data-ad-format="autorelaxed">
บทสัมภาษณ์เกษตรจังหวัดอำนาจเจริญ
เมื่อกล่าวถึงธุรกิจที่หล่อเลี้ยงคนทั้งประเทศ หลายๆ คนคงนึกถึงอาชีพ
เกษตรกรรรม ที่เป็นอาชีพที่อยู่กับคนไทยมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย ไม่ว่าจะเป็นการทำไร่ ทำนา ทำสวน และอื่น ๆ วิธีการสร้างผลผลิตทางด้านการเกษตรก็ได้พัฒนาขึ้นตามยุคตามสมัย และไม่ว่าพื้นที่ทางภาคไหน ก็ทำเกษตรกรรมเป็นหลัก โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีพื้นที่ในการทำการเกษตรอันกว้างใหญ่
วันนี้ฟาร์มเกษตร จะมาแนะนำให้กับจังหวัดอำนาจเจริญ ที่มีการพืชเศรฐกิจคือ ข้าว, มันสำปะหลัง,อ้อย และยางพารา โดยนโยบายด้านการเกษตร อยู่ภายใต้การบริหารงานของ เกษตรจังหวัดอำนาจเจริญ
คุณเรวัต พรหมลา ซึ่งวันนี้จะมาให้สัมภาษณ์กับฟาร์มเกษตรค่ะ
ปิยะมาศ :
เกษตรกรที่นี่ทำการเพาะปลูกอะไรเป็นหลักบ้าง และอะไรให้ผลผลิตสูงสุด
คุณเรวัต :
เกษตรกรในจังหวัดอำนาจเจริญส่วนใหญ่ทำนาเป็นหลัก รองลงมาจะทำไร่มันสำปะหลังโรงงาน และปลูกอ้อยโรงงาน ตามลำดับ ซึ่งพื้นที่การเพาะปลูกในปี 2550/2551 แยกตามชนิดพืชและพื้นที่เพาะปลูก ได้ดังนี้
1. ข้าว พื้นที่เพาะปลูก จำนวน 963,040 ไร่
1.1 ข้าวเจ้าหอมมะลิ จำนวน 591,787 ไร่ พื้นที่เสียหาย 25,998 ไร่ พื้นที่เก็บเกี่ยว 565,789 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 447 กิโลกรัมต่อไร่ ผลผลิตรวม 263,140 ตัน คิดเป็นมูลค่า 2,894,540,000 บาท (ราคาข้าวเปลือก 11 บาทต่อกิโลกรัม)
1.2 ข้าวเหนียว จำนวน 361,253 ไร่ พื้นที่เสียหาย 10,854 ไร่ พื้นที่เก็บเกี่ยว 350,399 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 460 กิโลกรัมต่อไร่ ผลผลิตรวม 160,407 ตัน คิดเป็นมูลค่า 1,283,256,000 บาท (ราคาข้าวเปลือก 8 บาทต่อกิโลกรัมต่อไร่)
2. มันสำปะหลังโรงงาน พื้นที่เพาะปลูก 28,609 ไร่ พื้นที่เก็บเกี่ยว 29,219 ไร่ (รวมพื้นที่เพาะปลูกในรอบปีที่ผ่านมา ผลผลิตเฉลี่ย 3,450 กิโลกรัมต่อไร่ ผลผลิตรวม 104,936 ตัน คิดเป็นมูลค่า 178,391,200 บาท (ราคาหัวมันสด 1.70 บาทต่อกิโลกรัม)
3. อ้อยโรงงงาน พื้นที่เพาะปลูก 22,686 ไร่ พื้นที่เก็บเกี่ยว 23,108 ไร่ (รวมพื้นที่เพาะปลูกในรอบปีที่ผ่านมา) ผลผลิตเฉลี่ย 12,000 กิโลกรัมต่อไร่ ผลผลิตรวม 298,788 ตัน คิดเป็นมูลค่า
ปิยะมาศ :
ทางเกษตรจังหวัดมีการสนับสนุนด้านการเพาะปลูกอย่างไรบ้าง
คุณเรวัต :
การสนับสนุนในด้านการเพาะปลูกพืชในส่วนที่สำนักงานเกษตรจังหวัดรับผิดชอบนั้น สามารถแยกตามแหล่งที่มาของโครงการ ได้เป็น 2 ลักษณะ
1. โครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมการเกษตร
- มีการประชุมชี้แจง ฝึกอบรม ถ่ายทอดความรู้ การรวมกลุ่ม ซึ่งจะขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขโครงการที่กรมส่งเสริมการเกษตรกำหนดให้ดำเนินการ
2. โครงการตามยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด (โครงการส่งเสริมและพัฒนาการผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพ มีการสนับสนุนและดำเนินงานเป็นขั้นตอน ดังนี้
2.1 ประชุมชี้แจงเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องในทุกระดับ
2.2 อบรมเตรียมความพร้อมเกษตรกร
2.3 การประชาสัมพันธ์โครงการ
2.4 การสนับสนุนปัจจัยการผลิต (เมล็ดพันธุ์, วัสดุปรับปรุงดิน, ปุ๋ย)
2.5 การจัดงานวันสาธิต
2.6 การถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตตามกระบวนการโรงเรียนเกษตรกร
2.7 การสร้างเครือข่ายผู้ผลิต
การสนับสนุนการเพาะปลูกตามโครงการยุทธศาสตร์พัฒนาจังหวัดโครงการส่งเสริมและพัฒนาการผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพดี นั้น จะเน้นการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตข้าวตามกระบวนการโรงเรียนเกษตรกร โดยจะดำเนินการถ่ายทอดความรู้ในพื้นที่ดำเนินการจุดละ 10 ครั้ง ตามห้วงระยะเวลาการเจริญเติบโตของข้าว ตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมการ ในเรื่องการเตรียมดิน เตรียมเมล็ดพันธุ์ การปรับปรุงดิน ช่วงระยะการเจริญเติบโต ตั้งแต่ระยะกล้าจนถึงการเก็บเกี่ยว และหลังการเก็บเกี่ยว
ปิยะมาศ :
และทางเกษตรจังหวัดมีเงินทุนสนับสนุนด้านการเพาะปลูกบ้างหรือไม่ค่ะ
คุณเรวัต :
ในการสนับสนุนเงินทุนเพื่อการเพาะปลูกนั้น ใน ปี 2549 ที่ผ่านมา สำนักงานเกษตรจังหวัด ได้ขอสนับสนุนงบประมาณจากจังหวัด โดยได้จัดทำโครงการส่งเสริมและพัฒนาการผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพ เป็นค่าใช้จ่ายในการซื้อปัจจัยการผลิต, วัสดุการถ่ายทอดความรู้ให้กับเกษตรกรที่ร่วมโครงการ
ปิยะมาศ :
มีการจัดตั้งชมรมที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรหรือไม่ อย่างไรค่ะ
คุณเรวัต :
มีการจัดตั้งกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตข้าวหอมมะลิที่ปลอดภัยจากสารพิษ ปี 2549 มีผู้เข้าร่วมโครงการ จำนวน 8,900 ราย และผ่านการตรวจรับรอง ตามระบบ GAP ของกรมวิชาการเกษตร จำนวน 5,029 ราย
ปิยะมาศ :
ในด้านการเกษตรได้มีการให้ความรู้เกี่ยวกับการเพาะปลูกและวิธีการใส่ปุ๋ยอย่างไรค่ะ
คุณเรวัต :
ตามที่ได้กล่าวในเบื้องต้นแล้ว นะครับว่า เราจะเน้นการถ่ายทอดความรู้ให้กับเกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการตามกระบวนการโรงเรียนเกษตรกร โดยเริ่มตั้งแต่ในขั้นการเตรียมการ จนถึงหลังจากการเก็บเกี่ยว ซึ่งรายละเอียดและประเด็นการถ่ายทอดความรู้ขึ้นอยู่กับชนิดของพืช ในส่วนการใส่ปุ๋ย ให้ความรู้ผ่านกระบวนการโรงเรียนเกษตรกร เช่นกัน โดยเน้นการใส่ปุ๋ย ต้องถูกสูตร ถูกเวลา ถูกอัตรา ถูกวิธี
ปิยะมาศ :
คิดอย่างไรกับธุรกิจขายเคมีเกษตรให้กับเกษตรกรในปัจจุบัน โดยเฉพาะในอำนาจเจริญ
คุณเรวัต :
ในเรื่องของธุรกิจขายสารเคมีเกษตรนั้น ก็เป็นอาชีพหนึ่งซึ่งสามารถทำได้ตามกฎหมาย สำนักงานเกษตรจังหวัดเองไม่มีอำนาจในการควบคุมการจำหน่ายสารเคมีเกษตร ซึ่งในส่วนนี้กรมวิชาการเกษตรเป็นผู้กำกับดูแลและตรวจสอบการจำหน่าย หากร้านใดจำหน่ายวัตถุอันตรายหรือสารเคมีที่ห้ามใช้ในการเกษตร กรมวิชาการเกษตรสามารถเสนอให้ระงับการดำเนินกิจการดังกล่าวได้ สำหรับในส่วนสำนักงานเกษตรจังหวัด จะเน้นการให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้สารเคมีอย่างถูกต้องและปลอดภัย โดยดำเนินการควบคู่กับการปรับเปลี่ยนทัศนคติของเกษตรให้ตระหนักถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคและผู้ผลิต ปรับเปลี่ยนการผลิตแบบพึ่งพาสารเคมี มาเป็นการเกษตรธรรมชาติ โดยใช้สารสกัดจากธรรมชาติ การใช้พืชปุ๋ยสด การทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยชีวภาพ
ปิยะมาศ :
อยากให้คำแนะนำกับเกษตรกรเกี่ยวกับการใช้เคมีเกษตรอย่างไรบ้าง
คุณเรวัต :
เกษตรกรผู้เพาะปลูกพืช จะต้องตระหนักถึงความปลอดภัยของตนเองและผู้บริโภค ตลอดจนการรักษาความสมดุลของสภาพแวดล้อมเป็นหลักก่อนการใช้สารเคมีใดๆ จะต้องพิจารณาถึงความปลอดภัย ความเหมาะสม ความถูกต้อง จะต้องมีความเข้าใจถึงประโยชน์และโทษของสารเคมีนั้นๆ ซึ่งในการเพาะปลูกพืช การป้องกันกำจัดศัตรูพืช ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาสารเคมีเพียงอย่างเดียว