<กลับหน้าค้นข้อมูล
แจ้งลิงค์ในเนื้อหาเสีย
สายพันธุ์มันเทศ มันเทศมีกี่สายพันธุ์
มันเทศ ในปัจจุบันมากความหลากหลายมากขึ้น ตามร้านค้าจะมีมันเทศที่มาจากต่างประเทศมากมาย เช่น มันเทศจากญี่ปุ่น มันเทศจากเกาหลี มันเทศจากไต้หวัน มันเทศจากจากอินโดนีเซีย มีหลายสายพันธุ์ หลายสี เช่น เนื้อสีขาว สีเหลือง สีส้ม สีม่วง มีราคาสูง และรสชาติดีกว่ามันเทศสายพันธุ์ไทยดั้งเดิม ที่นับวันจะหายากมากขึ้น เพราะขาดการดูแล ขาดการอนุรักษ์ และพัฒนาสายพันธุ์ที่ดี รสชาติพันธุ์ดั้งเดิมในไทยและต่างประเทศจะแตกต่างกัน หรือแม้แต่สายพันธุ์เดียวกันปลูกพื้นที่ต่างกัน สภาพดิน อากาศต่างกัน การดูแลรักษาที่ต่างกัน จะทำให้รสชาติและคุณภาพแตกต่างกันได้
สายพันธุ์มันเทศที่นิยม มีดังนี้
1.พันธุ์โอกุด เป็นมันเทศที่มีเถาเลื้อยยาวพอควร ใบเป็นแฉก เนื้อในสีเหลืองอ่อน เป็นพันธุ์ที่นิยมรับประทานกันมาก
2.พันธุ์ไทจุง มีเถาไม่เลื้อยมากนัก ลำต้นลักษณะคล้ายทรงพุ่ม ใบเป็นแฉก หัวรูปร่างคล้ายรูปไข่ เนื้อในมีสีเหลือง เมื่อนำไปต้มหรือนึ่งเนื้อจะไม่เละ
3.พันธุ์ห้วยสีทน 1 เป็นพันธุ์ที่มีเถาเลื้อยยาว ใบกว้างพอประมาณ เนื้อในสีแดง และมีรสหวาน
การเตรียมดินปลูก ให้ไถพรวนดินลึก ประมาณ 25-30 เซนติเมตร แล้วทำการตากดินกับแดดแรงๆ 7-10 วัน จากนั้นให้ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักที่สลายตัวดีแล้ว ประมาณ 1.5-2 ตันต่อไร่ ทำการพรวนดินหรือย่อยดิน และให้ใส่ปูนขาว คลุกเคล้าให้เข้ากัน เพื่อปรับสภาพความเป็นกรดเป็นด่างของดินด้วย แล้วทำการยกร่อง และปลูกบนสันร่อง
การปลูก ให้จัดระยะปลูกระหว่างต้น 30-50 เซนติเมตร ระหว่างแถว 100 เซนติเมตร โดยขุดหลุมบนสันร่องตามระยะปลูก ใช้ท่อนพันธุ์วางทำมุมกับพื้น ประมาณ 40-60 องศา ลึกลงไปในดินประมาณ 8-10 เซนติเมตร แล้ว กลบดินด้วยดินผสมหรือดินละเอียด จากนั้นรดน้ำให้ชุ่ม
การให้น้ำ ในระยะแรกที่ปลูก ต้องให้น้ำจนกว่าต้นจะสามารถตั้งตัวได้ หรือเจริญเติบโตดี แล้วสามารถงดการให้น้ำได้ เพราะมันเทศเป็นพืชทนแล้งได้ดี และควรงดการให้น้ำก่อนการเก็บเกี่ยว ประมาณ 3-4 สัปดาห์ เพื่อสะดวกในการขุดหัว มันเทศ
การใส่ปุ๋ย ในครั้งแรก ให้ใส่รองก้นหลุม โดยใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่ ในครั้งที่ 2 เมื่อต้นมันอายุได้ประมาณ 15 วัน และ ครั้งที่ 3 เมื่อมันอายุได้ 30 วัน ในอัตรา 50-100 กิโลกรัมต่อไร่ ตามความอุดมสมบูรณ์ของดิน แล้วทำพรวนดินกลบโคนต้นทุกครั้ง
การเก็บเกี่ยว มันเทศมีอายุการเก็บเกี่ยว ประมาณ 90-150 วัน แล้วแต่พันธุ์ที่ปลูก โดยสังเกตจากผิวต้นบริเวณโคนต้นมันเทศ จะแตกแยกออกเป็นรอย หรือทดลองขุดดูสัก 2-3 ต้น ใช้มีดตัดหัวมันเทศ ถ้าแก่เต็มที่รอยตัดจะมียางไหลซึมออกมา และแห้งไปอย่างรวดเร็ว การขุดต้องระมัดระวังอย่าให้บอบช้ำ หรือมีรอยแผล จะเสียราคา นำหัวที่ขุดมาไปผึ่งลมให้ดินที่ติดมาแห้ง และหลุดร่วงไป ทำความสะอาด คัดขนาด บรรจุถุงรอการจำหน่ายต่อไป
การดูแลรักษา โรคของมันเทศ ได้แก่ โรคใบจุด โรคหัวเน่า ควรฉีดพ่นน้ำยาฉุนผสมน้ำสะเดา และรอยตัดที่หัว หรือที่เป็นแผล ให้ทาด้วยปูนแดงให้ทั่ว เพื่อป้องกันไม่ให้ลุกลามต่อไป ส่วนแมลงนั้นได้ แก่ ด้วงงวง หนอนชอนใบ ควรฉีด พ่นด้วยน้ำยาฉุนผสมน้ำสะเดาเช่นกัน