<กลับหน้าค้นข้อมูล
แจ้งลิงค์ในเนื้อหาเสีย
การปลูกเสาวรส
ชนิดและพันธุ์เสาวรส โดยทั่วไปแล้วเสาวรสสามารถแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือชนิดผลสีม่วง และชนิดผลสีเหลืองซึ่งมีลักษณะที่แตกต่างกันคือ
1. เสาวรสชนิดผลสีม่วง (Passiflora edulis)
เสาวรสชนิดนี้ผิวผลจะเป็นสีม่วงผลมีลักษณะกลมหรือรูปไข่ ดอกสามารถผสมตัวเองได้ดีดอกจะบานในตอนเช้า ผลสุกมีรสหวานและกลิ่นหอมกว่าพันธุ์สีเหลือง แต่ผลมักจะมีขนาดเล็กกว่าคือเส้นผ่าศูนย์กลางผลประมาณ 4-5 เซนติเมตร น้ำหนัก 50-60 กรัมต่อผล
2. เสาวรสชนิดผลสีเหลือง (Deneger P. edulis Forma F. flavicarpa)
ลักษณะผิวผลจะมีสีเหลืองผลมีขนาดใหญ่กว่าชนิดผลสีม่วงคือเส้นผ่าศูนย์กลางผลประมาณ 6 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 80-120 กรัมต่อผล เนื้อในให้ความเป็นกรดสูงกว่าชนิดสีม่วง จึงมีรสเปรี้ยวมากและใช้แปรรูป เป็นหลัก
เสาวรสชนิดผลสีเหลืองดอกจะบานในตอนเที่ยงส่วนใหญ่ผสมตัวเองไม่ติดต้องผสมข้ามต้นแต่ต้นมีทนทานต่อโรคต้นเน่า เถาเหี่ยว โรคไวรัสและทนต่อไส้เดือนฝอยมากกว่าพันธุ์สีม่วงจึงนิยมใช้เป็นต้นตอในการเสียบกิ่งของพันธุ์ม่วง
พันธุ์เสาวรสรับประทานสด
เสาวรสพันธุ์รับประทานสดที่มูลนิธิโครงการหลวง คัดเลือกได้และส่งเสริมให้ปลูกเป็นการค้ามี 2 พันธุ์คือเสาวรสรับประทานสดเบอร์ 1 และเบอร์ 2 ซึ่งเป็นชนิดพันธุ์สีม่วงทั้ง 2 พันธุ์ โดยคัดเลือกได้เมื่อปี พ.ศ. 2539 จากต้นที่เพาะเมล็ดจากเสาวรสสายพันธุ์ไต้เหวัน
1. พันธุ์รับประทานสดเบอร์ 1
ลักษณะผลเป็นรูปไข่สีม่วงอมแดง เมื่อตัดขวางผลจะเห็นว่ามีลักษณะเป็น 3 พู เส้นผ่าศูนย์กลางผลประมาณ 5 เซนติเมตร น้ำหนักผลประมาณ 70-80 กรัมต่อผลรสชาติหวานอมเปรี้ยว มีกลิ่นหอม ความหวานเฉลี่ยประมาณ 16 Brix
2. พันธุ์รับประทานสดเบอร์ 2
ลักษณะโดยทั่วไปคล้ายกับพันธุ์เบอร์ 1 แต่สีผลจะเข้มและมีคุณภาพดีกว่าพันธ์เบอร์ 1 คือ รสชาติหวานและน้ำหนักต่อผลสูงกว่า โดยผลมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5-6 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 70-100 กรัมต่อผล ความหวานเฉลี่ยที่ประมาณ 17-18 Brix พันธุ์นี้เปลือกหนากว่าพันธุ์เบอร์ 1 จึงสามารถเก็บไว้ได้นาน
ปัจจุบันมูลนิธิโครงการหลวง ได้เน้นให้เกษตรกรที่ปลูกเสาวรสใช้พันธุ์รับประทานเบอร์ 2 สำหรับปลูกเป็นการค้าเนื่องจากลักษณะเด่นที่กล่าวไปแล้วข้างต้น สำหรับพันธุ์ที่ใช้แปรรูปทั้งสีม่วงและสีเหลืองก็สามารถปลูกเพื่อรับประทานผลสดได้แต่ราคาของผลผลิตจะต่ำกว่าตามคุณภาพของผลผลิต
การขยายพันธุ์เสาวรส
วิธีการขยายพันธุ์
การปลูกเสาวรสรับประทานสดจะแตกต่างจากเสาวรสโรงงานที่ปลูกด้วยต้นกล้าจากการเพราะเมล็ด คือ ต้องรักษาให้เผลผลิตมีคุณภาพและรสชาติดี ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากพันธุ์เดิม ดังนั้นการปลูกจึงจำเป็นต้องใช้ต้นกล้าที่ได้จากการเปลี่ยนยอดพันธุ์ดีโดยมีขั้นตอน ดังนี้
1. การเพาะเมล็ดสำหรับทำต้นตอ
ต้นตอที่ใช้ควรเป็นเสาวรสโรงงานชนิดพันธุ์สีเหลือง เนื่องจากมีความแข็งแรงและทนทานตอโรงแมลงได้ดี และเมล็ดที่จะนำมาเพราะควรคัดจากผลและต้นแม่ที่สมบูรณ์ไม่เป็นโรคไวรัส นำมาล้างเอารกที่หุ้มเมล็ดออก นำมาผึ่งให้แห้งแล้วจึงนำไปเพาะแต่ไม่ควรเก็บเมล็ดไว้นานเกินไปเพราะจะทำให้ความงอกลดลง
การเพาะเมล็ดสามารถทำได้ทั้งในภาชนะ เช่น ถุงพลาสติกและตะกร้าหรือในแปลงเพาะกล้าโดยวัสดุเพาะใช้ดิน ปุ๋ยหมัก ขี้เถ้าแกลบและขุยมะพร้าว ผสมกันในสัดส่วน 2:1:1:1 ใช้วิธีโรยเมล็ดเป็นแถวแล้วกลบด้วยวัสดุเพาะให้หน้าประมาณ 1 เซนติเมตร ระวังอย่าให้เมล็ดแน่นเกินไปเพราะจะทำให้เกิดโรคโคนเน่า ปกติเมล็ดที่เพาะจะงอกภายใน 7-10 วัน หลังจากต้นกล้ามีใบจริง 1 ใบ ซึ่งอายุประมาณ 15-20 วันหลังเพาะจึงย้ายลงถุงปลูกขนาด 2.5 x 6 นิ้ว หรือแปลงปลูก ถ้าเป็นฤดูฝนหรือสามารถให้น้ำได้ทั้งนี้ขึ้นกับว้าจะเปลี่ยนยอกดเป็นพันธุ์ดีในเรือนเพาะชำหรือในแปลงปลูก ในระหว่างการเพาะกล้านั้นต้องมีการพ่นยาป้องกันกำจัดมดที่จะทำลายเมล็ดและแมลงที่เป็นเพาหะของโรคไวรัส เช่น เพลี้ยไฟและไรแดงอยู่เสมอ เพื่อให้ต้นกล้าปลอดจากโรคไวรัสและต้องให้ปุ๋ยช่วยเพื่อให้ต้นกล้าเจริญเติบโตเร็วขึ้น โดยอาจจะให้ปุ๋ยทางใบหรือใช้ปุ๋ยสูตร 46-0-0 หรือ 21-0-0 ผสมน้ำรด หลังจากที่ต้นกล้ามีอายุประมาณ 2-3 เดือน จึงสามารถเปลี่ยนยอดเป็นพันธุ์ดีดได้
2. การเปลี่ยนยอดพันธุ์
เสาวรสเป็นพืชที่สามารถเปลี่ยนยอดได้ง่ายและทำได้ทุกฤดูกาล ซึ่งโดยทั่วไปแล้วสามารถทำได้ 2 แบบคือ การเปลี่ยนยอดพันธุ์ต้นกล้าในถุงก่อนนำไปปลูกและการนำต้นตอไปปลูกในแปลงก่อนแล้วจึงเปลี่ยนพันธุ์ภายหลัง
2.1 การเปลี่ยนยอดต้นกล้าที่ปลูกในถุง
การเปลี่ยนยอดแบบนี้มีข้อดีคือทำได้ง่ายและสะดวกในการปฏิบัติดูแลรักษา เนื่องจากทำได้ในพื้นที่จำกัดและสามารถคัดเลือกต้นกล้าที่มีความสมบูรณ์แข็งแรงสม่ำเสมอกันไปปลูก นอกจากนี้ยังให้ผลผลิตได้เร็วขึ้นจึงเป็นวิธีการที่แนะนำให้ใช้การเปลี่ยนยอดนิยมใช้วิธีเสียบลิ่ม (Cleft grafting) ซึ่งทำได้ 2 แบบคือ
2.1.1 การเปลี่ยนยอดแบบใช้ยอดอ่อน
การเปลี่ยนยอดแบบนี้งานพัฒนาและส่งเสริมไม้ผล มูลนิธิโครงการหลวงได้พัฒนาขึ้นเพื่อลดการติดโรคไวรัสของต้นกล้า ปรับปรุงคุณภาพของต้นกล้าให้แข็งแรงสมบูรณ์สม่ำเสมอมากขึ้น ลดระยะเวลาในการเลี้ยงต้นกล้าในถุงปลูกให้สั้นลง เพื่อให้ระบบรากไม่เสียและให้ต้นกล้าเจริญเติบโตได้ต่อเนื่องไม่ชะงัดการเจริญเติบโตหลังการเปลี่ยนยอด
ต้นตอที่เหมาะสำหรับเปลี่ยนยอดคืออายุ 1.5-2 เดือน หลังเพาะซึ่งจะมีใบประมาณ 5-7 ใบและต้นยังอ่อนอยู่ ทำการเตรียมแผลของต้นตอโดยตัดยอดให้เหลือใบ 3-4 ใบ ผ่าต้นตอลึก 1.5-2.0 เซนติเมตร นำยอดพันธุ์ที่เป็นปลายยอดอ่อน ความยาวประมาณ 5 เซนติเมตรมีใบ 2-3 ใบ มาปาดเป็นรูปลิ่มความยาวเท่ากับแผลของต้นตอ จากนั้นนำมาเสียบลงบนต้นตอผูกด้วยเชือกฟาง ยางยืดหรือใช้ตัวหนีบ เสร็จแล้วนำต้นใส่ไว้ในกระโจมพลาสติกเพื่อรักษาความชื้นไม่ให้ยอดเหี่ยว หลังจากนั้น 7 วัน ยอดพันธุ์ดีจะติดสามารถนำออกจากกระโจมและเลี้ยงให้แข็งแรงอีก 20-30 วันก่อนนำไปปลูก
2.1.2 การเปลี่ยนยอดแบบใช้ตาข้าง
การเปลี่ยนพันธุ์แบบนี้เป็นวิธีการที่ใช้อยู่เดิม ซึ่งมีวิธีการเช่นเดียวกับการเปลี่ยนยอดแบบใช้ยอดอ่อน แต่ต้นตอที่ใช้จะต้องมีอายุมากกว่าคือประมาณ 3-4 เดือน เพื่อให้ต้นตอมีขนาดใหญ่ใกล้เคียงกับยอดพันธุ์ดีที่ใช้ โดยตัดเถาให้มีตาข้าง 2 ตาและตัดใบออกให้เหลือครึ่งใบ ในกรณีที่ไม่มีกระโจมการเปลี่ยนยอดแบบนี้สามารถใช้ถุงครอบยอดเป็นต้นๆ ได้ หรือใส่ในกระโจมขนาดใหญ่ได้ เพราะไม่ต้องรักษาความชื้นให้สม่ำเสมอมากนัก
2.2 การเปลี่ยนยอดพันธุ์ในแปลงปลูก
วิธีการนี้จะทำหลังจากที่นำต้นตอลงไปปลูกในแปลงแล้ว ซึ่งมีข้อเสียคือยากแก่การเปลี่ยนพันธุ์และดูแลรักษาเนื่องจากใช้พื้นที่มาก แต่จะเหมาะสำหรับพื้นที่ปลูกที่อาศัยน้ำฝน เพราะสามารถปลูกต้นตอซึ่งมีความแข็งแรงกว่าต้นที่เปลี่ยนพันธุ์ลงไปก่อนในช่วงปลายฤดูฝนแล้วจึงทำการเปลี่ยนยอดพันธุ์ภายหลัง
การเปลี่ยนยอดสามารถทำได้ตั้งแต่หลังปลูกต้นตอไปแล้วประมาณ 1 เดือนจนกระทั่งเถาเจริญถึงค้างแล้ว โดยวิธีการเสียบลิ่ม (Cleft grafting) เช่นเดียวกับการเปลี่ยนพันธุ์ในถุงปลูก แต่กิ่งพันธุ์ที่นั้นจะเอาใบออกทั้งหมดและต้องคลุมด้วยถุงพลาสติกเพื่อรักษาความชื้นและหุ้มด้วยกระดาษป้องกันความร้อนจากแสงแดด นอกจากนี้ยังสามารถเปลี่ยนยอดพันธุ์ได้โดยวิธีการเสียบข้าง (Side grafting) ได้ หลังการเปลี่ยนยอดให้รักษาใบของต้นตอไว้แต่ต้องหมั่นปลิดยอดที่จะแตกจากตาข้างของต้นตอออก เพื่อไม่ให้แข่งขันกับยอดพันธุ์ดี
การวางแผนการขยายพันธุ์และการผลิตต้นกล้า
การขยายพันธุ์และผลิตต้นกล้าเสาวรสนั้นต้องมีการวางแผนให้สอดคล้องกับระยะเวลาที่ต้องการปลูก ฤดูกาลและนิสัยการเจริญเติบโตของเสาวรสโดยเฉพาะระยะเวลาให้ผลผลิต การวางแผนที่ถูกต้องจะทำให้เสาวรสให้ผลผลิตอย่างเต็มที่และเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาน้อยที่สุด โดยต้องวางแผนผลิตต้นกล้าให้มีอายุเหมาะสมพอดีเมื่อถึงเวลาปลูกที่ได้กำหนดไว้ว่าเหมาะสมสำหรับรูปแบบการปลูกต่างๆ เช่นปลูกแบบให้น้ำหรือการปลูกแบบอาศัยน้ำฝน การผลิตต้นกล้าเร็วเกินไปจะทำให้ต้องเลี้ยงต้นไว้ในถุงนานจะมีปัญหาระบบรากไม่ดีและต้นทุนการดูแลเพิ่มขึ้น การผลิตต้องล้าช้าก็จะทำให้ต้นกล้าไม่แข็งแรงสมบูรณ์พอเพียงกับระยะเวลาปลูกที่เหมาะสม
การปลูกเสาวรสรับประทานสด
เสาวรสรับประทานสดมีวิธีการปลูกและการปฏิบัติดูแลรักษาเช่นเดียวกับเสาวรสโรงงาน แต่ต้องเพิ่มความประณีตในการปฏิบัติดูแลรักษาบางอย่าง เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดียิ่งขึ้น ปกติแล้วเสาวรสเป็นพืชที่มีอายุยาวนานหลายปี แต่โดยทั่วไปแล้วมีการปลูกกัน 2 ระบบ คือ การปลูกแบบเก็บเกี่ยว 1 ฤดูกาลต่อการปลูก 1 ครั้ง และเก็บเกี่ยว 2-3 ฤดูกาลต่อการปลูก 1 ครั้ง แต่ระบบที่แนะนำให้เกษตรกรใช้ในปัจจุบันคือแบบปลูก 1 ครั้ง เก็บเกี่ยว 2-3 ฤดูกาล เนื่องจากเป็นการลดต้นทุนคือลงทุนทำค้าง 1 ครั้งสามารถเก็บผลผลิตได้ยาวนานขึ้น
ระยะการปลูกและการวางแผนปลูก
โดยธรรมชาติแล้วเสาวรสจะออกดอกและให้ผลผลิตเมื่อมีอายุประมาณ 5-7 เดือนหลังปลูกสำหรับเสาวรสรับประทานสดนั้นจะออกดอกติดผลเร็วกว่านี้ เนื่องจากเป็นต้นกล้าที่เปลี่ยนยอด แต่อายุเหมาะสมที่ควรให้ติดผลไม่ควรต่ำกว่า 5 เดือนเพื่อให้ต้นแข็งแรงพอและขึ้นค้างแล้ว ปกติแล้วเสาวรสจะให้ผลผลิตได้ตลอดปีถ้าไม่ขาดน้ำ แต่ในสภาพที่ปลูกโดยอาศัยน้ำฝนนั้น เสาวรสจะให้ผลผลิตได้ดีในระหว่างเดือนสิงหาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ ดังนั้นการปลูกเสาวรสรับประทานสดจึงจะต้องวางแผนให้สอดคล้องกับช่วงเวลาการให้ผลผลิตและสภาพการปลูก
1. การปลูกโดยอาศัยน้ำฝน
เนื่องจากเสาวรสจะให้ผลผลิตได้ดีในช่วงเดือนสิงหาคมถึงกุมภาพันธ์ การปลูกโดยอาศัยน้ำฝนและจะต้องตัดแต่งในเดือนกุมภาพันธ์ทุกปี ดังนั้นการปลูกจะต้องทำก่อนเดือนสิงหาคมอย่างน้อย 7 เดือน ซึ่งมี 2 ช่วงคือระหว่างเดือนตุลาคมถึงเดือนมกราคม ซึ่งเป็นช่วงปลายฤดูฝนถึงฤดูหนาว แต่หลังปลูกจะต้องให้น้ำช่วยเพื่อให้ต้นสามารถเจริญผ่านฤดูแล้วแรกไปก่อน สำหรับอีกช่วงหนึ่งคือการปลูกในช่วงต้นฤดูฝนคือเดือนพฤษภาคม ช่วงนี้ไม่ต้องให้น้ำแต่ในปีแรกช่วงระยะเวลาให้ผลผลิตจะสั้นแค่ 3-4 เดือนเท่านั้น คือจากเดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์
2. การปลูกแบบให้น้ำ
พื้นที่ปลูกสามารถให้น้ำได้ในฤดูแล้งเสาวรสจะสามารถให้ผลผลิตได้ทันทีเมื่ออายุประมาณ 5-7 เดือนหลังปลูก และให้ผลผลิตได้ตลอดปี ดังนั้นจึงสามารถปลูกได้ทุกช่วงเวลา แต่ยังคงต้องคำนึงถึงความสะดวกในการปฏิบัติดูแลรักษาด้วย ตัวอย่างเช่นถ้าปลูกในช่วงฤดูฝนจะประหวัดในเรื่องการให้น้ำแต่จะต้องเพิ่มการกำจัดวัชพืชมากขึ้น แต่ถ้าปลูกในช่วงฤดูแล้งจะต้องช่วยให้น้ำแต่ปัญหาเรื่องวัชพืชจะน้อยลงมาก
การปลูกเสาวรสในกรณีที่จะเปลี่ยนยอดในแปลงปลูกนั้นจะใช้เวลาตั้งแต่ปลูกจนกระทั่งเปลี่ยนพันธุ์และให้ผลผลิตใกล้เคียงกับการปลูกด้วยต้นพันธุ์ดีเช่นกัน โดยปกติแล้วจะปลูกต้นตอในช่วงปลายฤดูฝนและทำการเปลี่ยนพันธุ์ในช่วงปลายฤดูหนาวซึ่งต้นตอเจริญเติบโตถึงค้างแล้ว
ขั้นตอนการปลูก
การปลูกเสาวรสรับประทานสดมีขั้นตอนที่จะต้องดำเนินการและมีการปฏิบัติดูแลรักษาดังนี้
1. การคัดเลือกและเตรียมพื้นที่ปลูก
เสาวรสรับประทานสดเป็นไม้ผลที่ปลูกง่าย สามารถปลูกเป็นการค้าได้โดยอาศัยน้ำฝน แต่ถ้าสามารถเลือกพื้นที่ปลูกที่สามารถให้น้ำได้จะทำให้คุณภาพผลผลิตดีขึ้นและการให้ผลผลิตยาวนานตลอดปี เสาวรสรับประทานสดนั้นสามารถปลูกได้ตั้งแต่พื้นราบจนกระทั่งพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1_000 เมตร แต่พื้นที่ปลูกควรมีแสงแดดจัด ไม่ควรมีน้ำขังและลาดชันมากเกินไปเพราะจะทำให้ทำค้างยาก ในเขตที่มีฝนตกชุกเสาวรสอาจจะติดผลไม่ดีนักในบางช่วง เนื่องจากละอองเกสรตัวผู้จะถูกน้ำชะล้างและแมลงไม่สามารถผสมเกสรได้ เสาวรสปลูกได้ดีในดินหลายชนิด ดินที่เป็นกรดก็สามารถเจริญเติบโตได้ดี แต่ถ้าความเป็นกรดเป็นด่าง (pH) ต่ำกว่า 5.5 ควรใส่ปูนขาวลงไปด้วย
การเตรียมพื้นที่ปลูกเสาวรสรับประทานสดนั้น ต้องมีการไถพรวนพื้นที่ก่อนถ้าพื้นที่ไม่ลาดชันนัก และถ้าสามารถหว่านปุ๋ยอินทรีย์ในขณะไถพรวนพื้นที่ได้ก็จะดีมาก เนื่องจากเสาวรสมีระบบรากตื้นแต่แผ่กว้างมาก จากนั้นจึงขุดหลุมปลูกโดยให้มีระยะปลูก 3×3 เมตร (177 ต้นต่อไร่) หลุมปลูกควรมีขนาด 30x30x30 เซนติเมตรและอยู่บริเวณโคนเสาค้างเพราะจะทำให้สะดวกในการปฏิบัติงานภายในแปลง ก้นหลุมปลูกรองด้วยปุ๋ยอินทรีย์หรือเศษวัชพืชและปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 จำนวน 100 กรัม จากนั้นผสมดินด้วยปุ๋ยอินทรีย์อีกครั้งลงในหลุมและควรเตรียมหลุมปลูกก่อนล่วงหน้าระยะหนึ่งจะดีมาก เพื่อให้อินทรียวัตถุที่ใส่ลงไปย่อยสลายก่อน
2. การคัดเลือกและเตรียมต้นกล้า
การปลูกเสาวรสรับประทานสดต้องมีการเตรียมต้นกล้าไว้ล่วงหน้าให้พอดีกับช่วงเวลาที่จะปลูกเพื่อให้ได้ต้นกล้าที่คุณภาพดี เพราะการผลิตกล้าเสาวรสส่วนใหญ่จะใช้ถุงปลูกขนาดเล็กให้สะดวกต่อการขนส่งจึงไม่สามารถเลี้ยงต้นกล้าไว้ในถุงปลูกนานได้และที่สำคัญต้นกล้าที่จะนำมาปลูกต้องคัดเลือกให้มีความสมบูรณ์สม่ำเสมอกันและไม่แสดงอาการเป็นโรคไวรัส
3. วิธีการปลูก
หลังจากเตรียมหลุมปลุกแล้วก็สามารถน้ำนกล้าลงปลูกได้ในกรณีที่ปลูกด้วยต้นที่เปลี่ยนยอดแล้วต้องให้รอยต่อของยอดพันธุ์กับต้นตออยู่สูงกว่าระดับดินเพื่อป้องกันเชื้อโรคเข้าทางรอยต่อและต้องตรวจสอบดูด้วยว่าได้เอาวัสดุพันกิ่งออกแล้วหรือไม่ เมื่อปลูกต้นกล้าแล้วใช้หลักไม้ไผ่ขนาดเล็กความสูงถึงระดับค้างปักและผูกเถาติดกับหลักหรือเสาค้างก็ได้เพื่อให้ยอดของต้นตั้งตรงตลอดเวลาต้นจึงจะเจริญเติบโตได้เร็ว
4. การทำค้าง
เนื่องจากเสาวรสเป็นไม้ผลประเภทเถ้าเลื้อยการปลูกจึงต้องมีค้างรองรับต้นและผลผลิต ค้างเสาวรสนั้นต้องแข็งแรงเพียงพอสามารถใช้งานได้อย่างน้อย 3 ปี ต่อการปลูก 1 ครั้งและต้องทำก่อนปลูกหรือทำทันทีหลังปลูกเพื่อให้ทันกันการเจริญเติบโตของต้นเสาวรสสามารถเลี้ยงเถาได้ทันทีเมื่อเถาเจริญถึงค้าง ซึ่งปกติจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือน การทำค้างช้าเป็นปัญหาที่พบมาก เพราะเป็นขั้นตอนที่ต้องใช้ทุนและแรงงานมากที่สุด
ค้างเสาวรสมีอยู่ 2 ระบบคือค้างแบบรั้วตั้งและค้างแบบเป็นผืนที่ยังแยกออกเป็นอีก 2 แบบคือ แบบเป็นผืนใหญ่เต็มพื้นที่และแบบตัวที แต่ค้างแบบรั้วตั้งและแบบตัวทีนั้นยังไม่แนะนำให้เกษตรกรใช้เพราะพื้นที่เลี้ยงเถามีจำกัดต้องเพิ่มการตัดแต่งมากกว่าปกติ
ค้างแบบเป็นผืนใหญ่เต็มพื้นที่เป็นแบบที่แนะนำให้เกษตรกรใช้ปัจจุบันเนื่องจากมีพื้นที่เลี้ยงเถามาก เกษตรกรไม่ต้องเสียเวลาในการเลี้ยงและตัดแต่งเถามาก นอกจากนี้ยังทำได้ง่ายและแข็งแรงซึ่งค้างประกอบด้วย 2 ส่วนได้แก่
1. เสาค้าง สามารถใช้ได้ทั้งเสาคอนกรีต เสาไม้หรือเสาไม้ไผ่แต่ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงการลงทุนให้น้อยที่สุดในพื้นที่ 1 ไร่ จะใช้เสาค้าง 177 ต้น คือใช้ระยะ 3×3 เมตร เช่นเดียวกับหลุมปลูก
2. ค้างส่วนบน เป็นพื้นที่เลื้อยของเถาเพื่อไม่ให้เถาห้อยตกลงมา วัสดุที่ใช้อาจจะเป็นไม้ไผ่ลวดสังกะสีหรือเชือกไนล่อนก็ได้ แต่วิธีที่แนะนำให้เกษตรกรใช้คือใช้ลวดสังกะสีเบอร์ 14 สานเป็นโครงสร้างและใช้เชือกไนล่อนสานเป็นตารางขนาด 40×50 เซนติเมตร วิธีนี้จะทำให้น้ำหนักค้างส่วนบนลดลง
ในแต่ละปีต้องมีการซ่อมแซมค้างที่เสียหายให้แข็งแรงอยู่เสมอ โดยปกติแล้วจะทำหลังจากการตัดแต่งกิ่งในเดือนกุมภาพันธ์ เช่น เปลี่ยนเชือกที่ขาดและเสาที่ผุพัง เป็นต้น
5. การจัดทรงต้นและการเลี้ยงเถา
เสาวรสเช่นเดียวกับไม้ผลชนิดอื่นๆ ที่จะต้องจัดทรงต้นให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโตและให้ผลผลิตโดยเริ่มตั้งแต่หลังปลูกจนกระทั่งขึ้นค้าง คือจะต้องให้เสาวรสมีลำต้นเดียวตั้งแต่ระดับพื้นดินจนถึงค้างในระยะนี้จะต้องคอยดูแลตัดหน่อที่งอกจากต้นตอกิ่งข้างของต้นออกให้หมดรวมทั้งต้องมัดเถาให้เลื้อยขึ้นตั้งตรงอยู่ตลอดเวลา เพราะถ้ายอดของเถาห้อยลงจะทำให้ยอดชะงักการเจริญเติบโตและแตกตาข้างมากและเนื่องจากเสาวรสรับประทานสดเน้นการเลี้ยวเถาเป็นต้นจากการเสียบยอดจึงติดผลเร็ว ต้องหมั่นเด็ดผลทิ้งจนกว่าต้นจะเจริญถึงค้าง
หลังจากต้นเจริญถึงค้างแล้วให้ทำการตัดยอดบังคับให้แตกเถาใหม่ 3-4 กิ่ง จากนั้นจัดเถาให้กระจายออกไปโดยรอบต้นทั่วพื้นที่ของค้าง และควรตัดยอดของเถาอีกครั้งเมื่อยาวพอสมควรแล้วเพื่อช่วยให้แตกยอดมากขึ้น
6. การใส่ปุ๋ย
เสาวรสเป็นพืชที่ออกดอกติดผลตลอดทั้งปี ดังนั้นจึงจำเป็นต้องได้รับปุ๋ยอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ จึงจะให้ผลผลิตได้ดีและมีคุณภาพโดยเฉพาะเสาวรสรับประทานสดนั้นยิ่งมีความจำเป็นมาก การได้รับปุ๋ยที่ไม่ถูกต้องและเพียงพอจะมีผลทำให้คุณภาพและรสชาติของผลผลิตต่ำกว่ามาตรฐาน ปุ๋ยที่ใช้ในการปลูกเสาวรสรับประทานสดมี 2 ชนิดคือ
1. ปุ๋ยอินทรีย์ มีประโยชน์ช่วยปรับปรุงโครงสร้างของดินทำให้ต้นเสาวรสมีความแข็งแรงขึ้นและลดความรุนแรงของโรคไวรัสลง ซึ่งได้แก่ปุ๋ยคอกและปุ๋ยหมัก ต้องใส่ให้อย่างน้อยปีละ 1 ครั้งคือใส่พร้อมกับการเตรียมดินก่อนปลูกและหลังจากสิ้นสุดช่วงเก็บเกี่ยวแล้วและทำการติดแต่งกิ่งของแต่ละปีในช่วงต้นกุมภาพันธ์โดยใช้ประมาณ 10 กิโลกรัมต่อต้นต่อปี โดยอาจจะใช้วิธีโรยเป็นแถวระหว่างต้นหรือรอบต้นแล้วไถพรวนหรือดินกลบ
2. ปุ๋ยเคมี มีความจำเป็นต่อเสาวรสรับประทานสดมาก โดยทั่วไปแล้วแนะนำให้ใช้อย่างต่อเนื่อง ครั้งละจำนวนน้อยแต่บ่อยครั้งเพราะเสาวรสมีช่วงการให้ผลผลิตตลอดปีและพื้นที่สูงมักจะมีปัญหาการชะล้างของฝนทำให้เกิดการสูญเสียของปุ๋ยได้ง่าย อัตราใช้ปุ๋ยเคมีที่แนะนำคือ 150-200 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปีหรือประมาณ 1 กิโลกรัมต่อต้นต่อปี
7. การให้น้ำและกำจัดวัชพืช
เสาวรสสามารถทนแล้งได้ดีพอสมควร สามารถปลูกโดยอาศัยน้ำฝนได้ แต่การปลูกเสาวรสรับประทานสดแบบให้น้ำเพื่อให้มีผลผลิตตลอดปีนั้นจำเป็นต้องให้น้ำในฤดูแล้งประมาณ 7 วันครั้ง ซึ่งสามารถให้ได้โดยหลายวิธี เช่น น้ำพ่นฝอย น้ำหยด หรือรดน้ำ ควรให้น้ำ 1-2 ครั้ง / สัปดาห์ เป็นต้น สำหรับวัชพืชนั้นต้องหมั่นกำจัดอยู่เสมอโดยอาจจะใช้วีการตัดหรือพ่นด้วยสารเคมีได้แต่ต้องไม่ใช้ประเภทดูดซึม หลังจากที่เถาเต็มค้างแล้วปัญหาเรื่องวัชพืชจะน้อยลง
8. การปลิดผล
โดยธรรมชาติแล้วเสาวรสจะออกดอกและติดผลได้ง่ายโดยจะเกิดที่ทุกข้อบริเวณโคนก้านใบของกิ่งใหม่ถึงแม้ว่าดอกบางส่วนจะร่วงไม่ติดผลแต่ก็มักจะติดผลค่อนข้างมากอยู่ ทำให้ผลผลิตคุณภาพไม่สม่ำเสมอจำเป็นต้องปลิดผลที่มีคุณภาพต่ำทิ้ง ให้ผลที่เหลืออยู่มีคุณภาพดี ซึ่งจำเป็นมากสำหรับเสาวรสรับประทานสดที่ต้องเน้นเรื่องคุณภาพ
ใน 1 เถาเสาวรสจะให้ผลที่มีคุณภาพดีเป็นชุด ๆ ละ 3-4 ผล หลังจากติดผล 1 ชุดแล้ว ผลชุดที่ติดต่อไปมักมีขนาดเล็กเพราะอาหารไม่เพียงพอจึงต้องทิ้งบ้าง นอกจากนี้ยังมีผลที่บิดเบี้ยวเนื่องจากการทำลายของโรคแมลงที่ต้องปลิดทิ้งด้วย โดยทำตั้งแต่ผลมีขนาดเล็กอยู่
9. การตัดแต่งเถา
เนื่องจากเสาวรสเป็นไม้ผลที่ออกดอกบนกิ่งใหม่จึงต้องทำให้ต้นมีการแตกกิ่งใหม่ตลอดเวลาเสาวรสจึงจะให้ผลผลิตได้ดีอีกประการหนึ่งคือเถาเสาวรสจะเลื้อยยืดยาวออกไปตลอดเวลา ทำให้กิ่งใหม่และผลติดอยู่ไกลลำต้นจึงได้รับน้ำและอาหารไม่เต็มที่ การตัดแต่งจะมีประโยชน์ในการช่วยให้ต้นแตกกิ่งใหม่และเถาไม่ยาวเกินไป ซึ่งทำได้ 2 ลักษณะตามรูปแบบการปลูกคือ
1) การปลูกแบบอาศัยน้ำฝน จะต้องทำการตัดแต่งหนัก 1 ครั้ง หลังจากสิ้นสุดฤดูกาลเก็บผลผลิตในเดือนกุมภาพันธ์โดยตัดเถาโครงสร้างที่เกิดจากลำต้นให้เหลือ 3-4 กิ่งยาวประมาณ 30 เซนติเมตร หลังจากนั้น 1 เดือนจะแตกยอดใหม่ที่กิ่งโครงสร้าง ตัดแต่งกิ่งอีกครั้งโดยเลื้อยยอดใหม่ที่สมบูรณ์ ไว้ 2-3 ยอดต่อเถาโครงสร้าง 1 เถา จัดเถาให้กระจายไปรอบต้น
ในระหว่างที่ต้นเจริญเติบโตและให้ผลผลิตนั้นต้องคอยตัดแต่งกิ่งข้างที่แก่และกิ่งที่ให้ผลผลิตไปแล้วออกโดยให้เหลือตา 2-3 ตา เพื่อให้แตกยอดใหม่ให้ผลผลิตต่อไป
2) การปลูกแบบให้น้ำ
การปลูกแบบนี้จะไม่มีการตัดแต่งหนักในฤดูแล้งเพราะต้องการให้มีผลผลิตตลอดปี แต่จะใช้การตัดยอดของเถาโครงสร้างที่ยืดยาวออกไปเป็นระยะๆ หลังจากที่ต้นขึ้นค้างแล้ว เพื่อบังคับให้แตกเถาข้างมากขึ้นและทำการตัดแต่งเถาข้างเมื่อยาวพอสมควรเป็นระยะเช่นกัน เพื่อบังคับให้แตกเถาแขนงให้มากสำหรับให้ผลผลิตและต้องตัดแต่งเถาข้างหรือเถาแขนงที่แก่หรือให้ผลผลิตแล้วออกเป็นประจำเพื่อให้แตกยอดใหม่ทดแทนตลอดเวลาโดยตัดให้เหลือ 2-3 ตา
ในบางช่วงที่ต้นติดผลน้อยกว่าปกติ อาจจะตัดแต่งให้หนักมากขึ้นได้เพราะจะไม่กระทบกับการให้ผลผลิตมากนัก
10. การเก็บเกี่ยวและการบ่ม
เสาวรสรับประทานสดจะไม่เก็บเกี่ยวโดยปล่อยให้ร่วงเหมือนกับเสาวรสโรงงาน คือต้องเก็บจากต้นโดยผลจะสุกเมื่ออายุประมาณ 50-70 วันหลังดอกบาน ระยะที่เหมาะสมเก็บเกี่ยวเมื่อผลเปลี่ยนเป็นสีม่วงแล้วประมาณ 70-80 เปอร์เซ็นต์ โดยสีของผลจะเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีแดงอมม่วงจึงเก็บเกี่ยวด้วยวิธีการใช้กรรไกรตัดขั้วผลจากต้นให้สั้นติดผล แล้วจึงนำมาบ่มเพื่อให้สีผลสวยและรสชาติดีขึ้น โดยทั่วไปแล้วจะทำการเก็บเกี่ยวทุกๆ 2-3 วันต่อครั้ง
การบ่อใช้ก๊าซอะเซทธิลีน ซึ่งทำได้หลายวิธีเช่น ใส่ผลลงไปภาชนะเช่นกล่องกระดาษ แล้วนำแคลเซียมคาร์ไบด์ที่ใส่ในภาชนะเล็กๆ หรือห่อกระดาษเติมน้ำเล็กน้อยให้เกิดก๊าซอะเซทธิลีนแล้วปิดภาชนะทิ้งไว้ 2-3 วันผลจะเปลี่ยนสีเป็นสีม่วงแดงเข้มขึ้นจึงนำส่งจำหน่าย ในกรณีที่ผลผลิตมีจำนวนมากให้ใช้วิธีใส่ผลผลิตลงในลังพลาสติกหลายๆ ลังนำมาตั้งรวมกันใส่แคลเซียมคาร์ไบด์มากเกินไปเพราะจะทำให้ผิวผลเสียหาย
ก่อนการบ่มควรคัดคุณภาพผลผลิตก่อนที่สำคัญคือระดับความสุกของผลให้สม่ำเสมอกันเพราะจะทำให้ใช้ระยะเวลาในการบ่มเท่ากันสีของผลสม่ำเสมอกันทุกผล
11. การคัดคุณภาพผลผลิตและบรรจุหีบห่อ
ผลผลิตเสาวรสรับประทานสดนั้นต้องเน้นเรื่องคุณภาพเป็นอย่างมากโดยเฉพาะคุณภาพภายใน ซึ่งได้แก่ความหวานและน้ำหนักต่อผล โดยความหวานต้องไม่ต่ำกว่า 16 Brix และผลที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางผล 5 เซนติเมตร ควรมีน้ำหนักประมาณ 70 กรัม เพราะผลที่มีขนาดใหญ่แต่น้ำหนักเบาภายในจะมีเนื้อน้อย สำหรับลักษณะภายนอกนั้นผลต้องไม่บิดเบี้ยว ไม่เน่า แตก หรือเหี่ยว ผิวผลอาจจะลายจากโรคไวรัสหรือแมลงได้ แต่ไม่มากเกินไป ปัจจุบันมูลนิธิโครงการหลวงกำหนดชั้นมาตรฐานผลผลิตไว้ 2 เกรด คือ เกรด 1 เส้นผ่าศูนย์กลางผลตั้งแต่ 5 เซนติเมตรขึ้นไป และเกรด 2 เส้นผ่าศูนย์กลางผลตั้งแต่ 4-5 เซนติเมตร
หลังจากคัดคุณภาพแล้วจึงบรรจุผลผลิตเพื่อส่งจำหน่ายโดยกำหนดให้บรรจุผลลงในลังสีเขียวที่บุข้างด้วยกระดาษและส่งให้งานคัดบรรจุตรวจสอบคุณภาพและส่งจำหน่ายต่อไปโดยอาจจะบรรจุใหม่สำหรับขายปลีกเป็นกิโลกรัม
ข้อมูลจาก
http://www.farmkaset..link..