data-ad-format="autorelaxed">
นายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า กยท. ร่วมกับ สหกรณ์ตราดยางพารา จำกัด จ.ตราด ดำเนินโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีเสริมสร้างศักยภาพเกษตรกรชาวสวนยางสู่ความยั่งยืนด้วยมาตรฐาน FSC (Forest Stewardship Council) หรือ “ตราดโมเดล” เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันด้านธุรกิจยางพาราให้กับเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และสร้างรายได้จากการจัดทำระบบการขอรับรองมาตรฐาน FSC ให้กับ กยท. ถือเป็นโครงการนำร่องการจัดการสวนยางพาราของเกษตรกรในเขตภาคตะวันออกประมาณ 50,000 ไร่ และในจังหวัดเชียงรายอีกประมาณ 14,000 ไร่ รวม 64,000 ไร่ ให้ได้รับมาตรฐาน FSC ตามนโยบายของ กยท. ที่จะผลักดันให้สวนยางที่ขึ้นทะเบียนไว้กับ กยท. ประมาณ 18 ล้านไร่ ให้ผ่านการรับรองมาตรฐาน FSC ทั้งหมดภายในปี 2563
สำหรับ FSC เป็นองค์กรเอกชนผู้ให้การรับรองมาตรฐานการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน ที่ได้รับความเชื่อถือในระดับโลก เป็นการรับประกันว่าไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน FSC ไม่ได้มาจากป่าธรรมชาติ แต่เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากป่าปลูกที่มีการจัดการป่าไม้อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ และเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ซึ่งในอนาคตมีแนวโน้มว่า มาตรฐาน FSC จะถูกนำมาใช้กับยางพาราด้วย ขณะที่สหภาพยุโรปก็ได้ประกาศว่าอีก 3 ปีข้างหน้าจะไม่รับซื้อไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ยางพาราและอาจจะรวมถึงผลิตภัณฑ์อื่นๆที่มาจากสวนยางพาราไม่ได้รับมาตรฐาน FSC ดังนั้นประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกยางรายใหญ่ของโลกจะต้องเร่งปรับตัวรองรับการบังคับใช้มาตรฐานดังกล่าว ซึ่ง “ตราดโมเดล” เป็นโครงการนำร่องที่จะรวบรวมสวนยางของเกษตรกรรายย่อยมาพัฒนา
นายประเสริฐ จรัญฤทธิกุล ประธานสหกรณ์ตราดยางพารา จำกัด กล่าวว่า โครงการตราดโมเดล นอกจากจะเป็นการพัฒนาสวนยางสู่มาตรฐานสากล อันส่งผลให้ผลผลิตจากสวนยางพาราที่ได้การรับรอง สามารถขายได้ในราคาที่สูงขึ้นกว่าราคาตลาดแล้ว ยังได้มีการวางแผนการทำงานเพื่อให้เกิดการรับรองมาตรฐาน FSC ในกลุ่มน้ำยาง (Latex) ครั้งแรกประเทศไทย ซึ่งจะสอดคล้องกับกระแสโลกที่ความต้องการสินค้าที่มีการรับรองแหล่งที่มาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมทั้งยังเป็นการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืนให้กับเกษตรกรชาวสวนยาง ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนสร้างรายได้จากธุรกิจใหม่ ในการจัดทำระบบขอการรับรองมาตรฐาน FSC ให้กับ กยท. อีกด้วย
“การดำเนินโครงการตราดโมเดล เป็นการสร้างมาตรฐานการจัดการสวนยางอย่างยั่งยืนให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งไม่สามารถที่จะคิดเป็นมูลค่าได้ ยางที่ได้จากสวนยางเหล่านี้สามารถส่งยางไปขายได้ทั่วโลก โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และกลุ่มลูกค้าที่ต้องการการรับรองความต่อเนื่องของผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐาน FSC” นายประเสริฐกล่าว
อย่างไรก็ตาม การจัดการสวนยางพาราให้ได้มาตรฐาน FSC นั้นไม่ได้บังคับ เป็นความสมัครใจของเกษตรกรชาวสวนยางเอง หากต้องการสร้างความยั่งยืน มั่นคงให้กับอาชีพการทำสวนยาง เกษตรกรจะต้องปรับตัวเข้าร่วมโครงการ ซึ่งการพัฒนาสวนยางให้ได้รับมาตรฐาน FSC ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะเกษตรกรชาวสวนยางทุกคนสามารถทำได้ และไม่ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น แต่กลับจะทำให้ผลผลิตเพิ่ม อายุการกรีดยางยาวนานขึ้น ที่สำคัญตลาดมีความต้องการสูง และขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จนผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการ ดังนั้นหากเกษตรกรชาวสวนยางต้องการความมั่นคง มั่งคั่งให้กับชีวิต ควรจะเข้าร่วมโครงการตราดโมเดลเป็นอย่างยิ่ง
source: naewna.com/local/293254