data-ad-format="autorelaxed">
สมุนไพรไทยตะไคร้หอมไล่ยุง
1. ฤทธิ์ไล่ยุงและแมลง
น้ำมันตะไคร้หอม (Citronella oil) ซึ่งเป็นน้ำมันหอมระเหยสกัดจากต้นตะไคร้หอมสามารถใช้ไล่แมลงได้ (1) ครีมที่มีน้ำมันจากใบตะไคร้หอม ความเข้มข้น 1.25, 2.5 และ 5% มีประสิทธิภาพในการป้องกันยุงกัด เมื่อทดสอบกับยุงก้นปล่อง โดยมีระยะเวลาในการป้องกัน นาน 2 ชม. และที่ความเข้มข้น 10% จะมีระยะเวลาในการป้องกันได้มากกว่า 4 ชม. ตำรับครีมที่มีส่วนผสมของน้ำมันข่า 5% น้ำมันตะไคร้หอม 2.5% และวานิลลิน 0.5% จะมีประสิทธิภาพในการป้องกันยุงกัดได้เช่นกัน โดยมีระยะเวลาในการป้องกัน นานกว่า 6 ชม. (2, 3) และเมื่อทดสอบกับยุงรำคาญ พบว่าตำรับครีมผสม สามารถป้องกันยุงกัดได้ดีกว่าครีมที่ไม่มีน้ำมันหอมระเหย เมื่อนำน้ำมันหอมระเหยจากตะไคร้หอม มาทดสอบกับยุงที่เป็นพาหะของโรคมาลาเรีย ไข้เลือดออก และเท้าช้าง พบว่ามีผลป้องกันยุงกัดได้นาน 8-10 ชม. (4) และในการทดสอบกับยุงลาย พบว่าความเข้มข้นที่ผลในการป้องกันยุงได้ร้อยละ 50 (EC50) และร้อยละ 95 (EC95) มีค่าเท่ากับ 0.031 และ 5.259% ตามลำดับ และน้ำมันหอมระเหย ความเข้มข้น 1% สามารถป้องกันยุงกัดได้ 75.19% (5) สารสกัด 90% เอทานอลจากตะไคร้หอม และสารสกัดตะไคร้หอมที่ผสมกับน้ำมันมะกอกและน้ำมันหอมระเหยกลิ่นชะมดเช็ด เมื่อนำมาทดสอบกับยุงลายและยุงรำคาญตัวเมีย จะมีประสิทธิภาพในการไล่ยุงได้นาน โดยมีค่าเฉลี่ยช่วงเวลาอยู่ที่ 114-126 นาที นอกจากนี้ยังมีผลในการควบคุมกำจัดลูกน้ำยุงได้ด้วย (6) น้ำมันหอมระเหยจากตะไคร้หอม ความเข้มข้น 10% มีฤทธิ์ดีในการไล่ตัวอ่อนของเห็บ โดยให้ผลในการไล่ได้นานถึง 8 ชม. (7) นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ไล่แมลงที่จะมาทำลายเมล็ดข้าวที่เก็บไว้ได้ โดยไม่มีผลต่อคุณภาพของข้าว (8) ตะไคร้หอมยังมีฤทธิ์ไล่ผีเสื้อกลางคืน (9) และพวกแมลงบินต่างๆ ได้ (10)
2. สารสำคัญในการออกฤทธิ์ไล่ยุง
น้ำมันตะไคร้หอมมีส่วนประกอบที่สำคัญในการออกฤทธิ์ คือ camphor (11, 12), cineol (13-15), eugenol (16-19), linalool (20), citronellal, citral (17)
3. การทดลองทางคลินิกใช้ในการไล่ยุง
มีการศึกษาผลของครีมที่มีส่วนผสมน้ำมันหอมระเหย 14% ในการทาป้องกันยุงรำคาญกับอาสาสมัคร 40 คน เปรียบเทียบกับครีมที่ไม่มีตัวยา พบว่าสามารถป้องกันยุงได้ 13 คน ในอาสาสมัครที่ทาครีม 20 คน ขณะที่อาสาสมัครที่ทาครีมที่ไม่มีตัวยา จะไม่สามารถป้องกันยุงได้ (21) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ได้ทดลองประสิทธิภาพป้องกันยุงกัดของครีมตะไคร้หอม 14% พบว่ามีผลป้องกันยุงกัดได้นาน 2 ชม. ซึ่งใกล้เคียงกับครีมจากสารสังเคราะห์ (dimethyl phthatate 20% + diethyl toluamide 5%) (22)
4. ฤทธิ์ฆ่าแมลง
น้ำมันหอมระเหยจากตะไคร้หอม เมื่อนำมารมเมล็ดถั่ว นาน 72 ชม. มีผลฆ่าแมลง Callosobruchus maculatus ที่จะมาทำลายเมล็ดถั่วได้ น้อยกว่าร้อยละ 50 โดยไม่มีผลต่อการงอกของถั่ว (23) แต่มีผลต่อ parasite ของแมลงชนิดนี้มากกว่า (24) สารสกัดตะไคร้หอมผสมกับสารสกัดจากเมล็ดสะเดา และข่า ในอัตรา 200 มล./น้ำ 20 ลิตร มีผลลดการเข้าทำลายของเพลี้ยอ่อนและหนอนเจาะฝักซึ่งเป็นแมลงศัตรูถั่วฝักยาวได้ แต่ไม่สามารถควบคุมการเข้าทำลายของแมลงวันเจาะต้นถั่ว (25) สารสกัดตะไคร้หอม ความเข้มข้น 100 ppm จะให้ผลน้อยมากในการควบคุมแมลงศัตรูกะหล่ำ (26) แต่จะมีผลทำให้ไรแดงกุหลาบตายร้อยละ 95 ภายใน 20.70 ชม. (27) นอกจากนี้สารสกัด10% เอทานอล (ต้นตะไคร้หอมแห้ง 200 ก./4 ลิตร) จะให้ผลดีในการลดปริมาณของหมัดกระโดดซึ่งเป็นแมลงศัตรูคะน้า แต่มีแนวโน้มที่จะทำให้น้ำหนักของคะน้าลดลง (28) แชมพูที่ส่วนผสมของสารสกัดตะไคร้หอม สามารถฆ่าเห็บ หมัดในสัตว์เลี้ยงได้ (29)
5. การทดสอบความเป็นพิษ
เมื่อฉีดสารสกัดด้วยแอลกอฮอล์และน้ำ (1:1) จากต้น ขนาด 1 กรัม/กิโลกรัม เข้าทางช่องท้องหนูถีบจักร ไม่พบความเป็นพิษ (30)
การใช้ตะไคร้หอมไล่ยุง
1. ใช้ต้นตะไคร้หอม ทุบวางไว้ข้างๆ
2. ใช้สารสกัดตะไคร้หอมด้วยแอลกอฮอล์ ชุบสำลีวางไว้ใกล้ๆตัว
อ้างอิง : www.medplant.mahidol.ac.th