<กลับหน้าค้นข้อมูล
แจ้งลิงค์ในเนื้อหาเสีย
มอดดิน ศัตรูข้าวโพดในภาวะแล้ง
มอดดิน ( Ground weevil : Calomycterus sp.)
ทำลายพืชในระยะตัวเต็มวัยเท่านั้น ระบาดในสภาพแล้งจัด
โดยทั่วไปมอดดินชอบอาศัยในดินและมีสีกลมกลืนกับสีดินจึงได้ชื่อว่ามอดดิน แต่มีรูปร่างลำตัวอ้วนป้อมสั้น และมีปากงุ้มลงคล้ายงวงช้าง เกษตรกรจึงนิยมเรียกว่ามอดช้าง
ลักษณะการทำลาย
กัดกินใบและลำต้นอ่อนของข้าวโพด รวมทั้งเมล็ดที่เพิ่งงอก ทำให้ต้นกล้าเสียหายถึงตายได้ ต้นที่รอดจากการทำลายจะแตกแขนง ชะงักการเจริญเติบโตทำให้ข้าวโพดแก่ไม่พร้อมกัน ฝักลีบเล็กหรือไม่ติดเมล็ด เกษตรกรมักจะไม่สามารถแก้ไขเมื่อเกิดการระบาดของแมลงชนิดนี้ จำเป็นต้องไถทิ้งและปลูกใหม่ มักประสบปัญหานี้ในสภาพฝนแล้ง ซึ่งเป็นการเพิ่มระดับความเสียหายจากแมลงชนิดนี้รุนแรงมากยิ่งขึ้น
รูปร่างลักษณะและชีวประวัติ
มอดดินในระยะไข่มีลักษณะกลมรีสีขาว ผิวเรียบ วางเป็นฟองเดี่ยวๆ ระยะไข่เฉลี่ย 6.8 วัน หนอนมีรูปร่างงอเป็นรูปตัว C ไม่มีขา หนอนที่โตเต็มที่มีความกว้างของหัวกะโหลกเฉลี่ย 0.75 มิลลิเมตร ความยาวลำตัวเฉลี่ย 6.5 มิลลิเมตร
ระยะหนอน เฉลี่ย 45 วัน ดักแด้ มีรูปร่างแบบ exarate pupa คือขาและปีกเคลื่อนไหวได้เป็นอิสระไม่ติดกับลำตัว มีสีขาวครีม ระยะดักแด้ เฉลี่ย 5 วัน
ตัวเต็มวัย เป็นด้วงงวงขนาดเล็ก ลำตัวป้อม มีสีดำปนน้ำตาลและเทา มีขนาดความกว้างของลำตัวเฉลี่ย 2.22 มิลลิเมตร ความยาวลำตัวเฉลี่ย 3.5 มิลลิเมตร กลางวันพบเดินอยู่ทั่วๆ ไปในแปลง หรือหลบอยู่ใต้ดินแถวโคนต้นพืชหรือเศษซากพืช โดยเฉพาะตามกอต้นอ่อนของข้าวโพดที่งอกจากฝักที่หลงตกค้างอยู่ ตัวเต็มวัยเริ่มออกหากินในเวลาพลบค่ำ พร้อมกับจับคู่ผสมพันธุ์กันไปด้วย ตัวเต็มวัยวางไข่ในดินและตัวหนอนจะอาศัยกินอินทรียวัตถุที่อยู่ในดินจนกระทั่งเข้าดักแด้
แหล่งข้อมูล: แมลงศัตรูข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และการป้องกันกำจัด เอกสารประกอบการฝึกอบรม หลักสูตร ระบบการปลูกพืชที่มีข้าวเป็นหลัก สถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน กรมวิชาการเกษตร
ที่มา
http://www.farmkaset..link..