<กลับหน้าค้นข้อมูล
แจ้งลิงค์ในเนื้อหาเสีย
การปลูกมันสำปะหลัง การเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังให้ได้ผลผลิตดี
มันสำปะหลัง Manihot esculenta Crantz เป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย นอกจากจะเป็นผู้ผลิตมันสำปะหลังได้มากเป็นอันดับที่สามของโลก รองจากประเทศ ไนจีเรีย และบราซิล ยังเป็นประเทศผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังเป็นอันดับหนึ่งของโลก และนำรายได้เข้าประเทศปีละกว่า 30_000 ล้านบาท เนื่องจากมันสำปะหลังเป็นพืชของขวัญของเกษตรกรไทย เนื่องจากเป็นพืชที่ปลูกง่ายแม้ดินจะไม่ดี ทนต่อความแห้งแล้ง ปัญหาโรคแมลงมีน้อย หัวสดมีตลาดรองรับแน่นอน การขุดเก็บเกี่ยวไม่ขึ้นกับฤดูกาล สามารถจะชะลอการเก็บเกี่ยวได้
จากการสำรวจมันสำปะหลังจะเห็นได้ว่า ผลผลิตหัวมันสดเฉลี่ยต่อไร่เพิ่มขึ้นไม่มากในปี 2547/2548 2548/2549 เฉลี่ยต่อไร่ (2_749และ 2_921กิโลกรัม)
จากการสำรวจการปลูกมันสำปะหลังประจำปี 2550/2551 ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง 7_302_960 ไร่ ผลผลิตต่อไร่ 3_782 ตัน ผลผลิตรวม 27_618_763 ตัน เปรียบเทียบกับ ปีประจำปี 2549/2550 ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง 7_201_243 ไร่ ผลผลิตต่อไร่ 3_668 ตัน ผลผลิตรวม 26_411_233 ตัน
พื้นที่เก็บเกี่ยวเพิ่มขึ้น 1.41% ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น 3.11% และผลผลิตรวมเพิ่มขึ้น 4.57% (มูลนิธิพัฒนามันสำปะหลังแห่งประเทศไทย_ 2550) แม้ในปัจจุบัน จะมีการขยายพื้นที่มันสำปะหลังพันธุ์ดีสู่เกษตรกรไปมากแล้วก็ตาม สาเหตุหลักเนื่องจากดินเสื่อมโทรม ทำให้ผลผลิตต่ำแม้ใช้มันสำปะหลังพันธุ์ดีเนื่องจากเกษตรกรไม่นิยมปรับปรุงบำรุงดิน
การเพิ่มผลผลิตโดยรวมของประเทศ จึงมาจากการขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มมากขึ้นมากกว่า ในการเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังต่อไร่เพิ่มขึ้นนั้น เกษตรกรสามารถทำได้ 3 วิธีร่วมกันคือ
- การจัดการดินดี
- การใช้พันธุ์ดีที่เหมาะสมกับดินและพื้นที่
- การปฏิบัติดูแลรักษาดี
ก็จะช่วยให้ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น ปัญหาของเกษตรกรผู้ผลิตมันสำปะหลังคือ ดินเสื่อมโทรมจะเป็นปัญหาอันดับหนึ่ง จึงจำเป็นต้องหาหนทางในการปรับปรุงสมบัติทางกายภาพของดิน และการบำรุงรักษาดิน และการดูแลรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดินให้สูงอยู่เสมอ จะช่วยให้ผลผลิตหัวสดต่อไร่สูงขึ้นกว่าในปัจจุบัน เนื่องจากศักยภาพของพันธุ์มันสำปะหลังพันธุ์ใหม่ ถ้าเกษตรกรมีการปฏิบัติดูแลรักษาได้อย่างเหมาะสม จะทำให้ได้ผลผลิตสูงเฉลี่ยต่อไร่ 5-10 ตันต่อไร่ได้ เนื่องจากการผลิตมันสำปะหลังในปัจจุบัน แม้ราคาจำหน่ายหัวมันสดจะสูงขึ้นถึงกิโลกรัมละกว่า 2.50 บาท แต่ปัจจัยการผลิตต่างๆ ก็แพงขึ้นตามตัวไม่ว่าจะราคาน้ำมัน (ดีเซล) ที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปุ๋ยเคมี สารกำจัดวัชพืช ค่าแรงงาน ทำให้ต้องมองหาวิธีการลดต้นทุนปัจจัยการผลิต โดยเฉพาะปุ๋ยเคมี มีราคาแพงถึงกระสอบละ 1_000 กว่าบาทนั้น ต้องมองหาแหล่งปุ๋ยอินทรีย์ ที่นับวันจะหาอยากเพื่อจะนำมาใช้ทั้งโดยตรง และร่วมกับการใช้ปุ๋ยเคมีที่ใช้อัตราต่ำลง แต่ยังคงให้ผลผลิตคุ้มกับการลงทุน
ในปัจจุบันประเทศไทยประสบปัญหากับการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศและน้ำมันิบมีราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การหาแหล่งพลังงานใหม่เข้ามาทดแทนการนำเข้าน้ำมันดิบ จากวัตถุดิบทางการเกษตรที่สามารถผลิตได้เองภายในประเทศ จะช่วยให้เกิดความมั่นคงทางด้านพลังงานของประเทศ อย่างยั่งยืน สถานภาพวัตถุดิบที่นำมาใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตเอทานอล สามารถผลิตได้จากพืชจำพวกแป้งและน้ำตาล เมื่อนำมาผสมกับน้ำมันเบนซินในอัตราส่วน 20% จะได้น้ำมันที่เรียกว่า แก๊ซโซฮอล์ (Gasohol) โดยวัตถุดิบทางการเกษตรในประเทศไทยที่มีศักยภาพสูงสำหรับการผลิตเอทานอลได้แก่ อ้อย กากน้ำตาล และมันสำปะหลัง
จากการวิจัยและพัฒนาพบว่า วัตถุดิบที่เหมาะสมที่สุดในอุตสาหกรรมการผลิตเอทานอล คือมันเส้นเมื่อเปรียบเทียบกับวัสดุชนิดอื่นๆ การใช้วัตถุดิบจากมันสำปะหลังจะมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมที่ใช้มันน้อยที่สุด ทั้งนี้พิจารณาถึงความสามารถและกำลังการผลิตหัวมันสำปะหลังซึ่งในปัจจุบัน ผลผลิตหัวสดมีปริมาณไม่เพียงพอในการผลิตแป้ง ในปัจจุบัน และราคาหัวมันสดที่สูงถึงกว่า 2.50 บาท จึงทำให้ส่งผลกระทบต่อการผลิตเอธานอลที่ไม่คุ้มกับการลงทุน เนื่องจากปัญหาจำนวนผลผลิตส่วนใหญ่ใช่ในอุตสาหกรรมอาหาร จึงมีผลผลิตไม่เพียงพอในการนำไปผลิตพลังงานทดแทน หากจะเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้นเป็นเรื่องจำเป็น
การปฏิบัติในการปลูกเพื่อเพิ่มผลผลิตและปริมาณแป้งในมันสำปะหลัง เพื่อรองรับทางด้านพลังงานสามารถทำได้ดังนี้
1. การเตรียมดินดี ดินเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญในการปลูกพืช ดินที่ปลูกจะต้องมีความอุดมสมบูรณ์ที่เหมาะสมในการปลูกมันสำปะหลังส่วนใหญ่จะปลูกในดินร่วนปนทราย ในสภาพพื้นที่ลอนลาด เนินเขาต่างๆ ในการปฏิบัติส่วนใหญ่หลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จในช่วงต้นฤดูฝน ถ้าทำการปลูกต่อจะไถพื้นที่ด้วยรถไถผาล 3 หรือเรียกว่าไถดะ เพื่อไถหมักต้นและใบสดที่ทิ้งในแปลง รวมทั้งวัชพืชที่ขึ้นในแปลงโดยทิ้งไว้ประมาณ 15-20 วัน เพื่อหมักให้วัชพืชเน่าเปื่อย หากจะบำรุงดินโดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์ หรือสารปรับปรุงดิน เช่น ยิบซั่ม ก็ทำการหว่านให้ทั่วทั้งแปลง เมื่อดินมีความชื้นเพียงพอก็ทำการไถอีกครั้งด้วยรถไถผาล 7 เรียกว่าไถแปร ถ้าหากปลูกแบบพื้นราบก็ทำการปลูกได้เลยโดยการใช้เชือกทำเครื่องหมาย
ระยะปลูกให้เหมาะสมในแต่ละสภาพพื้นที่ หากในบางพื้นที่ก็ทำการยกร่องปลูกก็ขึ้นกับสภาพพื้นที่
2. ปรับปรุง และบำรุงดิน ปัจจุบันพันธุ์มันสำปะหลัง เทคโนโลยีการผลิตนั้น ประเทศไทยถือได้ว่ามีความก้าวหน้ามากที่สุดประเทศหนึ่ง ในประเทศผู้ปลูกมันสำปะหลังในโลกปัจจุบัน แต่ปัญหาใหญ่ของเกษตรกรที่ปลูกมันสำปะหลังในประเทศไทยคือ ปัญหาเรื่องความอุดมสมบูรณ์ของดินที่ต่ำ ทำให้ผลผลิตหัวสดเฉลี่ยของเกษตรและของประเทศ ส่วนใหญ่ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ค่อนข้างต่ำประมาณ 2.5-3.0 ตันต่อไร่ (ปี 2549/50 3.7 ตันต่อไร่) แม้เกษตรกรจะใช้มันสำปะหลังพันธุ์ที่ใหม่และให้ผลผลิตสูงเฉลี่ย 5-10 ตันต่อไร่ก็ตาม แต่หากไม่มีการปรับปรุงบำรุงดินให้ดีก็คงจะได้ผลผลิตสูงได้ยาก
การปรับปรุงบำรุงดินเป็นสิ่งจำเป็นในการปลูกมันสำปะหลัง หากจะปลูกแล้วให้มีกำไรและให้ผลผลิตอย่างยั่งยืน ปัจจุบันเกษตรกรนิยมใช้ปุ๋ยอินทรีย์ได้แก่ ปุ๋ยมูลไก่ มูลสุกร มูลโค หรือมูลสัตว์ชนิดอื่น ๆ ที่หาได้โดยใส่อัตราประมาณ 500 – 1_000 กก./ไร่ หรือปุ๋ยอื่น ๆ ที่หาได้ในท้องถิ่น เช่นนอกจากนั้นยังสามารถใช้วัสดุเหลือทิ้งจากโรงงานที่สามารถนำมาใช้โดยตรง เช่น เปลือกมันสำปะหลังจากโรงงานแป้งมันสำปะหลังที่ทิ้งหมักไว้แล้ว วัสดุเหลือทิ้งจากโรงงานผงชูรส เป็นต้น การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในการปรับปรุงบำรุงดิน ต้องใส่่ในปริมาณที่มาก เนื่องจากปุ๋ยอินทรีย์ส่วนใหญ่มีปริมาณธาตุอาหารที่ต่ำ และการปลดปล่อยธาตุอาหารก็ช้า และต้องใช้เวลาในการใช้จึงจะเห็นผลจำเป็นต้องใส่ร่วมกับปุ๋ยเคมี
จึงจะเกิดประโยชน์และช่วยให้ผลผลิตสูงขึ้น
ในกรณีปลูกพืชปุ๋ยสดเพื่อทำเป็นปุ๋ยพืชสดบำรุงดินเป็นเรื่องที่ดีในทางทฤษฎี แต่ในทางปฏิบัติแม้ผลการทดลอง จากการใช้ปุ๋ยพืชสดร่วมกับการปลูกมันสำปะหลังได้ผลผลิตหัวสดสูงขึ้น แต่การขยายผลจากงานทดลองสู่เกษตรกรยังไม่มีการตอบรับจากเกษตรส่วนใหญ่ เนื่องจากเกษตรกรมีทุนในการปลูกมันสำปะหลังน้อยอยู่แล้ว การไถแต่ละครั้งต้องใช้ต้นทุนสูงขึ้นจึงไม่ได้รับการยอมรับ
ประภาสและคณะ ศึกษาการใช้แคลเซียมซัลเฟต (CaSo4.2H2O) หรือยิบซั่มซึ่งเป็นสารปรับปรุงดินที่มีธาตุแคลเซี่ยม(Ca) และกำมะถัน(S) เป็นองค์ประกอบหลักใส่ในการปลูกมันสำปะหลัง ร่วมกับปุ๋ยเคมีและปุ๋ยมูลไก่ ทั้งในช่วงต้นฤดูฝนและปลายฤดูฝนโดยในชุดดินวาริน ทำการศึกษาโดยใช้มันสำปะหลังพันธุ์ เกษตรศาสตร์ 50 ระยอง 72 และพันธุ์ห้วยบง 60 ส่วนชุดดินมาบบอนใช้มันสำปะหลังพันธุ์ห้วยบง 60 และพันธุ์ระยอง 5 ทั้งต้นฤดูฝนและปลายฤดูฝนเป็นเวลา 3 ปี
จากผลการทดลองในดินชุดวาริน ในอำเภอด่านขุนทดจังหวัดนครราชสีมา และชุดดินมาบบอนในอำเภอพนมสารคามจังหวัดฉะเชิงเทรา ในการทดลองทั้งสองชุดดินที่มีสภาพเป็นดินร่วนปนทรายสามารถยกระดับผลผลิตเพิ่มขึ้นได้อย่างชัดเจน ก็เป็นทางเลือกที่เกษตรกรจะพิจารณาใส่ในการปลูกมันสำปะหลัง เนื่องจากปัญหาราคาปุ๋ยเคมีที่มีราคาแพงมาก
3. การวางแผนการปลูกให้เหมาะสมกับฤดูกาล
ปลูกปลายฤดูฝน
ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือช่วงเดือนตุลาคม ไม่ควรเกินวันที่ 10 พฤศจิกายน ในภาคตะวันออกตั้งแต่เดือนตุลาคม-กุมภาพันธ์ การปลูกมันสำปะหลัง ในช่วงปลายฤดูฝนความสม่ำเสมอในการเจริญเติบโตของมันสำปะหลังจะต่ำกว่าการปลูกในช่วงต้นฤดูฝน เนื่องจากการปลูกปลายฤดูฝนมันสำปะหลังจะติดแล้ง ในช่วงระยะแรกของการเจริญเติบโตอายุ 3-4 เดือน การปลูกในช่วงปลายฤดูฝนจึงแนะนำให้ปลูกในพื้นที่ดินเป็นทรายหรือร่วนปนทราย ไม่แนะนำให้ปลูกในพื้นที่ดินค่อนข้างเหนียว ซึ่งเมื่อกระทบแล้งมันสำปะหลังจะตายมาก และมีในภาคตะวันออกอาจจะเริ่มปลูกตั้งแต่เดือนตุลาคม – มกราคม เนื่องจากสภาพดินส่วนใหญ่เป็นดินร่วนปนทรายและหากมีการไถดะให้ลึกเพื่อตัดเก็บความชื้นเอาไว้
จะช่วย ให้ในดินมีความชื้นและปริมาณน้ำฝนที่มากและการกระจายตัวของฝนมากกว่าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ปลูกต้นฤดูฝน
ตั้งแต่ปลายมีนาคม – เมษายน ในฤดูฝนควรดำเนินการในช่วงเดือนพฤษภาคมให้เสร็จ หากปลูกหลังจากเดือนนี้จะมีปัญหาเรื่องวัชพืชที่มี ต้นทุนสูงที่สุดในขั้นตอนการปลูกมันสำปะหลั งยิ่งทำในพื้นที่มากๆแล้วไม่แนะนำให้ดำเนินการในช่วงเดือนนี้ ควรทำในช่วงต้นฤดูฝน
4. ปลูกมันสำปะหลังพันธุ์ดี คือ พันธุ์ที่มีการปรับตัวในสภาพแวดล้อมต่าง ๆได้ดี สามารถงอกและมีอัตราการอยู่รอดสูง เจริญเติบโตดี สามารถคลุมวัชพืชดี ทรงต้นดี อายุการเก็บต้นพันธุ์หลังการเก็บเกี่ยวได้นาน ให้ผลผลิตหัวสดและปริมาณแป้งสูง ในพื้นที่ของเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังควรเป็นผู้พิจารณาคัดเลือกพันธุ์ดีที่เหมาะสมกับดินที่เกษตรกรปลูกเอง ในปัจจุบันทางราชการได้แนะนำพันธุ์มันสำปะหลังประเภทปลูกส่งโรงงานอุตสาหกรรมให้เกษตรกรขยายพันธุ์ปลูกไปแล้วจำนวน 11 พันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ระยอง 1 ระยอง 3 ระยอง 60 ศรีราชา 1 ระยอง 90 เกษตรศาสตร์ 50 ระยอง 5 ระยอง 72 ห้วยบง 60 ระยอง 7 และระยอง 9 ซึ่งแต่ละพันธุ์มีลักษณะเด่น และด้อยต่างกัน
5. การใช้ต้นพันธุ์ดี พันธุ์ที่มีคุณภาพเหมาะสมและวิธีการปลูกที่ถูกต้องผลผลิตหัวสดที่ได้จากการปลูกมันสำปะหลัง มีความสัมพันธุ์อย่างมากกับความงอกและจำนวนต้น อยู่รอดจนกระทั่งขุดเก็บเกี่ยว แต่ส่วนมากนิยมการปลูกแบบปักตรง ซึ่งได้รับผลผลิตสูงกว่า ตางอกได้เร็วกว่า การดูแลรักษาหลังการปลูก เช่น การกำจัดวัชพืช ปัญหาเรื่องแดดเผาต้นไม่มี การใส่ปุ๋ยตลอดจนการขุดเก็บเกี่ยวทำได้สะดวก การเลือกท่อนพันธุ์ที่ดี เป็นต้นพันธุ์ที่ใหม่หลังการตัดต้นพันธุ์แล้ว ควรรีบดำเนินการปลูกภายใน 1 – 2 สัปดาห์ หากขุดมันแล้ว เกิดภาวะแห้งแล้งไม่เหมาะสมในการปลูก หากจำเป็นต้องเก็บต้นไว้ปลูกหลายเดือนควรเก็บท่อนพันธุ์ตั้งไว้กลางแจ้ง ให้โคนต้นถึงพื้นดินทุกต้นและกรบโคนต้น รดน้ำให้ดินมีความชื้นโดยกองละประมาณ 500 ต้น ต้นมันสำปะหลังจะรักษาน้ำเลี้ยงคงความสดไว้ได้นานกว่า 2 เดือน ต้นพันธุ์ที่เหมาะสมควรคัดต้นที่สมบูรณ์ ตาของท่อนพันธุ์ต้องถี่ ต้นมีสีออกน้ำตาล หลีกเหลี่ยงการใช้ส่วนที่เป็นโคนต้นและปลายยอดที่มีสีเขียว รวมทั้งลำต้นที่เป็นโพรง วิธีการสับท่อนพันธุ์เป็นเรื่องที่น่าสนใจและใช้ความระมัดระวังอย่างมาก อย่าให้กระทบกระเทือนตาบนท่อนพันธุ์ และแนะนำให้สับตรงหรือเฉียงเล็กน้อย ไม่ควรสับเฉียงจนแหลมมาก นอกจากนั้นต้องตัดท่อนพันธุ์ให้มีความยาวที่เหมาะสม คือ ยาวประมาณ 20-25 ซม. การใช้ต้นพันธ์เพื่อปลูก ถ้าต้นพันธุ์มันสำปะหลังมีความยาวขนาด 1.20 เมตร จะใช้ต้นพันธุ์ประมาณ 500 - 650 ต้นต่อไร่ก็ขึ้นกับพันธุ์
6. วิธีการปลูก
สำหรับการปลูกมันสำปะหลังในประเทศไทยที่เกษตรกรนิยมปลูกมีด้วยกัน 3 วิธีคือ
6.1.การปลูกแบบยกร่อง
6.2.การปลูกแบบพื้นราบ
6.3.การปลูกโดยใช้เครื่องจักร
7.จัดระยะปลูกให้ถูกต้อง
ทุกสภาพดินการปลูกมันสำปะหลังเพื่อเพิ่มผลผลิตสามารถกระทำได้โดยการใช้ระยะปลูกให้เหมาะสมกับชนิดของพันธุ์ที่ใช้ และความอุดมสมบูรณ์ของดิน หลักในการพิจารณาโดยทั่วๆไปที่เป็นที่ทราบกันดีในหมู่ผู้คนที่มีอาชีพปลูกมันสำปะหลังสำปะหลังก็คือ “ดินเลวปลูกถี่ ดินดีปลูกห่าง” ความนิยมของเกษตรกรในแต่ละพื้นที่ โดยจะมีระปลูกโดยทั่วไปเช่น ระยะ1.0 x1.0 เมตรใช้ท่อนพันธุ์ 1_600 ท่อน 1.2 x 0.8 เมตร (1_600 ท่อนปลูกระยะถี่1.0 x 0.8 เมตร (2_400 ท่อน ) ในบางครั้งจะเห็นว่าเกษตรกรนั้นปลูกระถี่กว่านี้จะใช้ระยะ 1.2 x 0.3-0.7 เมตร ขึ้นกับพันธุ์ที่ใช้ปลูก
8. การกำจัดวัชพืช
นอกจากปัญหาเรื่องความอุดมสมบูรณ์ของดินแล้ว ปัญหาวัชพืชหรือทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เรียกว่า “รุ่น” เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ผลผลิตมันสำปะหลังลดลงตลอดฤดูฝน ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ในการปลูกและดูแลรักษาเกิดจากการป้องกันกำจัดวัชพืช โดยเฉพาะในระยะ 1-4 เดือนแรกของการปลูกเกษตรกร
ต้องหมั่นตรวจแปลงปลูกทุก 15 วัน เพื่อแก้ปัญหาวัชพืชโดยใช้หลักป้องกันไว้ก่อน การแก้ปัญหาล่าช้า ปล่อยให้วัชพืชแข็งแรง เจริญเติบโตจนกระทั่งออกดอก จะกำจัดทำลายยากและยืดเยื้อ ใช้ต้นทุนสูง ทำให้มันสำปะหลังแคระแกรน ผลผลิตต่ำ การปลูกมันสำปะหลังในช่วงปลายฤดูฝนซึ่งตรงกับหน้าแล้ง ปัญหาวัชพืชจะไม่รุนแรง
9. การเพิ่มผลผลิตโดยการใช้ปุ๋ยเคมี การใส่ปุ๋ยเคมีให้ทันเวลาหมายถึงการใส่ปุ๋ยเคมีหลังปลูก เพื่อใส่ปุ๋ยเนื่องจากพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังของเกษตรกรส่วนใหญ่ทำในพื้นที่หลายไร่ จึงจำเป็นต้องเริ่มใส่ปุ๋ยให้เร็วเพราะจะทำให้มันสำปะหลังเจริญเติบได้เร็ว สามารถคลุมวัชพืชได้เร็ว และจะช่วยลดปัญหาการชะล้างพังทะลายของดินซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ แล้วยังจะช่วยลดการกำจัดวัชพืชได้ซึ่งจะทำให้ลดต้นทุนการผลิตได้
10. ขุดเก็บเกี่ยวให้ถูกฤดูกาลในช่วงเวลาที่เหมาะสม ส่วนใหญ่ขุดระหว่าง 8-12 เดือน มันสำปะหลังสังเกตุจากมันจะเริ่มทิ้งใบ โดยใช้เครื่องจักรหรือแรงงานคน ส่วนใหญ่จะเริ่มขุดในช่วงเดือนกุมภาพันธุ์ถึงเดือนเมษายนเป็นส่วนใหญ่เนื่องจากมันจะได้อายุครบ 12 เดือนหรือใกล้เคียง อีกช่วงหนึ่งที่มีการขุดหัวมันขายมากก็ในช่วง เดือนกันยายน-ตุลาคม หรือเรียกว่ามันที่ปลูกปลายฤดูฝน หากช่วงไหนราคามันไม่ดีหรือมีแปลงขนาดใหญ่ ที่มีการหมุนเวียนการปลูกภายในฟาร์มขนาดใหญ่ ก็ไม่จำเป็นที่จะขุดที่ 12 เดือน เป็นหลักอาจจะยืดอายุการขุดออกไปถึง 15-18 เดือนเนื่องจากอายุ ยิ่งมาก ผลผลิตก็ยิ่งสูงขึ้นก็ขึ้นกับปริมาณน้ำฝน
ข้อมูลจาก ku.ac.th/e-magazine/ oct51/agri/agri2.htm