data-ad-format="autorelaxed">
พันธุ์และการผสมพันธุ์แพะ
ปัจจุบันมีผู้สนใจเลี้ยงแพะกันมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามก็มีเกษตรกรที่เลิกกิจการก็เห็นมีเป็นประจำ ดังนั้นการตัดสินใจที่จะเลี้ยงแพะจึงต้องศึกษาข้อมูลให้ดีเสียก่อน เพราะการเลี้ยงแพะไม่ง่ายอย่างที่คิด ควรเริ่มจากประสบการณ์พื้นฐานเสียก่อนโดยอยากเสนอแนะในเรื่องที่อยู่ของแพะ เพราะเกรงว่าผู้ที่สนใจจะเลี้ยงแพะอาจเสียค่าใช้จ่ายในการลงทุนค่าโรงเรือนมากเกินความจำเป็น ดังนั้นที่อยู่ของแพะที่เราเห็นกันทั่วๆ ไปเกษตรกรให้แพะอาศัยในที่ๆ ไม่ต้องลงทุนมาก เช่น ให้แพะอาศัยตามใต้ถุนบ้าน ต่อเติมคอกแพะจากบ้าน ทำคอกแพะข้างบ้าน เป็นต้น การสร้างโรงเรือนให้ได้มาตรฐานต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง กว่าจะได้ทุนคืนต้องใช้เวลานาน แนะนำว่าที่อาศัยของแพะเพียงไม่ให้แพะเปียกฝนและแห้งก็พอแล้ว ถ้าไม่อยู่บนผืนดินหรือคอนกรีตก็จะดี อาจเป็นพื้นยกและมีร่องให้มูลและปัสสาวะลงล่างได้ก็จะดีมาก และระวังอย่าปล่อยให้สุนักกัด ดังนั้น ควรลงทุนให้น้อยที่สุด โดยใช้สิ่งที่มีอยู่มาปรับให้เหมาะสม การสร้างรั้วโดยใช้ลวดหนามนั้นสามารถป้องกันโคและกระบือได้ แต่ไม่สามารถใช้กั้นแพะได้ การเลี้ยงแพะในทุ่งหญ้าจำเป็นต้องสร้างรั้วพิเศษ ซึ่งอาจใช้ลวดปศุสัตว์หรือลวดตาข่ายพิเศษ และใช้ทุนค่อนข้างสูง ที่สำคัญอาจต้องใช้รั้วไฟฟ้ารอบนอกสำหรับป้องกันสุนัขเข้ามากัดแพะ บทความนี้จะให้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับแพะพื้นเมืองของไทย การคัดเลือกและการผสมพันธุ์แพะ
แพะพื้นเมืองของไทย มากกว่า 60% ของแพะพื้นเมืองในภาคใต้ของประเทศไทยมีสีดำ น้ำตาลหรือน้ำตาลสลับดำ ที่เหลืออาจจะมีสีขาวหรือเหลืองปนเข้ามาบ้าง มีเขา และที่พบมีติ่งใต้คอประมาณ 6 % เพศเมียเมื่อโตเต็มวัยมีความสูงตรงปุ่มขาหน้าเฉลี่ย 48.5 เซนติเมตร มีความยาวรอบอกเฉลี่ย 59.6 เซนติเมตร มีน้ำหนักเฉลี่ย 16.4 กิโลกรัม และภายใต้สภาพการเลี้ยงดูในชนบท แพะเพศเมียที่มีอายุ 1 ปี จะมีน้ำหนักประมาณ 12.8 กิโลกรัม แพะพื้นเมืองที่เลี้ยงในสภาพมีอาหารเพียงพอและมีคุณภาพดี มีการจัดการที่ดีสามารถเลี้ยงให้มีน้ำหนักมากกว่า 30 กิโลกรัม แสดงให้เห็นว่า ปัจจัยอื่นๆ นอกเหนือจากพันธุ์ก็มีความสำคัญ การเลี้ยงแพะพื้นเมืองในสภาพที่มีอาหารอุดมสมบูรณ์และมีการจัดการอย่างดี มีน้ำหนักเมื่อเป็นสัด(ยอมรับการผสมพันธุ์) ครั้งแรก ประมาณ 14.3 กิโลกรัม มีอายุประมาณ 6 เดือน การนำแพะพันธุ์ต่างประเทศมาผสมพันธุ์และปรับปรุงพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์แองโกล นูเบียน ซึ่งเป็นพันธุ์กึ่งเนื้อกึ่งนม มีขนาดใหญ่กว่าแพะพันธุ์พื้นเมืองของไทย หากมีเลือดของพันธุ์แองโกล นูเบียน มากกว่า 75 % เลี้ยงยากขึ้น ดังนั้น ผู้ที่ยังไม่มีประสบการณ์ในการเลี้ยงแพะ จึงควรเลี้ยงแพะพื้นเมืองหรือพันธุ์ที่มีระดับเลือดของแพะพันธุ์ต่างประเทศน้อยกว่า 50% เป็นต้น ซึ่งเห็นว่าดีกว่า เพราะมีความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของไทย ซึ่งมีอากาศร้อนและความชื้นสูง หากมีประสบการณ์มากขึ้นและมีความพร้อมจึงหันมาเลี้ยงแพะลูกผสมที่มีระดับเลือดของแพะพันธุ์ต่างประเทศสูงขึ้น นักปรับปรุงพันธุ์สัตว์พยายามคัดเลือกและผสมพันธุ์แพะให้ได้พันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมต่างๆ แพะที่มีเลือดของแพะพันธุ์ต่างประเทศสูง จะต้องให้อาหารที่มีคุณภาพดีและเพียงพอ มีการจัดการอื่นๆ ที่ดีกว่า หากจัดการไม่ดีหรืออาหารไม่เหมาะสม อาจได้ผลผลิตไม่ดีเท่าแพะพื้นเมืองและอาจมีอัตราตายสูง แพะพื้นเมืองมีความทนทานต่อโรคและพยาธิ ทั้งยังมีเปอร์เซ็นต์กระดูกในซากต่ำกว่าแพะลูกผสม จึงทำให้มีสัดส่วนของเนื้แดงหรือเนื้อแดงรวมกันไขมันต่อกระดูกสูงกว่าแพะลูกผสม ซึ่งเป็นลักษณะที่ต้องการ สมรรถภาพในการสืบพันธุ์บางประการของแพะเนื้อลูกผสมต่างๆ ในเขตร้อน พบว่า แม่แพะมีอายุเริ่มให้ลูกครั้งแรก 14 - 17 เดือน ขึ้นอยู่กับการเจริญเติบโตของแพะ และให้ลูกเฉลี่ยครั้งละ 1.5 - 2.0 ตัว อัตราการมีชีวิตรอดของลูกแพะขึ้นอยู่กับน้ำหนักของลูกแพะหากลูกแพะแรกคลอดมีขนาดโตจะพบว่าคลอดยากหรือการปล่อยให้แม่แพะคลอดเองในแปลงหญ้าจะพบว่า ลูกแพะไม่ค่อยแข็งแรง ส่วนจำนวนลูกต่อครอก พบว่าแม่แพะไม่ชอบเลี้ยงลูก การตายส่วนใหญ่เกิดขึ้นตอนคลอด(60%) และตายภายใน 7 วันหลังคลอด ส่วนใหญ่เกิดจากอุบัติเหตุรถชน และสุนัขกัดจึงควรเอาใจใส่เป็นพิเศษในระยะแรก การเลี้ยงแพะแพร่หลายมากขึ้นมีพันธุ์ที่นิยม เช่น พันธุ์ซาแนน ที่มีสีขาวตลอดทั้งตัว เป็นต้น การเริ่มต้นเลี้ยงแพะควรเลี้ยงแพะเนื้อก่อน หากบริเวณใดมีการเลี้ยงแพะนม แสดงว่ามีตลาดของน้ำนมแพะจริงๆ แล้วน้ำนมแพะมีราคาสูงกว่าน้ำนมสัตว์ประเภทอื่น หรือผู้ที่มีกระเพาะอาหารเป็นแผล จำเป็นต้องบริโภคนมแพะ เพราะน้ำนมแพะจะช่วยย่อยและดูดซึมได้ง่าย ในอนาคตแพะนมน่าจะมีความสำคัญมากขึ้น เพราะมีการซื้อน้ำนมแพะเพื่อบริโภคกันมากขึ้นและนิยมให้ลูกสุนัขกิน ซึ่งจำหน่ายในราคาที่สูงมาก
มีรายงานการวิจัยเกี่ยวกับโรคและพยาธิแพะพื้นเมืองน้อยมาก อย่างไรก็ตาม การศึกษาเกี่ยวกับพยาธิ พีระศักดิ์ ได้รายงานในปี พ.ส. 2530 ว่าไข่พยาธิที่พบมากในแพะจังหวัดสงขลา เช่น ไข่พยาธิตัวกลมในทางเดินอาหาร(92%) โอโอซีสท์ของโปรโตซัวเชื้อบิด(83%) และไข่พยาธิของสตรองกายลอยเดส(Strongyloides spp)(55%) Kochapakdee และคณะ(1991) รายงานว่า แพะพื้นเมืองเพศเมียในจังหวัดปัตตานีและสงขลา ที่ซื้อเข้ามาเป็นแม่พันธุ์ ทุกตัวมีพยาธิในอย่างน้อย 1 ชนิด และไข่พยาธิที่พบมากได้แก่ไข่ของพยาธิตัวกลมในทางเดินอาหารและโอโอซีสท์ของโปรโตซัวเชื้อบิด จากการศึกษาเปรียบเทียบความทนทานต่อพยาธินอกจากนั้น จาการศึกษาของผู้เขียน และคระในปี พ.ศ. 2540 พบว่า แพะพื้นเมืองของไทยมีความทนทานต่อพยาธิ Haemonchus contortus ซึ่งเป็นพยาะตัวกลมมากกว่าแพะลูกผสม ซึ่งมีเลือดของพันธุ์แองโกลนูเบียน 25 และ 50 %
การคัดเลือกแพะ ลักษณะของแพะเนื้อที่ต้องการสำหรับเก็บไว้ทำพันธุ์ เป็นแพะที่มีน้ำหนักมากในฝูง มีหน้าอกใหญ่และพัฒนาอย่างดี ลำตัวตรง ขาแข็งแรง และมีลักษณะสมส่วน ไม่มีลักษณะผิดปรกติ ได้แก่ ขาบิด คางยาว หรือสั้นเกินไป เป็นต้น เป็นแพะที่ได้จากลูกแฝดสอง เป็นแพะที่ปราดเปรียว หัวนมยาวและใหญ่ อย่างไรก็ตามการติดต่อซื้อพันธุ์แพะ หาซื้อยาก กรมปศุสัตว์มีการผลิตลูกแพะเพื่อจำหน่ายได้ประมาณ 1,000 ตัวต่อปีเท่านั้น ดังนั้นการซื้อแพะมาทำพันธุ์ อาจไม่มีโอกาสคัดเลือกนัก แต่ควรซื้อจากแหล่งที่เชื่อถือได้จะได้แพะที่ไม่ให้ผลผลิตต่ำ ไม่มีโรคติดมา เกษตรกรบางรายหากขายแพะได้ราคาดีอาจขายยกฝูง การคัดเลือกแพะให้ทำควบคู่กับการคัดแพะทิ้ง เช่น แพะที่ผสมพันธุ์ติดยาก คือต้องผสมหลายครั้งจึงตั้งท้อง แพะที่โตช้า เป็นต้น เกษตรกรจึงควรมีการบันทึกข้อมูล รู้จักสังเกตุ เพราะหากไม่คัดแพะดังกล่าวทิ้งจะเสียค่าใช้จ่ายสูงโดยไม่จำเป็น ทั้งยังสามารถถ่ายทอดลักษณะที่ไม่ดีดังกล่าวสู่ลูกหลานได้ จึงต้องมีการคัดเลือกแพะที่ดีไว้เป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ ก็จะทำให้ได้แพะที่มีลักษณะที่ดี
การผสมพันธุ์แพะ เป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง การผสมพันธุ์อย่างถูกวิธีจะทำให้มีอัตราการผสมพันธุ์ติดสูงและได้จำนวนลูกมากเมื่อคลอด การตัดสินใจว่าจะเริ่มผสมพันธุ์ครั้งแรกเมื่อใด? ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของแพะ แนะนำว่าให้ดูน้ำหนักและอายุเป็นเกณฑ์ แพะพื้นเมืองควรมีอายุมากกว่า 20 กิโลกรัม ซึ่งมีอายุเท่าใด? ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ ถ้าเลี้ยงดีอาจมีอายุไม่ถึง 1 ปี เมื่อผสมพันธุ์แล้ว จะตั้งท้องประมาณ 150 วัน หรือ 5 เดือน การผสมพันธุ์ให้หลีกเลี่ยงการผสมเลือดชิดมากที่สุด หากจำเป็นจริงๆ การผสมพันธุ์ระหว่างทวดกับเหลน(กรณีทวดยังไม่ตายและใช้งานได้)ก็ถือว่าเลือดชิดไม่มาก แต่ต้องหลีกเลี่ยงการผสมพันธุ์ระหว่างลูกพี่ลูกน้อง พี่กับน้อง หรือพ่อแม่กับลูก
คัดจาก : เมืองปศุสัตว์ ฉบับที่ 19