<กลับหน้าค้นข้อมูล
แจ้งลิงค์ในเนื้อหาเสีย
ธาตุอาหารพืช
พืชเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวที่สามารถสร้างอาหารได้เอง คนและสัตว์ และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ต้องกินพืชเป็นอาหาร ถ้าปราศจากพืช สิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆ ไม่สามารถอยู่ได้
พืชมีความต้องการธาตุอาหารเพื่อดำรงชีวิต เช่นเดียวกับมนุษย์และสัตว์ พืชสร้างอาหารโดยการนำธาตุต่างๆ ที่มีอยู่ในน้ำ อากาศ และในดิน มาผ่านกระบวนการสังเคราะห์แสงที่ใบจะได้น้ำตาล แล้วพืชจะนำไปรวมกับแร่ธาตุชนิดอื่น ๆ ที่ดูดขึ้นมาจากดิน เพื่อสร้างแป้ง โปรตีน ไขมัน เอนไซม์ ฮอร์โมน ฯลฯ สำหรับใช้ในการเจริญเติบโตต่อไป (สมกับคำที่ว่าชีวิตเกิดจากดิน น้ำ ลม ไฟ)
จากการที่พืชดูดใช้ธาตุอาหารทั้งที่อยู่ในอากาศ ในน้ำ และในดิน เมื่อนำเนื้อเยื่อพืชไปวิเคราะห์ พบธาตุชนิดต่าง ๆ ถึง 92 ชนิด แต่มีความสำคัญและจำเป็นเพียง 17 ชนิด ที่ถูกจัดเป็นธาตุอาหารพืช จากคุณสมบัติที่สำคัญ ดังนี้ 1) พืชจะขาดไม่ได้ ถ้าขาดพืชจะตาย หรือเจริญไม่ครบชีพจักร 2) แต่ละธาตุทำหน้าที่เฉพาะในการเจริญเติบโตของพืช 3) แต่ละธาตุไม่สามารถทำหน้าที่ทดแทนกันได้
ธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืชมี 17 ชนิด โดย 3 ชนิด พืชได้รับมาจากน้ำ และอากาศ ประกอบด้วยคาร์บอน (C) พืชได้จากคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ ไฮโดรเจน (H) และ ออกซิเจน (O) พืชได้จากน้ำ ส่วนที่เหลืออีก 14 ชนิด เป็นแร่ธาตุที่อยู่ในดิน แบ่งตามความต้องการของพืชได้ดังนี้
1) ธาตุอาหารหลัก เป็นธาตุที่พืชต้องการในปริมาณมาก และดินมักจะขาด หรือมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของพืช ประกอบด้วย ไนโตรเจน (N_ เอ็น) ฟอสฟอรัส (P_ พี) โพแทสเซียม (K_ เค) ในการปลูกพืชถ้าดินขาด เราต้องเติมธาตุอาหารในรูปของปุ๋ย ซึ่งประกอบด้วยธาตุอาหาร 3 ตัวนี้เป็นหลัก
2) ธาตุอาหารรอง เป็นธาตุที่พืชใช้ในปริมาณน้อยกว่าธาตุอาหารหลัก ประกอบด้วย แคลเซ๊ยม (Ca) แมกนีเซียม (Mg) กำมะถัน (S) ดินส่วนใหญ่ยังไม่ขาด
3) จุลธาตุ เป็นธาตุอาหารที่พืชต้องการในปริมาณน้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับธาตุอาหารหลัก และธาตุอาหารรอง แต่พืชจะขาดไม่ได้เช่นกัน ประกอบด้วย เหล็ก (Fe) แมงกานีส (Mn) สังกะสี (Zn) ทองแดง (Cu) คลอรีน (Cl) โบรอน โมลิบดินัม (Mo) และนิเกิล (Ni)
เมื่อนำชิ้นส่วนของพืชไปวิเคราะห์ พบว่า 95 % ของน้ำหนักแห้ง ประกอบด้วย คาร์บอน ไฮโดรเจน และออกซิเจน ซึ่งพืชได้รับมาฟรีๆ จากน้ำและอากาศ ส่วนที่เหลืออีกเพียง 5 % เป็นแร่ธาตุที่เหลือ 14 ชนิด ที่ได้มาจากดิน ยกตัวอย่างเช่น ในผลผลิตข้าว 1_000 กก./ไร่ พบว่า เป็นส่วนของคาร์บอน ออกซิเจน และ ไฮโดรเจน ถึง 950 กก. ที่เหลืออีกเพียง 50 กก. ที่เป็นส่วนของแร่ธาตุที่อยู่ในดิน ซึ่งถ้าดินขาด เราจะเติมให้พืชในรูปของปุ๋ย (ให้สังเกตพืชที่โตในป่า บนเขา ตามข้างถนน ไม่เคยถูกใส่ปุ๋ย แต่ทำไมพืชเจริญเติบโตได้ดี เพราะ 95 % มาจากน้ำและอากาศ 5 % มาจากดิน พืชดูดขึ้นไปใช้ ใบแก่ร่วงลงดิน แล้วย่อยสลายกลับมาเป็นอาหารพืชใหม่ แต่ข้าวในนาธาตุอาหารติดออกไปกับเมล็ด และสูญเสียไปกับการเผาฟาง)
ในส่วนของธาตุอาหารที่พืชดูดใช้จากดิน (5 %) เมื่อนำชิ้นส่วนพืชไปวิเคราะห์ พบว่า ส่วนใหญ่เป็นธาตุไนโตรเจน 1.5 % ฟอสฟอรัส 0.1-0.4 % โพแทสเซียม 1-5 % กำมะถัน 0.1-0.4 % แคลเซียม 0.2-1 % และแมกนีเซียม 0.1-0.4 % ส่วนที่เหลือ คือ เหล็ก โบรอน แมงกานีส สังกะสี ทองแดง โมลิบดินัม คลอรีน และนิเกิล พืชมีความต้องการน้อยมาก (แต่ขาดไม่ได้) เช่น ความต้องการไนโตรเจนกับโมลิบดินัมต่างกัน 10_000 เท่า พืชต้องการแมกนีเซียมมากกว่าเหล็ก 40 เท่า เป็นต้น ดังนั้นคำแนะนำปุ๋ยในปัจจุบันจึงเน้นให้ใส่เฉพาะไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียมก่อน เพราะพืชต้องการมากและมีผลกระทบต่อผลผลิตมากกว่าตัวอื่น (ในบรรดาธาตุอาหารที่ได้จากดิน) และดินส่วนใหญ่มักจะขาด ส่วนธาตุอาหารชนิดอื่น ๆ พืชต้องการน้อย และดินส่วนใหญ่ยังไม่ขาด (แต่หลายพื้นที่เริ่มขาดแล้ว)
จะเห็นได้ว่าในการปลูกพืช เราต้องใส่ธาตุอาหารให้พืชอย่างมากที่สุดเพียง 5 % จากที่พืชต้องใช้ทั้งหมด แต่ปัจจุบันเราใส่ปุ๋ยตามความต้องการของพืช หรือว่า ใส่ตามความต้องการของเราเอง ?
โดย วีรวัฒน์ นิลรัตนคุณ
อดีตผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการผลิตพืชที่เหมาะสมกับพื้นที่ ภาคเหนือตอนล่าง
สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 2 กรมวิชาการเกษตร
ที่มา
http://www.farmkaset..link..
ฉีดพ่น FK-1 ที่ประกอบด้วย ธาตุอาหารพืชโดยตรง ธาตุหลัก ธาตุรอง ธาตุเสริม สารสังเคราะห์คลอโรฟิลล์ เพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช เสริมสร้างภูมิต้านทานต่อโรค และแมลง