data-ad-format="autorelaxed">
“วัสดุแทดแทนไม้จากเศษผ้า” นวัตกรรมวัสดุครั้งแรกในโลกฝีมือนักวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ร่วมกับบริษัท สามพิมได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ
“วัสดุแทดแทนไม้จากเศษผ้า” นวัตกรรมวัสดุครั้งแรกในโลกฝีมือนักวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ร่วมกับบริษัท สามพิม จำกัด ได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการ “แปลงเทคโนโลยีเป็นทุน” สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) ก่อนตั้งบริษัทรุกตลาดในยุโรปและสหรัฐอเมริกา พร้อมลงทุนขยายโรงงานรับออเดอร์
จากจุดเริ่มต้นการนำวัสดุเหลือใช้ ไม่ว่าจะเป็น เสื้อเก่า แผ่นป้ายโฆษณา ยางในรถ มาออกแบบเป็นกระเป๋า เครื่องใช้ต่างๆ จนกลายเป็นผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์เดอะ รีเมคเกอร์ (The ReMaker) เป็นที่รู้จักจากกลุ่มลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทว่า ความคิดนอกกรอบของ “ยุทธนา อโนทัยสินทวี” ไม่หยุดเพียงเท่านั้น เขายังเกิดแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์จากเศษผ้าเหลือใช้
แผ่นวัสดุทดแทนไม้จากเศษผ้า
จากการที่เห็นเศษไม้ร่วงจากแผ่นพาร์ทิเคิลบอร์ดที่ถูกสุนัขแทะ ได้จุดประกายแนวคิดการนำเศษผ้าชิ้นเล็กชิ้นน้อยมาอัดให้เป็นแผ่นคล้ายกับการทำแผ่นไม้พาร์ทิเคิล ซึ่งเป็นอีกหนทางในการลดปริมาณวัสดุเหลือใช้ โดยได้รับความช่วยเหลือจากสำนักนวัตกรรมฯ ในการพัฒนา “แผ่นวัสดุทดแทนไม้” จากเศษผ้าอัดสุญญากาศใช้ในธุรกิจการตกแต่งภายในและเฟอร์นิเจอร์ในชื่อ “Garmento Board” ร่วมกับกรมป่าไม้ ได้รับรางวัลจากหลายเวที ที่สำคัญได้รับการบรรจุไว้ในห้องสมุดวัสดุ Material ConneXion ของศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (ทีซีดีซี) ว่าเป็นวัสดุใหม่ในโลกในปี 2555 ส่งผลให้ได้รับออเดอร์จากต่างประเทศจำนวนมาก
“ผมมีโอกาสได้ไปศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งมีบูธของสำนักงานนวัตกรรมฯ อยู่ด้วย จึงเข้าไปคุยด้วยทำให้ได้รู้ว่ามีทุนวิจัยสำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ผมก็เลยเอาไอเดียนี้เข้าไปเสนอ ใช้เวลาอยู่ระยะหนึ่งทางนั้นก็แจ้งผลมาว่าโครงการได้รับอนุมัติ ทางสำนักงานก็ได้ช่วยหานักวิจัยซึ่งก็คือกรมป่าไม้ซึ่งช่วยเหลือเรื่องเครื่องไม้เครื่องมือในการทดลอง เพราะต้องใช้เครื่องมือเฉพาะทาง”
ทว่ากระบวนการผลิตวัสดุแทดแทนไม้จากเศษผ้ายังไม่เป็นกรีนโปรดักส์ 100% เพราะใช้กาวสังเคราะห์เป็นตัวเชื่อมประสาน จึงร่วมกับ นายวีรศักดิ์ สมิทธิพงศ์ ผู้เชี่ยวชาญงานวิจัยพัฒนายางพารา ภาควิชาวัสดุศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ต่อยอดผลงานวิจัยเดิมและพัฒนากาวน้ำยางแข็งตัวและไฟลามช้าสำหรับแผ่นบอร์ดจากเศษผ้า โดยได้รับทุนสนับสนุน 1.01 ล้านบาทในโครงการแปลงเทคโนโลยีเป็นทุน พร้อมทั้งการทดสอบประสิทธิภาพเพื่อให้ผู้บริโภคเกิดการยอมรับ คาดว่าจะสามารถนำเสนอสู่ตลาดได้ในปีหน้า
“ตลาดเป้าหมายยังคงเป็นโซนยุโรป สหรัฐอเมริกา ที่ให้ความสำคัญของกรีนโปรดักส์และใส่ใจเกี่ยวสิ่งแวดล้อม โดยเราจะแยกบริษัทใหม่ออกจากบริษัทสามพิม เพราะแนวทางการทำตลาดสินค้าต่างกัน โดยแผ่นวัสดุจากเศษผ้าจะรองรับความต้องการของผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่ง ปัจจุบันมีกำลังการผลิต 3,000 แผ่นต่อเดือนและจะลงทุนขยายเพิ่มในอนาคต” ยุทธนา กล่าว
จากประสบการณ์การทำธุรกิจ ต้องยอมรับว่า งานวิจัยไทยไม่แพ้ประเทศใดๆ ฉะนั้น ผู้ประกอบการไทยควรหันมาให้ความสำคัญงานวิจัยที่มีอยู่ในมหาวิทยาลัยและหน่วยงานวิจัย ไม่เช่นนั้นจะเสียโอกาสที่จะพัฒนานวัตกรรมสู่ตลาด เพราะลำพังแค่งานดีไซน์เพียงอย่างเดียวนั้นไม่พอสำหรับการสร้างความแตกต่าง ที่จะนำมาเป็นจุดขายให้กับสินค้าหรือบริการ ฉะนั้น ในยุคที่การแข่งขันรุนแรง งานวิจัยจะเป็นตัวช่วยสร้างความน่าเชื่อถือและโลกทัศน์ใหม่ในการทำธุรกิจในอนาคต
ฐานเศรษฐกิจใหม่จากนวัตกรรม
นายพันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมฯ กล่าวว่า แผ่นวัสดุจากเศษผ้าเป็นนวัตกรรมระดับประเทศด้านผลิตภัณฑ์แผ่นวัสดุทดแทนไม้ที่เกิดจากการรีไซเคิลเศษผ้าเหลือจากอุตฯ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม โดยนำมาเข้ากระบวนการ ขึ้นรูปอัดแข็งแล้วสับย่อยให้เป็นชิ้นเล็กๆ และเชื่อมประสานด้วยกาวยางธรรมชาติจากงานวิจัยของ ม.เกษตรฯ เป็นตัวอย่างของความสำเร็จในการสร้างนวัตกรรมที่เกิดจากการต่อยอดผลงานวิจัยและพัฒนา
โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์นี้ยังได้รับความร่วมมือและขับเคลื่อนนวัตกรรมจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ที่ได้ริเริ่มและเป็นแกนกลางการทำงานร่วมกันตามนโยบายประชารัฐ ซึ่งจะเป็นแนวทางการสร้างนวัตกรรมจากผลงานวิจัยให้เพิ่มจำนวนขึ้น เพื่อสร้างอุตสาหกรรมใหม่บนพื้นฐานงานวิจัยและเทคโนโลยีของคนไทย ตอบโจทย์ความต้องการตลาดโลกที่ให้ความสำคัญกรีนโปรดักส์ ซึ่งเป็นแนวทางการสร้างฐานเศรษฐกิจใหม่จากนวัตกรรม รวมทั้งช่วยแก้ปัญหายางพาราด้วย
source: bangkokbiznews.com/news/detail/783081