data-ad-format="autorelaxed">
พร้อมดันบัวบก ขมิ้นชัน ไพล และกระชายดำขึ้นแท่นผลิตภัณฑ์ Thailand’s Signature ตลาดระดับโลก
นายวินิจฉัย แจ่มแจ้ง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันแนวโน้มตลาดและโอกาสในอุตสาหกรรมสมุนไพรไทย มีการคาดการณ์ว่าเป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูง สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ จึงได้จัดกิจกรรม“Thai Herb InnoBiz Network 2017” ภายในงาน “มหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ” ครั้งที่ 14 ขึ้น ระหว่างวันที่ 30 ส.ค.-3 ก.ย.60 ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี เพื่อชูศักยภาพผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยในตลาดโลก รวมทั้งจัดโปรแกรมสำรวจศักยภาพสมุนไพรไทยตามโรงงานผลิตสมุนไพรที่ได้มาตรฐานสากล เพื่อเสริมสร้างศักยภาพ โอกาสและเครือข่ายธุรกิจสมุนไพรไทย
ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีพืชสมุนไพรที่ชุมชนรู้จักสรรพคุณและนำมาใช้ประโยชน์กว่า 1,800 ชนิด และมี 300 ชนิดที่เป็นวัตถุดิบสมุนไพรที่หมุนเวียนในท้องตลาด โดยปัจจุบันไทยส่งออกสมุนไพรเป็นมูลค่ากว่า 500 ล้านบาท สารสกัดจากสมุนไพรมูลค่ากว่า 270 ล้านบาท และผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง เช่น สบู่ แชมพู และผลิตภัณฑ์รักษาผิวที่ใช้สมุนไพรเป็นส่วนผสมมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท ในขณะที่ตลาดโลก ยอดตัวเลขในอุตสาหกรรมสมุนไพรในตลาดโลกมีมูลค่ารวมกันประมาณ 9.18 หมื่นล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐ
"โดยประเทศที่มีมูลค่าทางการตลาดของสมุนไพรที่สูง ได้แก่ ประเทศเยอรมนี ประเทศญี่ปุ่น และประเทศฝรั่งเศส เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มว่าตลาดสมุนไพรในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาก็มีอัตราการขยายตัวของการบริโภคผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพิ่มสูงขึ้น สืบเนื่องจากได้เริ่มมีความตะหนักถึงความสำคัญของการใช้สมุนไพรและยาแผนโบราณเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลาดสมุนไพรและยาแผนโบราณในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะเป็นตลาดสมุนไพรที่มีอัตราการขยายตัวที่มากที่สุด โดยมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยเป็นประมาณร้อยละ 9.1 ต่อปี และสำหรับอัตราการขยายตัวของการบริโภคผลิตภัณฑ์สมุนไพรในแต่ละประเทศอยู่ที่ระว่างร้อยละ3-12 ซึ่งกลุ่มสินค้าที่มีศักยภาพสูงที่สุดในตลาดสมุนไพร อาทิ กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารเสริมและกลุ่มผลิตภัณฑ์เวชสำอาง" นายวินิจฉัย กล่าว
ด้าน นางสุรีย์พร สหวัฒน์ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ กำลังเร่งขับเคลื่อนนโยบายกตามแผนแม่บทแห่งชาติ ว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ฉบับที่ 1 พ.ศ.2560–2564 เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มของวัตถุดิบสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรภายในประเทศและต่างประเทศ และยกระดับให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ส่งออกวัตถุดิบสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรชั้นนำของภูมิภาคอาเซียน โดยมอบหมายสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เร่งพัฒนาสมุนไพรตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง จึงได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์สมุนไพรและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสมุนไพร โดยมีพืชสมุนไพรเป้าหมาย 4 ชนิด ได้แก่ บัวบก ไพล กระชายดำ และขมิ้นชัน โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ อาหาร ยา และเครื่องสำอาง
รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กล่าวว่า สำหรับการยกระดับพืชสมุนไพรทั้ง 4 ชนิด สู่ผลิตภัณฑ์ Thailand’s Signature สนค. จึงได้วางแนวทางการส่งเสริมและระดับสมุนไพรและผลิตภัณฑ์แปรรูปสมุนไพร โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ประกอบด้วย อาหาร ยา และเครื่องสำอาง โดยแบ่งออกเป็นสินค้าและผลิตภัณฑ์สมุนไพรแปรรูปประเภทต่างๆ ได้แก่ สินค้าประเภทผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สินค้าประเภทโภชนเภสัช ผลิตภัณฑ์ประเภทเวชสำอาง ผลิตภัณฑ์กลุ่มเครื่องสำอาง เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มของวัตถุดิบสมุนไพรทั้ง 4 ชนิดและอื่นๆเพื่อยกระดับให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ส่งออกวัตถุดิบสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรชั้นนำของภูมิภาคอาเซียน ซึ่งปัจจุบันความต้องการใช้สมุนไพรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งความต้องการในการบริโภคเพื่อการสร้างเสริมและดูแลสุขภาพรวมถึงความต้องการในการแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มของสมุนไพรต่างๆเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคและสร้างความหลากหลายในการใช้ประโยชน์จากสมุนไพร ส่งผลให้สมุนไพรถูกนำไปใช้ในอุตสากรรมหลายประเภทและสมุนไพรบางรายการก็เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคและผู้ผลิตเป็นอย่างสูงและสามารถสร้างรายได้มหาศาลให้กับประเทศ
source: siamrath.co.th/n/22453