<กลับหน้าค้นข้อมูล
แจ้งลิงค์ในเนื้อหาเสีย
หนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด (Fall Armyworm)
หนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด (Fall armyworm : Spodoptera frugiperda JE Smith) เป็นศัตรูสำคัญของข้าวโพด เดิมระบาดในทวีปอเมริกา ระบาดสู่แอฟริกาในปี 2559 และกลางปี 2561 มีรายงานการระบาดในอินเดีย ปลายปี 2561 เริ่มพบระบาดในประเทศไทย
วงจรชีวิตของหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด ใช้เวลา 30-40 วัน เมื่อผสมพันธุ์แล้ว ผีเสื้อเพศเมียจะวางไข่ในเวลากลางคืน โดยวางไข่เป็นกลุ่ม ประมาณ 100-200 ฟอง มีขนปกคลุมไข่ ผีเสื้อเพศเมียหนึ่งตัววางไข่ได้ประมาณ 1_500-2_000 ฟอง ระยะไข่ 2-3 วัน หนอนมี 6 วัย ระยะหนอน 14-22 วัน หนอนที่โตเต็มที่มีขนาดลำตัวยาว 3.2-4.0 เซนติเมตร จะทิ้งตัวลงดินเพื่อเข้าดักแด้ ระยะดักแด้ 7-13 วัน จึงเป็นตัวเต็มวัย มีชีวิต 10-21 วัน สามารถบินเคลื่อนย้ายระหว่างแปลง และอพยพระยะไกลระหว่างประเทศ หรือภูมิภาคได้
ลักษณะการทำลาย
ผีเสื้อหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด เริ่มวางไข่บนต้นข้าวโพด ตั้งแต่ข้าวโพดงอก อายุ 3-4 วัน โดยพบกลุ่มไข่ทั้งด้านบนใบ ใต้ใบ และที่ลำต้น หลังจากฟักจากไข่ หนอนขนาดเล็กจะรวมกลุ่มกัดกินผิวใบ เริ่มเห็นรอยทำลายสีขาวที่ผิวใบเมื่อข้าวโพดอายุ 6-7 วัน (10-11 วันหลังปลูก) ลักษณะเป็นจุดหรือเป็นแถบสีขาว หนอนตัวเล็กที่เพิ่งฟักสามารถกระจายไปยังต้นข้างเคียงโดยปลิวไปกับลม หนอนวัย 3-6 เป็นระยะที่ทำความเสียหายมาก กัดกินอยู่ในยอดข้าวโพด ทำให้ใบขาดเป็นรู เว้าแหว่ง ยอดกุด ระยะก่อนที่ดอกตัวผู้จะโผล่หนอนจะกัดกินเกสรตัวผู้ หลังจากใบยอดคลี่ทั้งหมด ดอกตัวผู้โผล่พ้นใบที่หุ้มอยู่ หนอนจะย้ายไปที่ฝัก กัดกินไหม และเจาะเปลือกหุ้มฝักเข้าไปกัดกินภายในฝัก
ปกติหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด จะทำลายใบ อยู่ในยอดข้าวโพด ในกรณีที่อากาศร้อนจัด ก่อนเข้าสู่ฤดูฝน (เดือนกุมภาพันธ์-เมษายน) อุณหภูมิ 36-41 องศา หรือ ในช่วงที่มีอากาศร้อน แห้งแล้ง ฝนทิ้งช่วง สภาพดังกล่าวนี้ หนอนที่มีอายุประมาณ 5 วัน มักจะหลบอาศัยใต้ผิวดิน กัดกินเนื้อเยื่อเจริญส่วนโคนต้น ทำให้เกิดอาการยอดเหี่ยว (dead heart) ต้นตาย ต้นข้าวโพดที่ยอดตายบางต้นมักจะมีการแตกหน่อข้าง ถ้าดินมีสภาพเปียก แฉะ หรือ ถ้าช่วงที่มีอากาศเย็นตอนที่ปลูกข้าวโพดฤดูแล้งหลังนา หนอนมักจะไม่ลงมาทำลายใต้ดินบริเวณโคนต้น มักไม่พบอาการยอดเหี่ยว หรือพบน้อย การคลุกเมล็ดด้วยสารเคมีป้องกันกำจัดแมลงก่อนปลูก สามารถลดปัญหาการลงมาเจาะที่โคนต้นได้เมื่อเทียบกับการไม่คลุกเมล็ด
การปลูกข้าวโพดในฤดูฝน หากมีการกระจายของฝนดี ฝนตกต่อเนื่องอย่างสม่ำเสมอ ความรุนแรงในการระบาดของหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดจะลดลง ฝนที่ตกหนักจะชะกลุ่มไข่ หรือ หนอนขนาดเล็กที่เพิ่งฟัก หรือทำให้หนอนที่อยู่ในดินซึ่งกำลังจะเข้าดักแด้ รวมทั้งดักแด้ที่อยู่ในดินมีชีวิตรอดน้อยลง ทำให้สามารถเว้นระยะห่างในการพ่นสารและลดจำนวนครั้งในการพ่นสารลงได้ อย่างไรก็ตามควรมีการติดตามสำรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ
ช่วงที่ต้องมีการป้องกันกำจัดหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดคือระยะตั้งแต่ข้าวโพดงอกจนถึงอายุประมาณ 30-43 วัน เนื่องจากเป็นช่วงที่มีการระบาดสูงที่สุด และเป็นช่วงที่ข้าวโพดฟื้นตัวได้ หลังจากช่วงนี้ไปแล้วการระบาดลดลงตามธรรมชาติ (Oliveira et al._ 1995) ประกอบกับศัตรูธรรมชาติเริ่มมีปริมาณมากขึ้น การป้องกันกำจัดในช่วงดังกล่าวจะลดปริมาณหนอนที่จะเข้าทำลายในระยะติดฝักซึ่งเป็นระยะที่ข้าวโพดต้นสูง การพ่นสารทำได้ยาก ไม่ปลอดภัย และไม่มีประสิทธิภาพในการกำจัดหนอนที่เจาะอยู่ในฝัก
ในข้าวโพด พบว่าผีเสื้อหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด มาวางไข่บนใบข้าวโพดอย่างต่อเนื่อง โดยจะวางไข่มากในช่วง ระยะ 3 สัปดาห์แรกหลังจากข้าวโพดงอก เกษตรกรที่ปลูกข้าวโพด จึงควรหมั่นสำรวจแปลงหลังจากข้าวโพดงอก สังเกตกลุ่มไข่ และรอยทำลายสีขาวที่ผิวใบ เมื่อพบต้นถูกทำลาย จนมีรอยกัดขาดเป็นรู ป้องกันกำจัดตามคำแนะนำของสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร เน้นพ่นสารลงในกรวยยอด
อ้างอิง
http://www.farmkaset..link..