data-ad-format="autorelaxed">
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกำลังจะไปเยือนสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของประเทศ ตามคำเชิญของประธานาธิบดี“โดนัลด์ ทรัมป์”ภายในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้
ที่จริงเรื่องเยือนสหรัฐฯนี้ ถูกทีมงานโฆษกรัฐบาลคสช.ตีปี๊บมาตั้งแต่เดือนเม.ย.แล้ว โดยระบุว่า ประธานาธิบดี “ทรัมป์” โทรศัพท์สายตรงมาเชิญพล.อ.ประยุทธด้วยตนเอง ตอนแรกคาดจะได้ไปช่วงก.ค.แต่จนแล้วจนรอด กำหนดวันเวลาที่แน่นอนก็ไม่คลอดเสียที กระทั่งมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ เห็นท่าสหรัฐฯคงล้มเลิกแผนให้ผู้นำไทยไปเยือนแล้ว...แต่ทีมงานรัฐบาล คสช.ก็ยืนยันไม่ล้มเลิกเพียงแต่ยังจัดตารางเวลาที่สะดวกด้วยกันทั้งสองฝ่ายไม่เรียบร้อยกระทั่งต้นส.ค.ที่ผ่านมา นายกฯบิ๊กตู่ก็ยืนยันเองว่าจะไปเยือนสหรัฐฯช่วงต.ค.นี้ ซึ่งมีข่าวว่าน่าจะไม่เกินกลางเดือน เพื่อกลับมาทันงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9
แม้ตอนนี้จะรู้แน่แค่ไปเดือนต.ค.ยังไม่ระบุช่วงวันที่เท่าไหร่ แต่นายกฯบิ๊กตู่และรัฐบาลคสช.ก็ให้ความสำคัญกับการไปเยือนอย่างเป็นทางการครั้งนี้มาก เพราะเท่ากับเป็นการยกระดับความยอมรับต่อรัฐบาลคสช.อย่างมีนัยสำคัญ หลังจากสหรัฐฯได้ลดความสัมพันธ์ต่อไทยนับตั้งแต่ คสช.รัฐประหาร 22 พ.ค.2557 โดยไม่ยอมให้ผู้นำรัฐบาล คสช.เข้าสหรัฐฯ รวมทั้งกดดันให้เร่งคืนประชาธิปไตย จนช่วงหลังนี้ ถึงเริ่มผ่อนคลาย เพิ่งยอมให้นายกฯบิ๊กตู่เดินทางไปสหรัฐฯเพื่อประชุมสหประชาชาติได้
อย่างไรก็ตามท่าทีที่เปลี่ยนไปของสหรัฐฯย่อมไม่ใช่เรื่องที่คำนึงถึงความสัมพันธ์อันยาวนานที่มีต่อไทยเป็นหลัก แต่เป็นเพราะเรื่องผลประโยชน์ทั้งด้านการเมือง ความมั่นคงและเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ฉะนั้นการที่ผู้นำไทยไปพบปะเจรจากับ“ทรัมป์” ย่อมมีหลายเรื่อง หลายเงื่อนไขที่สหรัฐฯต้องการที่จะให้ไทยตกลงปฏิบัติตามต่อไป เพื่อผลประโยชน์แห่งชาติของสหรัฐฯตามนโยบายของ“ทรัมป์”
แล้วก็มีอยู่เรื่องหนึ่งที่เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูและคนในแวดวงธุรกิจหมูของไทยพากันหวั่นวิตกจนรวมตัวกันไปยื่นหนังสือต่อนายกฯบิ๊กตู่ที่ทำเนียบรัฐบาล และเคลื่อนไหวไปยังกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นั่นคือเรื่องที่มีข่าวว่าสหรัฐฯต้องการให้ไทยเปิดตลาดนำเข้าชิ้นส่วนสุกรจากสหรัฐฯ เพื่อลดปัญหาการขาดดุลการค้าที่มีต่อไทยมหาศาล...กลายเป็นประเด็นร้อนที่องค์กรของผู้เลี้ยงหมูทั่วประเทศนำโดยสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติได้รวมพลังคัดค้านเต็มที่ ด้วยเหตุผลสำคัญเพื่อปกป้องอาชีพเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูและปกป้องความปลอดภัยทางอาหารของผู้บริโภคชาวไทย
ทั้งนี้ เพราะสหรัฐฯเป็นผู้เลี้ยงหมูอันดับ 1 ของโลกมีต้นทุนการเลี้ยงต่ำกว่าไทยเกือบเท่าตัว ถ้าดัมพ์ชิ้นส่วนหมูในส่วนหัว ขาและเครื่องใน เข้ามาขายไทยเหมือนที่ฟิลิปปินส์ เวียดนาม เจอมาแล้ว ราคาหมูไทยจะอยู่ไม่ได้ ซึ่งไทยมีผู้เลี้ยงหมูรายย่อย-รายกลางถึง 75% จะขาดทุนหนักจนเลิกเลี้ยง หมดอาชีพแน่นอน
ที่สำคัญฟาร์มสุกรทั้ง 100% ของสหรัฐฯมีการใช้สารเร่งเนื้อแดง (แร็คโตปามีน) เพราะใช้ได้ถูกกฎหมาย ขณะที่สารดังกล่าวต้องห้ามเด็ดขาดตามกฎหมายไทย 3 ฉบับ คือ พ.ร.บ.ควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ.2558 กับพ.ร.บ.ควบคุมการฆ่าสัตว์การจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ.2559ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และพ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 ของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งได้กวดขัดเข้มงวดจับกุมและลงโทษหนักกับผู้เลี้ยงที่ลักลอบใช้สารเร่งเนื้อแดง เพราะเป็นสารที่เสี่ยงก่อให้เกิดมะเร็ง…
ดังนั้น หากปล่อยให้นำเข้าชิ้นส่วนสุกรสหรัฐฯ ไม่เพียงแต่จะก่อปัญหาความเสี่ยงต่อสุขภาพผู้บริโภคไทยเท่านั้น ยังส่งผลกระทบหนักต่อภาพลักษณ์“ครัวโลก”ของไทย จนเสียหายต่อการส่งออกสินค้าอาหารไทยด้วย เพราะทั้งสหภาพยุโรป,ญี่ปุ่น,จีนและรัสเซียที่เป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทย ต่างก็มีมาตรฐานห้ามเรื่องสารเร่งเนื้อแดง
ความจริงสหรัฐฯกดดันให้ไทยนำเข้าชิ้นส่วนสุกรมาหลายครั้งแล้ว โดยเฉพาะในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่ด้วยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องรวมพลังต่อต้าน รวมทั้งท่าทีกระทรวงเกษตรฯที่ยืนยันไม่เห็นด้วย จึงทำให้สหรัฐฯกดดันไทยไม่สำเร็จ หนนี้ก็มีข่าวว่า กรมปศุสัตว์ได้ชงข้อมูลทางวิชาการเรื่องการใช้สารเร่งเนื้อแดงของสหรัฐฯให้นายกฯก่อนบินไปอเมริกาแล้ว...ดังนั้นทุกฝ่ายก็หวังว่า นายกฯบิ๊กตู่จะเจรจากับ“ทรัมป์”โดยคำนึงถึงผลประโยชน์แห่งชาติ ผลประโยชน์ของเกษตรกรไทยเป็นหลัก อย่าได้จำนนต่อแรงกดดันของสหรัฐฯ
ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลคสช.เคยทำได้ดีในการรับแรงกดดันของสหรัฐฯมาแล้ว ครั้งนี้ก็ขอให้ยืนหยัดให้สมศักดิ์ศรีต่อไป
source: naewna.com/local/290050