<กลับหน้าค้นข้อมูล
แจ้งลิงค์ในเนื้อหาเสีย
โรคและแมลงของทานตะวัน
โรคของทานตะวัน มีดังนี้
1.โรคโคนเน่าหรือต้นเน่า เกิดจากเชื้อราในดิน จะระบาดมากฤดูฝนหรือช่วงที่มีน้ำค้างและความชื้นสูง อาการเริ่มแรก จะพบใบมีสีเหลือง เหี่ยว และแห้งตายทั้งต้น เมื่อถอนต้นขึ้นมาดู จะพบว่าโคนต้นและรากเน่าเป็นสีน้ำตาลหรือดำ พบเส้นใยสีขาวอยู่ตามโคนต้นและดิน การป้องกัน ต้องไม่ปลูกให้ชิดกันเกินไปเพื่อไม่ให้เกิดการบังแสง เมื่อพบต้นที่เป็นโรคให้ตัดทำลายทิ้งนำไปเผา จากนั้นใช้ปูนขาวผสมน้ำราดลงไปในดินอีกครั้ง และอาจใช้วิธีปลูกพืชชนิดอื่นหมุนเวียน เพื่อตัดวงจรของโรค โดยให้ปรับปรุงดินด้วยปูนขาวและปุ๋ยคอก
2.โรคใบจุดหรือใบไหม้ เกิดอาการใบจุดเล็กสีน้ำตาล มีวงสีเหลืองล้อมรอบแผล จุดที่ขยายใหญ่มีรูปร่างไม่แน่นอน และทำให้เกิดใบไหม้ ต่อมาแผลจุดจะแพร่กระจายไปทุกส่วนของต้น โรคนี้เกิดจากเชื้อรา ระบาดมากช่วงฤดูฝนหรือช่วงที่มีน้ำค้างมาก หากเป็นมากจะไม่ให้ผลผลิตเลย การป้องกัน ให้หลีกเลี่ยงการเก็บเมล็ดพันธุ์ที่เป็นโรคไปปลูกและตัดทำลายต้นที่เป็นโรคทิ้ง ควรกำจัดซากที่เป็นโรคด้วยการเผาหรือนำออกจากแปลง
3.โรคเน่าดำ โรคนี้จะทำให้ลำต้นมีขนาดเล็กกว่าปกติ ใบเหี่ยวลู่ลงแห้งติดคาต้น ลำต้นส่วนที่ติดผิวดิน เกิดแผลสีน้ำตาลดำลุกลามจากโคนต้นไปตามส่วนต่างๆ ของลำต้นและราก เมื่อผ่าดูภายในจะพบฝุ่นผงเมล็ดกลมเล็กสีดำ หรือเทาดำ กระจายอยู่ในเนื้อเยื่อพืชทั่วทุกส่วน และปิดกั้นขวางทางลำเลียงน้ำและอาหาร ทำให้ต้นทานตะวันเหี่ยวแห้งตาย ให้ทำการถอนและเผาทำลายต้นทานตะวันที่เป็นโรคนี้ ไม่ควรปล่อยให้ต้นทานตะวันขาดน้ำรุนแรงในช่วงที่อากาศร้อนจัด และความชื้นในดินต่ำ
4.โรคใบหงิก จะมีลักษณะใบหงิกงอเป็นรูปถ้วยหงาย ตั้งแต่ใบยอดลงมาจนถึงกลางต้น ด้านล่างใบ จะพบลักษณะของเส้นกลางใบและเส้นแขนงโป่งพองจนเห็นได้ชัด บริเวณเนื้อใบจะมีเส้นใบฝอยสีเขียวเข้มกระจายทั่วไป ทำให้ใบหดย่น ต้นแคระแกร็นจนไม่สามารถให้ดอก ในกรณีที่ให้ดอก ดอกอาจมีรูปร่างผิดปกติ เมื่อพบทานตะวันที่เป็นโรค ให้ถอนออกจากแปลงปลูก แล้วนำไปเผาทิ้ง
แมลงศัตรูที่สำคัญ และการป้องกันกำจัด
1.หนอนเจาะสมอฝ้าย หนอนกระทู้ผัก และหนอนม้วนใบส้ม หนอนเหล่านี้ จะกินเมล็ด และเจาะจานดอก ทำให้ดอกเน่าเสียหาย มีการทำลายที่รุนแรงมาก และผลผลิตจะเสียหายมาก การป้องกันกำจัด วิธีที่ดีที่สุดคือ ดูแลรักษาต้นทานตะวันให้เจริญเติบโตสมบูรณ์แข็งแรง หมั่นกำจัดวัชพืชทำความสะอาดต้น ด้วยการนำใบแก่ที่ร่วงหล่นออกไปให้พ้นบริเวณต้น กำจัดต้นที่เป็นโรคไปเผาทำลาย หรือฉีดพ่นน้ำหมักสะเดา หรือสมุนไพรอื่นๆ ที่มีฤทธิ์ในการป้องกันและกำจัดแมลงศัตรูพืช เช่น ตะไคร้หอม ข่า ฟ้าทะลายโจร พริกขี้หนู หรือน้ำหมักชีวภาพ เพื่อขับไล่แมลงศัตรูพืชทุกๆ สัปดาห์ ควรทำในช่วงเช้า หรือหลังฝนตกหนัก และควรมีการปลูกพืชหมุนเวียนบำรุงดินชนิดอื่น เพื่อตัดวงจรของโรคแมลง
2.เพลี้ยจักจั่น ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยชอบดูดกินน้ำเลี้ยงที่ด้านใต้ใบ ทำให้ใบพืชหด หงิกงอ ขอบใบม้วนขึ้นด้านบน ถ้าระบาดรุนแรงจะทำให้ขอบใบแห้ง หรือใบไหม้ ผลผลิตลดลง
การป้องกันกำจัดวัชพืช ก็เป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันโรคและแมลงต่างๆ ด้วย ให้เก็บเศษซากวัชพืชออกจากแปลงให้หมด ตลอดช่วงของการปลูก ตั้งแต่ก่อนปลูกทานตะวัน จนถึงการเก็บเกี่ยว อาจใช้แรงงานคน หรือเครื่องจักรกล ทำได้เมื่อทานตะวันอายุ 20-25 วัน แล้วให้คลุมดินด้วยเศษซากพืชหรือฟางข้าวทันที อย่างทั่วถึง นะคะ
ข้อมูลจาก
http://ไปที่..link..