data-ad-format="autorelaxed">
พลิกป่าพรุ ปลูกปาล์มน้ำมัน
ในปี 2547 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดทำยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน กำหนดเป้าหมายการเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกโดยการใช้พื้นที่นาร้าง และพื้นที่อื่น ๆ ที่มีความเหมาะสม ซึ่งพื้นที่พรุบาเจาะ เป็นแห่งหนึ่งที่สามารถส่งเสริมการปลูกปาล์มน้ำมันได้ กรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยส่วนสำนักจัดตั้งและส่งเสริมสหกรณ์ ส่วนจัดนิคมสหกรณ์ จึงได้จัดทำยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน ซึ่งกำหนดเป้าหมายให้มีการเพิ่มพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันในเขตนาร้าง และในพื้นที่อื่นที่มีความเหมาะสม โดยให้พื้นที่ในเขตนิคมสหกรณ์บาเจาะและนิคมสหกรณ์ปิเหล็ง จังหวัดนราธิวาส ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่พรุ และมีน้ำท่วมขัง
นายเสน่ห์ สภาพันธ์ สหกรณ์จังหวัดนราธิวาส เปิดเผยว่า ณ วันนี้ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าปาล์มน้ำมันเหมาะที่สุดสำหรับการปลูกในพื้นที่ ทั้งนี้เมื่อปี พ.ศ. 2542 ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส ได้ทำการศึกษาทดลองปลูกปาล์มน้ำมันในพื้นที่ป่าพรุและประสบความสำเร็จ สามารถปลูกปาล์มในพื้นที่ป่าพรุได้ และเพื่อเป็นการรองรับผลผลิตปาล์มของเกษตรกรจึงมีการก่อสร้างโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มขึ้นมา 1 โรง ที่จังหวัดนราธิวาส มีกำลังผลิต 45 ตันทะลายปาล์มต่อชั่วโมง โดยมีสหกรณ์ในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ ที่อยู่ในโครงการปลูกปาล์มน้ำมัน จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ สหกรณ์นิคมบาเจาะ จำกัด, สหกรณ์นิคมปิเหล็ง จำกัด, สหกรณ์ผู้ปลูกปาล์มน้ำมันนราธิวาส จำกัด, สหกรณ์ผู้ปลูกปาล์มน้ำมันปัตตานี จำกัด, และสหกรณ์ผู้ปลูกปาล์มน้ำมันยะลา จำกัด รวบรวมผลผลิตนำมาส่งให้กับโรงงาน
ทางด้านนายไพโรจน์ พิธีรัตนานนท์ ผู้อำนวยการนิคมสหกรณ์บาเจาะ จังหวัดนราธิวาส เปิดเผยว่าลักษณะโดยทั่วไปของพื้นที่นิคมบาเจาะ มีลักษณะดินแบ่งเป็น 3 ลักษณะ คือ สันเนินทราย ดินที่ลุ่มน้ำขังหรือดินพรุ และภูเขาเตี้ย ๆ โดยพื้นที่โครงการฯ ด้านชายฝั่งจะเป็นสันเนินทรายกว้างประมาณ 500 เมตร ยาวตลอดจากเหนือจดใต้ ถัดเข้าไปเป็นพื้นที่พรุ ถัดจากพื้นที่พรุเป็นสันเนินทราย และถัดไปเป็นพื้นที่พรุ
การปลูกปาล์มน้ำมันในพื้นที่พรุบา เจาะ จะมีการปรับปรุงดินโดยใช้หินปูนฝุ่นร่วมกับการใส่ปุ๋ยเคมี และเพิ่มปริมาณของปุ๋ยฟอสเฟตให้แก่ดินเปรี้ยว จึงช่วยให้ปาล์มน้ำมันเจริญเติบโตได้ดีและให้ผลผลิตดีตามที่ต้องการ ซึ่งเป็นการดำเนินการที่เป็นผลจากการศึกษาวิจัยของศูนย์ศึกษาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่ได้น้อมนำแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาดำเนินการตามโครงการแกล้งดิน และพบกับข้อสรุปอย่างเป็นทางการแล้วในปัจจุบัน
จากการดำเนินงานในการปรับปรุงบำรุงดินอย่างต่อเนื่องตลอดมา เป็นผลทำให้พื้นที่ของนิคมสามารถปลูกปาล์มน้ำมันได้โดยให้ผลผลิตได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ทำให้เกษตรกรสมาชิกนิคมต่างได้รับประโยชน์กันโดยทั่วหน้า
อ้างอิง : http://www.dailynews.co.th