่า ปลดล็อก ไม่ได้หมายความว่า พืช 2 ชนิดนี้ถูกถอดออกจากรายชื่อยาเสพติดแล้ว แต่หมายถึงการอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ได้ภายใต้กรอบกฎหมาย
กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศกระทรวง เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 (ฉบับที่ 2) เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2563 ให้บางส่วนของต้นกัญชาและกัญชงไม่จัดเป็นยาเสพติด
ส่วนต่าง ๆ ของกัญชาที่ไม่จัดเป็นยาเสพติด ได้แก่ เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน ราก ใบ ซึ่งไม่มียอดหรือช่อดอกติดมาด้วย สารสกัด CBD ที่มี THC ไม่เกินร้อยละ 0.2% และกากที่เหลือจากการสกัดกัญชา ซึ่งต้องมี THC ไม่เกิน 0.2%
ส่วนต่าง ๆ ของกัญชงที่ไม่จัดเป็นยาเสพติด ได้แก่ เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน ราก ใบ ซึ่งไม่มียอดหรือช่อดอกติดมาด้วย สารสกัด CBD ที่มี THC ไม่เกิน 0.2% เมล็ด น้ำมันหรือสารสกัดจากเมล็ด และกากที่เหลือจากการสกัดกัญชง ซึ่งต้องมี THC ไม่เกิน 0.2%
ประชาชน เอกชน สามารถใช้ประโยชน์จากส่วนเหล่านี้ของกัญชาและกัญชงได้ แต่มีข้อกำหนดว่าต้องได้มาจากสถานที่ปลูกหรือผลิตในประเทศ ซึ่งได้รับอนุญาตแล้วเท่านั้น กรณีการนำเข้าสามารถนำเข้าได้ โดยขออนุญาตเป็นยาเสพติด ยกเว้นเปลือกแห้ง แกนลำต้นแห้ง และเส้นใยแห้ง ได้รับการยกเว้นไม่เป็นยาเสพติดตามประกาศนี้
กรณีกัญชงนั้นก้าวหน้าไปก่อนกัญชาแล้ว เพราะกระทรวงสาธารณสุขได้ออกกฎกระทรวง เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชง (Hemp) พ.ศ. 2563 ให้ขออนุญาตปลูก ผลิต ส่งออก จำหน่าย ครอบครองได้ตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม 2564 ส่วนการนำเข้าเมล็ดพันธุ์กัญชงเข้ามาปลูกจะสามารถทำได้ภายใน 5 ปี นับตั้งแต่กฎกระทรวงฉบับนี้บังคับใช้
ทราบเรื่องทางกฎหมาย-การอนุญาตให้ใช้ประโยชน์กันแล้ว เรามาทำความรู้จักกัญชากับกัญชงกันต่อซิว่า มีความเหมือนและความต่างกันอย่างไร
อย่างที่เราเห็นกันว่า กัญชา กัญชง มีความคล้ายความเหมือนทั้งชื่อและรูปร่างหน้าตา จริง ๆ แล้ว กัญชาและกัญชงเป็นพืชที่มีต้นกำเนิดจากพืชชนิดเดียวกัน คือ Cannabis sativa L. ในวงศ์ Cannabidaceae จึงทำให้ลักษณะภายนอกแตกต่างกันน้อยมาก แต่หลังจากที่มีการนำพืชทั้ง 2 ชนิดนี้ไปใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง โดยในอดีตกัญชาถูกใช้เป็นยารักษาโรคและเพื่อการสันทนาการ ขณะที่กัญชงเป็นพืชที่นำเส้นใยมาใช้สำหรับการถักทอ จึงมีการคัดเลือกสายพันธุ์ที่ดีสุด ทำให้กัญชงและกัญชามีความแตกต่างกันเกิดขึ้น
กัญชา (Marijuana) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Cannabis sativa L.subsp. indica ต้นสูงไม่มากหากเทียบกับกัญชง โดยมีความสูงไม่เกิน 2 เมตร มีลักษณะเป็นต้นพุ่ม แตกกิ่งก้านสาขาค่อนข้างมาก ลำต้นเป็นปล้องหรือข้อสั้น ใบสีเขียวจัด มี 5-7 แฉก โดยจะเรียงชิดกัน จะออกดอกเมื่ออายุประมาณ 3 เดือน และช่อดอกมียางมาก
กัญชง (Hemp) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Cannabis sativa L.subsp. sativa โดยทั่วไปจะมีลำต้นสูงกว่ากัญชา หรือสูงมากกว่า 2 เมตร มีลักษณะลำต้นสูงเรียว แตกกิ่งก้านสาขาน้อย ปล้องหรือข้อยาว ใบสีเขียวอ่อน มีประมาณ 7-11 แฉก โดยใบมีการเรียงสลับค่อนข้างห่างอย่างชัดเจน กัญชงจะออกดอกเมื่ออายุมากกว่า 4 เดือน และช่อดอกมียางไม่มาก
การจะแยกแยะพืชสองพี่น้องนี้ด้วยตาเปล่า เราต้องจำลักษณะสำคัญของมันว่า กัญชาต้นเตี้ยและใบอ้วน ส่วนกัญชงต้นสูงและใบเรียว
นอกจากลักษณะทางกายภาพที่ค่อนข้างต่างกันแล้ว สารสกัดที่ได้จากพืชทั้ง 2 ชนิดก็มีปริมาณที่ต่างกันด้วย กัญชงและกัญชามีสารที่เรียกว่า THC (Tetrahydrocannabinol) และ CBD (Cannabidiol) ซึ่งสารเหล่านี้จะเป็นตัวแบ่งแยกพืชทั้ง 2 ชนิดนี้ออกจากกัน
THC เป็นสารที่ทำให้เมาหรือเคลิบเคลิ้ม พบได้มากในกัญชา โดยมีประมาณ 1-20% ส่วนกัญชงมีสารชนิดนี้น้อยกว่า 1% ในทางการแพทย์สาร THC มีประโยชน์ช่วยลดอาการปวด ช่วยเพิ่มความอยากอาหาร รักษาผลข้างเคียงจากการทำเคมีบำบัด แต่การใช้สารชนิดนี้ในการรักษาก็อาจจะทำให้ผู้ป่วยปากแห้ง ตาแห้ง หรือการตอบสนองช้าลงได้
ส่วนสาร CBD ซึ่งเป็นสารที่พบได้ในกัญชงมากกว่ากัญชา คือพบประมาณ 2% แต่ในกัญชามีสารชนิดนี้อยู่น้อยมาก เมื่อเสพสารชนิดนี้เข้าไปจะไม่มีอาการเมาหรือเคลิบเคลิ้มเหมือนกัญชา คุณสมบัติทางการแพทย์ของ CBD มีหลากหลาย ช่วยลดอาการปวด แก้อาการนอนไม่หลับ แก้อาการโรคลมชัก แม้จะใช้ในปริมาณมากก็ไม่มีผลข้างเคียง และสารนี้ยังนิยมนำมาใช้ในเครื่องสำอางและสกินแคร์ต่าง ๆ ด้วย
อีกประโยชน์หนึ่งของกัญชง คือ เป็นพืชที่ให้เส้นใยยาว เส้นใยมีความละเอียดใกล้เคียงกับลินิน มีความเหนียวทนทาน และมีความเงางาม ครบถ้วนคุณสมบัติเส้นใยชั้นดี จึงเป็นเส้นใยชนิดหนึ่งที่นิยมใช้ผลิตเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มกันมาเป็นเวลายาวนานแล้ว ในปัจจุบันผ้าที่ทอจากเส้นใยกัญชงมีราคาสูงและเป็นที่ต้องการมาก
ประโยชน์ของกัญชา
1.1การใช้กัญชาเพื่อบรรเทาหอบหืด ยาแก้หอบหืดทุกตัวมีข้อเสียคือมีข้อจำกัด ทั้งประสิทธิภาพและผลข้างเคียง เนื่องจากกัญชาขยายหลอดลมและลดการหดตัวของหลอดลม
1.2การใช้กัญชาในการรักษาต้อหิน คือ การรักษาตาต้อหิน ซึ่งเป็นสาเหตุอันดับสองที่ทำให้ คนตาบอดในสหรัฐ คนอเมริกาเกือบล้านที่ป่วยด้วยต้อหินที่รักษาได้ด้วยกัญชา กัญชาทำให้ความดัน ภายในลูกนัยน์ตาลดลงได้ดีหลายชั่วโมงในคนปกติและในคนที่ความดันลูกนัยน์ตาสูงจากต้อหิน การให้กัญชาทางปากหรือทางหลอดเลือดดำให้ผลเหมือนกัน ซึ่งขึ้นกับชนิดอนุพันธ์กัญชามากกว่า จะเกิดจากฤทธิ์กล่อมประสาทของกัญชา กัญชาไม่ได้รักษาโรคขาด แต่ช่วยยับยั้งการบอดไม่ให้เป็นมากขึ้น เมื่อยาทั่วไปไม่อาจช่วยได้ และการผ่าตัดเป็นเรื่องเสี่ยงเกินไป
1.3อนุพันธ์กัญชามีประโยชน์หลายอย่างในการบำบัดมะเร็ง อาจใช้เป็นสารกระตุ้นความ อยากอาหาร กัญชาจะช่วยชะลอน้ำหนักลดในผู้ป่วยมะเร็ง กัญชายับยั้งการเติบโตของเซลมะเร็งในสัตว์ทดลอง แต่ผลยังไม่เป็นที่สรุป และอนุพันธ์กัญชาอีกชนิดคือ cannabidiol ดูจะทำให้มะเร็งโตเร็วขึ้น บางทีกัญชาเมื่อใช้ร่วมกับยาอื่นอาจเป็นประโยชน์ในการป้องกันการโตของมะเร็ง แต่สิ่งที่กัญชาช่วยได้แน่ในการบำบัดมะเร็งคือการป้องกันการคลื่นไส้อาเจียนในผู้ป่วยที่รับเคมีบำบัด เกือบครึ่งของผู้ป่วยที่รับยาต้านมะเร็งต้องทุกข์จากการคลื่นไส้อาเจียนอย่างแรง ประมาณร้อยละ 25 ถึง 30 ของผู้ป่วยเหล่านี้ ยาแก้อาเจียนทั่วไปใช้ไม่ได้ผล อาการคลื่นไส้อาเจียนไม่เพียงแต่ ไม่น่าพอใจแต่ยังรบกวนประสิทธิภาพการบำบัดรักษาด้วย การอาเจียนอาจทำให้เกิดการฉีกขาด ของหลอดอาหารและซี่โครงหัก ทำให้ไม่ได้รับอาหารเพียงพอ และสูญเสียน้ำ
ด้วยประโยชน์ที่หลากหลาย ใช้งานได้เกือบทุกส่วน จึงไม่น่าแปลกใจที่ทั้งกัญชาและกัญชงกำลังได้รับความสนใจอย่างมาก ไม่ใช่แค่ในระดับรายย่อยเท่านั้น ได้ข่าวว่าบริษัทใหญ่ ๆ ก็กำลังสนใจโอกาสใหม่นี้เช่นกัน
ข้อมูลจาก
http://ไปที่..link..