data-ad-format="autorelaxed">
นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่า กรมอุทยานแห่งชาติฯ เล็งเห็นความสำคัญของพะยูนและแหล่งหญ้าทะเล ที่เป็นระบบนิเวศชายฝั่งที่จะเชื่อมต่อระหว่างระบบนิเวศป่าชายเลนกับแนวปะการัง จึงได้จัดเวทีประชุมการอนุรักษ์พะยูนและแหล่งหญ้าทะเลระดับประเทศขึ้น เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดการพะยูนและแหล่งหญ้าทะเล ตลอดจนการอนุรักษ์พะยูนและแหล่งหญ้าทะเลในประเทศไทย เมื่อ 16 ตุลาคม ที่ผ่านมา ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพมหานคร เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ สำหรับใช้เป็นต้นแบบในการบูรณาการจัดการระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมของแหล่งหญ้าทะเล ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารของพะยูน นอกจากนี้โครงการดังกล่าวยังเป็น 1 ใน 5 กิจกรรม ของกรม
อุทยานแห่งชาติฯ ที่ดำเนินโครงการ “อนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตในทะเลไทย ในพระดำริของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์”ร่วมกับกองทัพเรือ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนองพระดำริที่ทรงมีเจตนารมณ์ในการอนุรักษ์แนวปะการัง และสิ่งมีชีวิตในทะเลไทย
โดยการประชุมมีการเสวนาและแลกเปลี่ยนความรู้จากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง โดยมีหัวข้อเสวนา เช่น การบรรยายเรื่อง “เส้นทางการบริหารจัดการอุทยานแห่งชาติสู่การอนุรักษ์และฟื้นฟูพะยูนและแหล่งหญ้าทะเล” การบรรยายเรื่อง “ระบบนิเวศพะยูนและการอนุรักษ์” การบรรยายเรื่อง “แหล่งหญ้าทะเลในประเทศไทย” พร้อมทั้งการเสวนาเรื่อง “การอนุรักษ์พะยูนและอนุรักษ์แหล่งหญ้าทะเล”
พะยูนเป็นสัตว์ป่าสงวนตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 และอยู่ในบัญชีหมายเลข 1 ตามอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ หรือ CITES กล่าวคือ ชนิดพันธุ์ของสัตว์ป่าที่ห้ามค้าโดยเด็ดขาด เนื่องจากใกล้สูญพันธุ์ ยกเว้นเพื่อการศึกษาวิจัยหรือเพาะพันธุ์ ซึ่งต้องได้รับคำยินยอมจากประเทศที่จะนำเข้าเสียก่อน ซึ่งขณะนี้พะยูนในประเทศไทยอยู่ในภาวะวิกฤติ เนื่องจากถูกคุกคามอย่างหนักในเรื่องถิ่นที่อยู่อาศัย และการทำลายแหล่งหญ้าทะเลอันเป็นแหล่งอาหารของพะยูน รวมทั้งการล่าและการติดเครื่องมือประมงเป็นสาเหตุทำให้พะยูนลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันคาดว่าในน่านน้ำไทยมีพะยูนไม่เกิน 200 ตัว
source: naewna.com/local/298033