<กลับหน้าค้นข้อมูล
แจ้งลิงค์ในเนื้อหาเสีย
โรงงานน้ำตาลแห่เปิดใหม่อีก 5 แห่งรับฤดูการเปิดหีบอ้อยปี 2555/56
โรงงานน้ำตาลแห่เปิดใหม่อีก 5 แห่งรับฤดูการเปิดหีบอ้อยปี 2555/56 ที่จะเริ่มเปิดหีบช่วงปลายปีนี้ รับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายรุ่ง ส่งผลให้โรงงานน้ำตาลทั่วประเทศมีทั้งสิ้น 52 แห่ง ลั่นการผลิตทะลุ 1 ล้านตัน คาดจะเกิดการแย่งอ้อย
แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมเปิดเผยว่า ฤดูการผลิตอ้อยและน้ำตาลทรายในปี2555/56 ซึ่งจะมีการเปิดหีบการผลิตอ้อยประมาณช่วงเดือนพฤศจิกายน 55 นั้นจะมีโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่เกิดขึ้นอีกประมาณ 5 แห่ง ได้แก่ โรงงานน้ำตาลรวมเกษตรอุตสาหกรรม (มิตรผล) จ.เลย กำลังผลิต 25,000 ตันอ้อยต่อวัน โรงงานน้ำตาลขอนแก่น จ.เลย กำลังผลิต 24,000 ตันอ้อยต่อวัน โรงงานไทยกาญจนบุรี จ.อุดรธานี กำลังผลิต 24,000 ตันอ้อยต่อวัน โรงงานน้ำตาลระยอง จ.ชัยภูมิ กำลังผลิต 15,000 ตันอ้อยต่อวัน และโรงงานน้ำตาลมิตรเกษตร จ.อุทัยธานี กำลังผลิต 25,000 ตันอ้อยต่อวัน
“โรงงานทั้งหมดเป็นโรงงานน้ำตาลที่ตั้งใหม่ตามนโยบายการเปิดเสรีช่วงสมัยนายชาญชัย ชัยรุ่งเรืองเป็น รมว.อุตสาหกรรม และต่อเนื่องมายังสมัยนายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รมว.อุตสาหกรรม ซึ่งโรงงานน้ำตาลเดิมมี 47 แห่ง กำลังการผลิตที่ได้รับอนุญาตทั้งหมด 905,320 ตันอ้อย/วัน ซึ่งถือเป็นอัตราที่ใกล้เคียงกับปริมาณอ้อยเดิมที่มีอยู่ แต่ฤดูการผลิตหน้าจะมีโรงงานเพิ่มอีก 5 แห่ง กำลังผลิตเพิ่มอีก 113,000 ตันอ้อยต่อวัน รวมเป็น 52 แห่งกำลังผลิตรวมจะเป็น 1,018,320 ตันอ้อยต่อวัน ซึ่งคาดว่าจะใกล้เคียงกับปริมาณอ้อยที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น แต่ก็คาดว่าจะเกิดการแย่งชิงอ้อยในการนำมาหีบให้ได้มากสุดเช่นกัน” แหล่งข่าวกล่าว
นายกำธร กิตติโชติทรัพย์ ประธานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การเกิดขึ้นของโรงงานน้ำตาลใหม่ในฤดูการผลิต 2555/56 ถือเป็นสัญญาณที่ดีที่เกษตรกรชาวไร่อ้อยจะได้มีการขยายพื้นที่ปลูกอ้อยในอนาคตซึ่งถือเป็นพืชเกษตรตัวเดียวของไทยที่มีศักยภาพในปัจจุบันเพราะแนวโน้มราคาตลาดโลกยังทรงตัวระดับสูง อย่างไรก็ตาม ผลจากการเปิดหีบอ้อยในฤดูการผลิตปี 54/55 ตั้งแต่ช่วงเดือนพฤศจิกายน 54 ขณะนี้มีโรงงานปิดหีบแล้ว 15 แห่งและคาดว่าจะทยอยปิดหีบภายในสิ้นเดือนเมษายนนี้ทั้งหมด
“ขณะนี้อ้อยที่เข้าหีบล่าสุดทั้งสิ้น 95 ล้านตันอ้อย ซึ่งจากการประเมินปีนี้การผลิตอ้อยคงจะไม่ถึง 100 ล้านตันแต่ก็จะใกล้เคียงอยู่ราว 98-99 ล้านตันอ้อย เนื่องจากมีฝนตกมาทำให้การตัดอ้อยที่เหลือยากขึ้น” นายกำธรกล่าว
สำหรับกรณีค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันนั้นไม่ได้มีผลกระทบต่อเกษตรกรชาวไร่อ้อยเนื่องจากปัจจุบันการจ้างตัดอ้อยจะเป็นการรับเหมาเฉลี่ยแล้วค่าจ้างจะเกิน 300 บาทต่อวันอยู่แล้ว แต่ปัญหาคือ แนวโน้มการขาดแคลนแรงงานซึ่งหายากเพราะแรงงานส่วนใหญ่ไปอยู่ในภาคอุตสาหกรรมหมด ดังนั้นเกษตรกรผู้เพาะปลูกอ้อยจะมองหาเครื่องจักรมาทดแทนโดยเฉพาะรถตัดอ้อยมากขึ้น
“ขณะนี้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายมีโครงการสนับสนุนวงเงินประมาณ 1,000 ล้านบาทเพื่อปล่อยกู้ให้กับชาวไร่อ้อยดอกเบี้ย 2% ต่อปีซื้อรถตัดอ้อยผ่อนชำระ 6 ปี ซึ่งขณะนี้พบว่าชาวไร่อ้อยเริ่มสนใจเข้ามาใช้บริการมากขึ้น ซึ่งคาดว่ากองทุนฯ อาจจะตั้งวงเงินเพิ่มให้อีก 1,000 ล้านบาท โดยปัจจุบันรถตัดอ้อยเฉลี่ยจะมีราคาประมาณ 5 ล้านบาทต่อคัน และมีความสามารถตัดอ้อยได้ 8,000-10,000 ตันต่อวัน”
จาก manager.co.th