data-ad-format="autorelaxed">
มาส่องดูการพัฒนาอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันของมาเลเซียกันต่อ...ที่มีการเก็บเงินเซสจากการส่งออกผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มทุกชนิด มาใช้จ่ายในเรื่องอะไร จะเหมือนอย่างที่รัฐบาลไทยช่วยเหลือชาวสวนปาล์มน้ำมันหรือไม่
มาเลเซียมีเป้าหมาย ภายในปี 2563 เกษตรกรจะต้องมีผลผลิตเพิ่มเป็น 4.16 ตันต่อไร่ ได้น้ำมันสกัดในอัตรา 23%...ส่วนของไทยมีเป้าเหมือนกัน ปี 2579 มีผลผลิตเพิ่มเป็น 3.5 ตัน ได้อัตราน้ำมัน 23%
เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย แผนการส่งเสริมของมาเลย์ มีการทำอย่างเป็นระบบแบบแผนและการควบคุม...เริ่มจากลดต้นทุนการผลิต ทำแปลงเล็กให้เป็นแปลงใหญ่ มีกฎหมายบังคับให้เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มรายย่อยรวมกลุ่มกันตั้งเป็นสหกรณ์ เกษตรกรรายย่อย 1,200 ครัวเรือน ต่อสหกรณ์ 1 แห่ง เลยทำให้มาเลเซียมีสหกรณ์ผู้ปลูกปาล์มทั้งประเทศ 134 แห่ง
สหกรณ์ปลูกปาล์มน้ำมันนี่แหละเป็นตัวจักรสำคัญที่ทางการมาเลย์ใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันระดับต้นน้ำ...เกษตรกรจะได้รับความช่วยเหลือผ่านทางสหกรณ์
ใครอยากเดี่ยวดังคนเดียว ไม่รวมกลุ่ม ไม่เพียงอดได้รับความช่วยเหลือ ยังผิดกฎหมายอีกต่างหาก
การช่วยเหลือเกษตรกรให้บรรลุเป้าที่วางไว้...เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต มีกฎหมายห้ามเกษตรกรครอบครองต้นปาล์มที่ให้ผลผลิตต่ำ หรือห้ามมีต้นปาล์มน้ำมันอายุเกินกว่า 25 ปี
ไม่ใช่รู้จักแต่ห้ามอย่างเดียว นอกจากมีการผลิตเมล็ดพันธุ์ปาล์มพันธุ์ดีเพียงพอ ยังมีแผนให้เกษตรกรปลูกปาล์มพันธุ์ใหม่ จ่ายเงินตอบแทนให้เกษตรกรปลูกปาล์มทดแทน 7,500 บาทต่อไร่ (ไม่เกินรายละ 15.6 ไร่) ระหว่างที่เก็บผลผลิตไม่ได้ ยังจ่ายเงินเดือนให้เกษตรกรไว้เลี้ยงชีพนาน 2 ปี เดือนละ 3,900 บาทต่อครัวเรือน
และยังมีงบในการจัดซื้ออุปกรณ์ เครื่องไม้ เครื่องมือ เครื่องจักรกล ทุ่นการใช้แรงงานผ่านสหกรณ์ให้อีก...ช่วยกระทั่งซื้อควายให้ไปใช้แทน เครื่องจักรในพื้นที่รถแทรกเตอร์เข้าไปทำงานไม่ได้
การอุดหนุนช่วยเหลือของมาเลเซียไม่ได้มีแค่นี้...ตอนหน้ามาว่ากันต่อ.
source: thairath.co.th/content/1106405