data-ad-format="autorelaxed">
สวนยางอีสานกับอนาคตที่สดใส “เศรษฐีใหม่สวนยางอีสาน” แม้จะไม่ใช่ “ข่าวใหญ่” ระดับพาดหัวตัวไม้ตามสื่อต่างๆ แต่ก็เป็น “ข่าวเด่น” มากพอที่จะเรียกความสนใจจากทุกคนในสังคมให้หันมามองปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น
เพราะจังหวะก้าวกระโดดของราคายางในตลาดโลกที่พุ่งพรวดขึ้นมาเฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 150 บาทในปีนี้ เป็นช่วงเวลาที่ประจวบเหมาะกับสวนยางในโครงการส่งเสริมการปลูกยางพาราในพื้นที่แห่งใหม่ หรือ โครงการยางล้านไร่ เริ่มเปิดกรีดได้อย่างประจวบเหมาะกันพอดี ทำให้เกษตรกรชาวสวนยางทั้งรายเล็กรายใหญ่สามารถกอบโกยรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ จนชีวิตเปลี่ยนไปราวกับพลิกฝ่ามือ
อีกทั้งผลการประเมินทางเศรษฐกิจทั่วโลกยังระบุว่า อนาคตราคายางจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไป เนื่องจากปริมาณความต้องการในตลาดโลกยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องและมหาศาล
ส่งผลให้ “อาชีพปลูกสวนยางพารา” กลายเป็นเสมือนหนึ่ง “โอกาส” ที่ถูกนำมาวางอยู่ตรงหน้าเกษตรกร หากใครมีโอกาสคว้าไว้ได้ ก็ยากที่จะปฏิเสธ เพราะนี่อาจเป็น “กุญแจ” ไขไปสู่ความมั่นคงของชีวิตและสลัดทิ้งความยากจนได้อย่างถาวร เหมือนดังเช่นที่เกษตรกรชาวสวนยางรุ่นก่อนๆ พิสูจน์ให้เห็นมาแล้ว
“ชนะวงศ์ สมมุติ” เกษตรกรรุ่นใหญ่ใน ต.ทรายขาว อ.วังสะพุง จ.เลย เล่าให้ฟังว่า แต่เดิมสถานภาพของตัวเองก็ไม่ต่างจากเกษตรกรทั่วไปที่มีฐานะยากจนและมีหนี้สินล้นพ้นตัว มีอาชีพหลัก คือ การปลูกพืชไร่ต่างๆ เช่น ลูกเดือย ปอ มันสำปะหลัง แต่ไม่ว่าจะลงแปลงปลูกพืชชนิดไหน ก็ไม่สามารถสร้างความมั่นคงขึ้นมาได้ จนถึงกับต้องใช้เวลาช่วงเว้นจากการเพาะปลูกเดินทางเข้าเมืองกรุงมาขายล็อตเตอรี่รวมทั้งขายแรงงานแลกเงินเลี้ยงครอบครัว อย่างไรก็ตามรายได้ที่มีก็ยังไม่เคยพอกับค่าใช้จ่าย จนหนี้สินพอกพูนเพิ่มขึ้นทุกวัน
“จนมาประมาณปี 2536 รัฐบาลประกาศโครงการอีสานเขียว โดยส่งเสริมให้เกษตรกรในภาคอีสานปลูกยางพารา ซึ่งตอนนั้นเจ้าหน้าที่สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) มาบอกว่า ยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีอนาคตและทำรายได้ระยะยาว ซึ่งผมเองก็ไม่รู้ว่าจะจริงหรือเปล่า แต่ก็อยากลองเสี่ยง เพราะไม่มีอะไรจะเสียแล้ว คิดว่าอย่างไรเสียเราก็เอาไม้มาขายทีหลังได้ เลยตัดสินใจแบ่งที่ 11 ไร่มาทดลองปลูก”
ชนะวงศ์ เล่าอีกว่า หลังจากนั้นประมาณ 7 ปี พอยางชุดแรกกรีดได้ ก็เริ่มเห็นผล โดยเวลานั้นแม้ราคายางจะไม่สูงเท่าทุกวันนี้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นทันที คือ มีรายได้เข้ามาใช้จ่ายในครอบครัวเกือบทุกวัน ดังนั้นในปี 2547 เมื่อรัฐบาลประกาศโครงการยางล้านไร่ขึ้นมา จึงไม่ลังเลที่จะขอเข้าร่วมโครงการโดยปลูกเพิ่มอีก 7 ไร่
“ยางชุดหลังของผมปลูกแค่ 5 ปีก็เริ่มกรีดได้แล้ว ซึ่งถือว่าเร็วกว่าสวนยางทั่วไปที่ต้องใช้เวลาประมาณ 7 ปี ต้นยางถึงจะโตจนได้ขนาดที่เหมาะสมสำหรับการเปิดกรีด ซึ่งปัจจัยข้อแรกน่าจะมาจากพันธุ์ยางที่ได้รับในโครงการยางล้านไร่มีคุณภาพ รวมทั้งคำแนะนำของของเจ้าหน้าที่สกย. และ ซีพี ที่คอยมาสอนทั้งเรื่องการให้ปุ๋ย ยา และการดูแลรักษา ทำให้ต้นยางในสวนของผมโตเร็วและแข็งแรงจนเปิดกรีดได้เร็ว”
นอกจากการดูแลสวนของตัวเองแล้ว ชนะวงศ์ ยังร่วมกับเพื่อนเกษตรกรผู้ปลูกสวนยางรายอื่นใน ต.ทรายขาว ตั้ง “กลุ่มโพนงาม” เพื่อรวบรวมผลผลิตในพื้นที่นำมาผลิตยางแผ่นและนำไปเปิดประมูลในตลาดกลาง ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อรายได้ของทุกคน เนื่องจากไม่ถูกกดราคารับซื้อจากพ่อค้าคนกลาง
ปัจจุบัน ชนะวงศ์ สามารถกรีดยางได้วันละประมาณ 40 กิโลกรัม ซึ่งจากการกรีดแบบวันเว้นวันทำให้มีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 45,000-50,000 บาท ซึ่งมากเพียงพอที่จะนำมาจุนเจือครอบครัว และส่งลูก 2 คนให้เรียนหนังสือได้อย่างสบาย นอกจากนี้ยังมีเงินเหลือเก็บไปซื้อที่ดินเพื่อขยายพื้นที่ปลูกยางได้เพิ่มอีกถึง 11 ไร่
สถานะในวันนี้ของ ชนะวงศ์ จึงแทบไม่ต่างไปจาก “เศรษฐีสวนยาง” ขนาดย่อมคนหนึ่ง อย่างไรก็ตาม แม้จะประสบผลสำเร็จจากการทำสวนยาง แต่สำหรับชนะวงศ์สิ่งที่ดีที่สุดหลังจากการทำสวนยางไม่ใช่เพียงการมีรายได้ที่ดีขึ้น แต่การทำสวนยางทำให้ไม่ต้องระหกระเหินออกไปไหนอีกแล้ว ..ทุกคนในครอบครัวได้กลับมาอยู่ด้วยกันอย่างพร้อมหน้า ทั้งยังหวังว่า สวนยางที่แกสร้างขึ้นในวันนี้ จะเป็นฐานสร้างความมั่นคงในชีวิตของลูกหลานในอนาคตต่อไป
อ้างอิง : http://www.cpcrop.com/