data-ad-format="autorelaxed">
นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า สศก. ได้ติดตามโครงการคัดเลือกพ่อพันธุ์กำแพงแสนเพื่อใช้ผลิตน้ำเชื้อ ที่คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกําแพงแสน เสนอของบประมาณจากกองทุน FTA เพื่อเพิ่มโคเนื้อพันธุ์กำแพงแสน ลดการนำเข้า กระจายพันธุ์โคเนื้อคุณภาพสู่เกษตรกร เพิ่มประสิทธิภาพการเลี้ยงและเพิ่มรายได้แก่เกษตรกร โดยได้รับงบประมาณ 46,026,400 บาท ระยะเวลาดำเนินโครงการ 9 ปี เริ่มตั้งแต่ 19 ธันวาคม 2550 สิ้นสุดโครงการ 31 ธันวาคม 2559
ในการนี้ สศก. ได้ติดตามประเมินผลโครงการช่วงต้นปี 2560 ในพื้นที่ 4 ภาค รวม 15 จังหวัด จากเกษตรกรตัวอย่าง 70 ราย พบว่า ตลอดระยะเวลา 9 ปี สามารถคัดเลือกแม่โคพันธุ์ลูกผสมพื้นเมือง-บราห์มัน เพื่อมาผสมกับน้ำเชื้อชาโรเลส์ได้ 26,316 ตัว คิดเป็นร้อยละ 105 จัดส่งน้ำเชื้อชาโรเลส์ให้เกษตรกร 16,617 โด๊ส คิดเป็นร้อยละ 83 ทำการคัดเลือกลูกโคเพศผู้หลังหย่านมจากการผสมน้ำเชื้อมาเลี้ยงและทดสอบสมรรถภาพจำนวน 250 ตัว คัดเลือกโคพ่อพันธุ์กำแพงแสนคุณภาพดีที่ผ่านการทดสอบไว้ผลิตน้ำเชื้อ 50 ตัว ครบตามเป้าหมาย และคัดเลือกพ่อพันธุ์ที่มีพันธุกรรมยอดเยี่ยมได้ 24 ตัว มาผลิตน้ำเชื้อกำแพงแสนเพื่อจำหน่ายให้เกษตรกรได้รวม 93,832 โด๊ส คิดเป็นร้อยละ 89 ของเป้าหมาย เกษตรกรนำน้ำเชื้อกำแพงแสนไปผสมกับแม่โคกำแพงแสนในฟาร์ม คิดเป็นร้อยละ 64 ปัจจุบันมีน้ำเชื้อกำแพงแสนที่เหลืออยู่ในโครงการจำนวน 62,500 โด๊ส ทางโครงการ จะประสานกรมปศุสัตว์ ซึ่งมีหน่วยงานในพื้นที่ และมีความพร้อมด้านอุปกรณ์ในการผสมเทียม ช่วยดำเนินการกระจายน้ำเชื้อที่เหลือให้กับเกษตรกรผู้ที่สนใจต่อไป
สำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงโคเนื้อกำแพงแสนแบบขุนขาย พบว่ามีต้นทุน 39,682.50 บาทต่อตัว หรือ 70.86 บาทต่อกิโลกรัม น้ำหนักเฉลี่ยที่ขาย 560 กิโลกรัมต่อตัว ส่วนต้นทุนการเลี้ยงโคเนื้อทั่วไป 40,237 บาทต่อตัว หรือ 90.62 บาทต่อกิโลกรัม น้ำหนักเฉลี่ยที่ขาย 444 กิโลกรัมต่อตัว จะเห็นได้ว่าต้นทุนการเลี้ยงโคเนื้อกำแพงแสนต่ำกว่าต้นทุนในการเลี้ยงโคเนื้อลูกผสมทั่วไป 19.76 บาทต่อกิโลกรัม และเกษตรกรที่เลี้ยงโคเนื้อกำแพงแสนจำหน่ายได้ในราคาเฉลี่ย 112.50 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่โคเนื้อทั่วไปจำหน่ายได้เฉลี่ย 102.90 บาท โดยราคาโคเนื้อกำแพงแสนสูงกว่าราคาโคเนื้อทั่วไป 9.60 บาทต่อกิโลกรัม ดังนั้น เกษตรกรที่เลี้ยงโคเนื้อกำแพงแสน มีรายได้สุทธิจากการเลี้ยงโคเนื้อกำแพงแสน 23,317.50 บาทต่อตัว ในขณะที่เกษตรกรที่เลี้ยงโคเนื้อทั่วไปมีรายได้สุทธิ 5,450.60 บาทต่อตัว เกษตรกรที่เลี้ยงโคเนื้อกำแพงแสนมีรายได้สุทธิสูงกว่าเกษตรกรที่เลี้ยงโคเนื้อทั่วไป 17,866.90 บาทต่อตัว ทำให้เกษตรกรมีความพึงพอใจต่อการดำเนินโครงการในระดับมาก
source: naewna.com/local/303389