<กลับหน้าค้นข้อมูล
แจ้งลิงค์ในเนื้อหาเสีย
ความรู้ด้านการเกษตร ดอกทานตะวันสีแดง
ทานตะวันสีแดง Helianthus Sunflower Jerusalem artichoke Sunroot Red
ชื่อวงศ์ COMPOSITAEทานตะวันสีแดง
ดอกทานตะวันมีถิ่นกำเนิดในอเมริกาตะวันตก ได้นำเข้ามาปลูกในประเทศไทยสมัยอยุธยา เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2199 ต่อมาก็ได้มีการแพร่กระจายทั่วไป ทานตะวันเป็นพืชล้มลุกอายุสั้น เป็นพืชตระกูลถั่วเช่นเดียวกับเบญจมาศ คำฝอย ดาวเรือง และบัวตอง สามารถทนต่อความแห้งแล้งได้ดี ต้องการน้ำน้อย ชอบแสงแดดจัดๆ ทานตะวันเป็นทั้งพืชเศรษฐกิจที่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ และด้วยดอกที่มีความสวยงามสะดุดตา จึงทำให้ทุ่งทานตะวันได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้อีกทางหนึ่ง
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้นของทานตะวันสีเหลืองโดยทั่วไปจะมีลักษณะตรง และสูงประมาณ 3-4 ฟุต หรืออาจสูงได้ถึง 6 ฟุตถ้าปลูกในสถานที่ที่มีอากาศหนาวเย็น แต่สำหรับทานตะวันดอกสีแดงจะมีลำต้นสูงได้ถึง 45-300 ซม. เลยทีเดียว
ใบของทานตะวันมีลักษณะเป็นรูปกลมรี ออกเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับกัน ขอบใบเป็นหยักแบบฟันเลื่อย ปลายใบแหลม มีความกว้างประมาณ 4-8 นิ้ว และยาวประมาณ 1 ฟุต
ดอกมีขนาดใหญ่ ใน 1 ต้นจะมีดอกประมาณ 5 ดอก ซึ่งแตกต่างจากสีเหลืองที่มีต้นละ 1 ดอก เมื่อดอกบานเต็มที่แล้วจะมีความกว้างประมาณ 5-10 นิ้ว มีกลีบดอกสีแดงแผ่บานเป็นวงกลม และมีเกสรรูปวงกลมเกือบเท่าตัวดอกอยู่บริเวณกลางดอกสามารถมองเห็นได้ชัดเจน ซึ่งภายในดอกก็มีเมล็ดอยู่มากมาย
การขยายพันธุ์
สามารถทำได้ด้วยการเพาะเมล็ด โดยให้อยู่ในอุณหภูมิประมาณ 21-30 องศาเซลเซียส เมล็ดจะงอกขึ้นมาภายในระยะเวลา 10 วัน ดินที่เหมาะกับการปลูกทานตะวันคือ ดินร่วนปนทราย ที่มีการระบายน้ำได้ดี นิยมปลูกหลังจากฤดูฝน เหมาะแก่การปลูกทดแทนพืชชนิดอื่น เนื่องจากทนต่อสภาพอากาศที่แห้งแล้งได้ดี ต้องการน้ำน้อย และชอบแสงแดดจัดๆ
การเตรียมดิน
ก่อนปลูกให้ไถพรวนดินตากทิ้งไว้ประมาณ 7 วัน ต่อจากนั้นให้ไถพรวนดินให้ละเอียดอีกครั้ง แล้วยกร่องทำแปลงปลูกแบบแถวเดียวหรือแถวคู่ก็ได้ โดยให้แปลงปลูกมีความกว้างประมาณ 1.5 เมตร
วิธีการปลูก
ใช้หลุมปลูกที่ลึกประมาณ 4-5 ซม. โดยใน 1 หลุม ให้หยอด 2 เมล็ด ใช้ระยะปลูกประมาณ 75×25 ซม. แล้วใช้ดินกลบให้มิดชิด เมื่อเมล็ดงอกและมีอายุได้ 10 วัน ควรถอนให้เหลือต้นกล้าเพียงหลุมละ 1 ต้น
การใส่ปุ๋ย
ใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 หรือ 16-16-8 ในอัตราไร่ละ 50 ก.ก. โดยแบ่งใส่เป็น 2 ครั้ง ครั้งแรกให้ใส่รองก้นหลุมพร้อมการปลูก 25 ก.ก. ส่วนที่เหลืออีก 25 ก.ก. ให้ใช้ร่วมกับปุ๋ยสูตร 21-0-0 ในอัตราไร่ละ 50 ก.ก. หลังจากต้นกล้ามีอายุได้ 20-25 วัน โดยให้โรยข้างแถวแล้วกลบให้มิดชิด หรือจะใช้สูตร 16-8-8 ในอัตราไร่ละ 60-70 ก.ก. แบ่งใส่เป็น 2 ครั้งเท่าๆ กัน โดยใส่ครั้งแรกเพื่อรองก้นหลุมพร้อมการปลูก ส่วนครั้งที่ 2 ใส่โรยข้างแถวแล้วพรวนกลบหลังจากต้นกล้ามีอายุได้ 20-25 วันแล้ว
การให้น้ำ
ควรให้น้ำทุกๆ 10-14 วัน ในปริมาณ 30-35 มิลลิเมตร/ครั้ง หลังจากที่ดอกบานได้ประมาณ 20-25 วันแล้วจึงค่อยหยุดให้น้ำ ไม่ควรปล่อยให้น้ำท่วมแปลงปลูกเกิน 24 ชั่วโมง
การปลูกทานตะวันสีแดงต้องมีการจัดการเรื่องน้ำ ดิน ปุ๋ย และเมล็ดเป็นอย่างดี เพราะไม่เหมือนกับการปลูกดอกทานตะวันทั่วไป แต่ก็เป็นสิ่งที่สามารถควบคุมได้ ส่วนเรื่องสภาพดินฟ้าอากาศที่ร้อนมากไป หรือมีฝนตกชุกมากเกินไปก็เป็นสิ่งที่ไม่สามารถควบคุมได้ สิ่งนี้จึงเป็นปัญหาที่น่าเป็นห่วงสำหรับการปลูกทานตะวันดอกแดงอีกกรณีหนึ่ง
ดอกทานตะวันสีแดงต้องการความดูแลเอาใจใส่ในทุกๆ เรื่องมากกว่าทานตะวันสีเหลือง และเมล็ดพันธุ์ก็มีราคาค่อนข้างแพงด้วย จำเป็นต้องคอยฉีดยาฆ่าแมลงและให้การดูแลทั้งเช้า-เย็น ส่วนทานตะวันดอกเหลืองให้การดูแลสัปดาห์ละครั้งก็เป็นการเพียงพอแล้ว
ตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นไป เกษตรกรก็มักทำการเพาะปลูกทานตะวัน เมื่อมีอายุครบ 55-60 วัน ก็จะเริ่มบานและให้เมล็ด ดอกทานตะวันจะเริ่มแห้งหลังจากบานได้ 15 วันแล้ว หลังจากนั้นเกษตรกรก็จะทำการเก็บเกี่ยวเมล็ดทานตะวันที่แห้งคาต้นอยู่ แหล่งที่ปลูกทานตะวันมากที่สุดในประเทศไทยคือบริเวณจังหวัดลพบุรี และสระบุรี
ประโยชน์จากเมล็ดทานตะวัน
คุณค่าทางอาหารในเมล็ดทานตะวันมีอยู่อย่างมากมายคือ โปรตีน แป้ง เกลือแร่ และกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัว เช่น กรดลิโนเลอิค กรดอาซิโนอิค และยังมีธาตุเหล็ก แคลเซียม ฟอสฟอรัส วิตามินเอ เค บี2 อี และดี ที่มีความจำเป็นต่อร่างกาย ช่วยลดปัญหาโรคไขมันในเส้นเลือดอุดตัน น้ำมันที่สกัดได้จากเมล็ดทานตะวันสามารถนำไปบริโภคในรูปของน้ำมันสลัด หรือใช้ปรุงอาหารได้ หรือจะนำเมล็ดทานตะวันไปแปรรูปทำเป็นเมล็ดทานตะวันอบแห้ง คุ้กกี้ ข้าวเกรียบ ข้าวตัง น้ำผึ้ง นมผึ้ง เกสรผึ้ง เนยเทียม สบู่ หรือสีน้ำมันขัดเงา ก็ได้เช่นกัน
ข้อมูลจาก
http://ไปที่..link..