data-ad-format="autorelaxed">
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป หรือตัวเลขเงินเฟ้อเดือนตุลาคม อยู่ที่ 101.38 สูงขึ้น 0.16% จากเดือนกันยายน และเป็นอัตราเงินเฟ้อที่สูงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 เนื่องจากสินค้าหลายรายการปรับราคาสูงขึ้น อาทิ ผักสดและผลไม้ น้ำมันขายปลีก บุหรี่-สุรา และค่าโดยสารเรือ ส่วนที่ราคาลดลง คือบรรดาสินค้าปศุสัตว์ทั้งหมู ไก่ และไข่ไก่ ที่ราคาลดตามความต้องการที่ลดลงในช่วงปิดเทอมและเทศกาลกินเจ
เรื่องสินค้าราคาลดนี้ต้องบอกว่าน่าเห็นใจเกษตรกรผู้เลี้ยง ที่วันนี้ราคาหล่นจนต่ำกว่าต้นทุนไปมาก จนไม่รู้ว่าเกษตรกรจะทนสู้กับสถานการณ์ราคาที่ตกต่ำเช่นนี้ไปได้อีกนานแค่ไหน
นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดราชบุรี นิพัฒน์ เนื้อนิ่ม บอกว่า ตอนนี้เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูทั่วประเทศกำลังประสบปัญหาราคาหมูตกต่ำ เพราะราคาประกาศหมูเป็นหน้าฟาร์มลดลงเป็นสัปดาห์ที่ 5 ติอต่อกัน ปัจจุบันราคาซื้อขายอยู่ที่ 44-45 บาท ขณะที่ต้นทุนเฉลี่ยถีบตัวสูงไปถึง 55 บาทต่อกิโลกรัมแล้ว ทั้งหมดก็เนื่องมาจากหลายปัจจัย ทั้งกำลังการบริโภคที่ตกต่ำ กำลังซื้อของผู้บริโภคถดถอยลงไปมาก ประกอบกับช่วงที่ผ่านมาทั่วประเทศยังมีฝนตกหลายพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วม ส่งผลให้เกษตรในต้องเร่งระบายหมูออกสู่ตลาดเพื่อลดความเสี่ยง ขณะเดียวกันอาทิตย์ก่อนก็เป็นช่วงเทศกาลกินเจทำให้การบริโภคเนื้อหมูต่ำลงอย่างชัดเจน เมื่อปริมาณผลผลิตไม่สมดุลกับการบริโภคเช่นนี้ จึงเกิดภาวะหมูล้นตลาด ปริมาณหมูสะสมมีมาก เกษตรกรจำเป็นต้องขายให้กับพ่อค้าคนกลางในราคาต่ำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
นิพัฒน์ ย้ำว่า ราคาหมูตอนนี้ลดต่ำลงจนไม่คุ้มทุนแล้ว เกษตรกรจำเป็นต้องขายขาดทุนผูกหางหมู 1,000 บาทต่อตัว แต่ก็ต้องยอมแบกรับภาระเพราะต้องการประคับประคองอาชีพนี้ต่อไปและไม่อยากให้กระทบต่อผู้บริโภค แต่ตอนนี้เป็นห่วงว่าถ้าเกษตรกรไม่สามารถสู้ต่อได้แล้วจะพากันเลิกเลี้ยงหมู ย่อมส่งผลต่อราคาขายในประเทศซึ่งผู้เลี้ยงไม่อยากให้เกิดขึ้น วันนี้เกษตรกรพยายามพูดคุยกันเพื่อวางแผนการเลี้ยงอย่างเป็นระบบป้องกันหมูล้นตลาด ควบคู่กับการเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุน พร้อมรณรงค์การบริโภคเพิ่มขึ้น ที่สำคัญในภาวะที่ราคาหมูหน้าฟาร์มลดเช่นนี้ ผู้บริโภคควรต้องได้รับประโยชน์โดยตรง จึงขอให้ภาครัฐเข้มงวดกับผู้ค้าเขียงที่ไม่ปรับลดราคาตามหมูเป็นด้วย
“ปัจจุบันเกษตรกรหลายรายวิตกกังวลเกี่ยวกับกระแสที่สหรัฐอเมริกากดดันให้ไทย เปิดนำเข้าเนื้อหมูจากสหรัฐ ซึ่งภาครัฐมีแนวโน้มจะเปิดรับเนื้อหมูสหรัฐฯที่ใช้สารเร่งเนื้อแดง เรื่องนี้มีผลทางจิตวิทยาทั้งต่อผู้บริโภคและเกษตรกรผู้เลี้ยง ทำให้เกษตรกรเริ่มทยอยเลิกเลี้ยงเพื่อหนีปัญหา โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยและรายกลางที่ไม่สามารถแข่งขันด้านตลาดได้อย่างแน่นอน เราขอเรียกร้องให้ภาครัฐพิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ และทุกคนยังคงยืนยันคัดค้านอย่างถึงที่สุด เพื่อรักษาอาชีพและปกป้องสุขภาพคนไทยจากอันตรายของสารเร่งเนื้อแดง”
ส่วนไก่ไข่ที่วันนี้ได้รับผลกระทบจากภาวะราคาตกต่ำไม่ต่างกัน ยศพงศ์ ถิระวุฒิ กรรมการสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ภาคใต้ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีแม่ไก่ไข่ยืนกรงจำนวน 50.60 ล้านตัว ให้ผลผลิตไข่ไก่เฉลี่ย 15,659 ล้านฟองต่อปี คิดเป็นผลผลิตเฉลี่ย 42.90 ล้านฟองต่อวัน ขณะที่การบริโภคของคนไทยเฉลี่ยเพียง 40.42 ล้านฟองต่อวัน จึงมีไข่ไก่ล้นตลาดอยู่ถึง 2.48 ล้านฟองต่อวัน การไม่สมดุลกันของปริมาณการผลิตและการบริโภคนี้ ทำให้ราคาไข่ไก่ลดลงอย่างต่อเนื่องมาร่วม 2 เดือน ราคาขายไข่คละหน้าฟาร์มปัจจุบันอยู่ที่ 1.80-2.00 บาทต่อฟอง สวนทางกับต้นทุนการผลิตไขไก่ที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ระบุไว้ที่ฟองละ 2.80-2.90 บาท ผู้เลี้ยงไก่ไข่จึงต้องแบกรับภาระขาดทุนถึงฟองละเกือบ 1 บาท ทั้งนี้เนื่องมาจากการบริโภคที่ลดลงจากช่วงเทศกาลกินเจ และโรงเรียน-มหาวิทยาลัยปิดภาคเรียน ทำให้เกิดภาวะผลผลิตเหลือบริโภคสะสม เกษตรกรโดยเฉพาะผู้เลี้ยงรายย่อยขาดทุนมานานหลายเดือน เกษตรกรตัดสินใจปลดไก่และพักเล้า และหลายรายจำต้องเลิกกิจการเพราะแบกรับต้นทุนไม่ไหว
ยศพงศ์ บอกว่า อุตสาหกรรมไก่ไข่ยังนับว่าโชคดีที่ปัญหากำลังจะได้รับการแก้ไข จากความร่วมมือของทุกภาคส่วน หลังจากที่กรมปศุสัตว์และผู้ผลิตไข่ไก่ทั่วประเทศได้ร่วมกันเร่งแก้ปัญหาและเดินหน้า 2 มาตรการรักษาเสถียรภาพราคาไข่ไก่ ด้วยการเร่งปลดระวางแม่ไก่ไข่ยืนกรง 2 ล้านตัว พร้อมผลักดันการส่งออกไข่ไก่เพิ่มเป็น 100 ล้านฟองจากมติเดิมที่ 60 ล้านฟอง เพื่อเร่งแก้ปัญหาไข่ไก่ล้นตลาด จะทำให้ปริมาณไข่ไก่ที่ล้นตลาดในปัจจุบันลดลง และสมดุลกับการบริโภค คาดว่าปัญหานี้จะหมดไปภายใน 3 เดือน ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยลดผลกระทบผู้เลี้ยงไก่ไข่รายย่อยได้ ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์เตรียมนำเสนอมาตรการต่อคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ (Egg Board) เพื่อพิจารณาต่อไป
“ขอฝากถึงภาครัฐว่าในวันที่ไข่ไก่ราคาสูงภาครัฐมาคอยควบคุมราคาไม่ให้กระทบกับผู้บริโภค แต่เมื่อเกษตรกรเดือนร้อนภาครัฐก็ควรเข้ามาช่วยดูแลให้ครบวงจรด้วย รวมถึงการพิจารณามาตรการที่จะช่วยเหลือเราได้ เช่น เรื่องการลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ หรือการนำเข้าวัตถุดิบทดแทนเพื่อให้ต้นทุนค่าอาหารสัตว์ต่ำลง รวมถึงการเร่งรัดโครงการไข่โรงเรียนที่สมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่เสนอไปก่อนหน้านี้ให้สามารถดำเนินการได้โดยเร็วที่จะช่วยบรรเทาปัญหาได้อีกทางหนึ่ง ที่สำคัญช่วงที่ราคาไข่ไก่ถูกลงเช่นนี้ ถือเป็นโอกาสของผู้บริโภคที่จะได้หันมากินไข่ไก่ให้มากขึ้น เพราะนอกจากจะได้รับประโยชน์จากไข่ไก่ที่เหมาะกับคนทุกเพศทุกวัยแล้ว ยังถือเป็นการช่วยเกษตรกรได้ด้วย”
ด้าน สมศักดิ์ ฤทธิ์จรุง นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่พันธุ์ กล่าวถึงสถานการณ์ราคาไก่เนื้อในขณะนี้ว่า จากภาวะน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลาง ส่งผลกระทบกับไก่เนื้อ โดยมีไก่ใหญ่ขนย้ายไม่สะดวก ขนออกไม่ได้ และในพื้นที่น้ำท่วมกำลังการบริโภคค่อนข้างต่ำ ส่งผลต่อการบริโภคเนื้อไก่ที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ทำให้ราคาไก่เนื้อโดยรวมลดต่ำลงอย่างต่อเนื่องมามากกว่า 2 เดือน ปัจจุบันกำลังเร่งระบายผลผลิตสะสมในช่วงที่ผ่านมาเพื่อผ่อนคลายปัญหาที่เกิดขึ้น ช่วงที่ผ่านมาติดปิดเทอมทำให้การบริโภคโดยรวมตกต่ำ และมีเทศกาลกินเจด้วยซึ่งต้องยอมรับว่าภาวะตลาดซบเซามากกว่าทุกปี เพราะโดยปกติหลังจากเทศกาลแล้วการบริโภคจะกลับขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด แต่วันนี้ตลาดยังทรงตัวไม่เพิ่มขึ้นเหมือนที่เคยเป็น อย่างไรก็ตามเชื่อว่ากำลังการบริโภคที่เริ่มกระเตื้องขึ้นมาเล็กน้อย และภาวะฝนตก น้ำท่วม ก็ทุเลาเบาบางลง น่าจะช่วยให้ภาวะราคาไก่เนื้อดีขึ้นได้ แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์การบริโภคของผู้บริโภคอีกว่าจะกลับมาดีขึ้นอย่างที่ควรจะเป็นหรือไม่ จึงอยากเชิญชวนให้ผู้บริโภคหันมาบริโภคเนื้อสัตว์ ทั้งเนื้อไก่ เนื้อหมู รวมถึงไข่ไก่ที่มีคุณประโยชน์สูงเพื่อช่วยให้เกษตรกรผู้เลี้ยงยังสามารถประกอบอาชีพได้ต่อไป
ในวันที่ทั้งหมู ไก่ ไข่ ราคาลดลงเช่นนี้ ในฐานะผู้บริโภคสามารถช่วยแก้ปัญหาให้กับพี่น้องเกษตรกรคนไทยได้ด้วยการหันมาบริโภคอาหารโปรตีนเหล่านี้มากขึ้น ขณะเดียวกันภาครัฐก็ต้องเร่งดูแลแก้ปัญหาก่อนที่เกษตรกรจะล้มหายตายจากไปมากกว่านี้
source: siamrath.co.th/n/26092