data-ad-format="autorelaxed">
ชาวสวน-พ่อค้าช็อก! กยท. สั่งปิด “ตลาดกลางยางพารา” 3 แห่งรวด ขอเคลียร์ยางคงค้างกับบริษัทร่วมทุน อ้างพื้นที่เต็ม ... ฝ่าย 5 บริษัทใหญ่เกี่ยงซื้อยาง ผวาขาดทุน ... วงใน กยท. ชี้! บริหารล้มเหลว บีบฉีกสัญญาทิ้ง หาแนวทางใหม่ ด้าน กยท. ยัน! เปิดตลาด 24 ต.ค. นี้
เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2560 สำนักงานตลาดกลางยางพารา 3 แห่ง ของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้ประกาศหยุดให้บริการซื้อ-ขายยางเป็นการชั่วคราว ได้แก่ ตลาดกลางฯ จ.สงขลา (หยุด 19-20 ต.ค.), ตลาดกลางฯ สุราษฎร์ธานี (หยุด 19-24 ต.ค. เสาร์-อาทิตย์ ปกติตลาดปิด) และตลาดกลางฯ จ.บุรีรัมย์ (หยุดตั้งแต่ 18 ต.ค. ยังไม่มีกำหนดเปิด) เหตุผลพื้นที่เก็บยางไม่เพียงพอกับปริมาณยางที่เข้าสู่ตลาด และต้องบริหารจัดการยางคงค้างของบริษัทร่วมทุนยางพาราไทย จำกัด (กยท. + 5 บริษัท ร่วมลงทุน)
กรณีดังกล่าว นายชัยพจน์ เรืองอรุณวัฒนา นายกสมาคมน้ำยางข้นไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากการปิด 3 ตลาดกลาง มีผลกระทบทำให้เกษตรกรที่ทำยางแผ่นดิบจะหันมาขายน้ำยางสดกันมากขึ้น ทางสมาคมก็มองว่า เป็นระยะสั้น ทางโรงงานแต่ละโรงน่าจะสามารถรองรับกับปริมาณน้ำยางที่จะรับซื้อได้ ปัจจุบัน ผู้ประกอบการทั่วประเทศได้เข้าร่วมโครงการสนับสนุนสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการน้ำยางข้นแปรรูปยางเพิ่มมูลค่า วงเงิน 10,000 ล้านบาท แล้วกว่า 95% แต่ยังไม่สามารถช่วยทำให้ราคายางมีเสถียรภาพ เพราะราคายางแผ่นดิบอ่อนตัวลงมาก แต่คาดการณ์ราคายางน่าจะถึงจุดต่ำสุดแล้ว แนวโน้มสถานการณ์ราคาน่าจะดีขึ้น ส่วนการร่วมลงทุนของ กยท. กับ 5 บริษัทผู้ค้ายางรายใหญ่ เพื่อซื้อขายยางรักษาเสถียรภาพราคาในตลาดนั้น มองว่า ล้มเหลว และกระทบกับเกษตรกรที่จะนำยางไปขายในตลาดซื้อขายจริง
แหล่งข่าวเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย สังกัด กยท. เผยว่า ที่ผ่านมา ทางเครือข่ายไม่เห็นด้วยตั้งแต่ต้น และพยายามคัดค้านมาโดยตลอดที่ กยท. จะไปร่วมลงทุนกับ 5 บริษัท ที่ต่างเป็นคู่แข่งขันทางการค้ากันอยู่แล้ว ในที่สุดก็มาเจอเหตุการณ์แบบนี้ บริหารไม่ได้ ยางวางเต็มโกดัง จนทำให้ตลาดกลางต้องปิด ดังนั้น กยท. ต้องล้มเลิกสัญญาทันที แล้วหาแนวทางใหม่
ขณะที่ นายสุขทัศน์ ต่างวิริยะกุล หัวหน้าสำนักงานตลาดกลางยางพารา จ.สงขลา กล่าวว่า ตลาดแบ่งเป็น 2 ช่วง ช่วงเช้า-ตลาดซื้อขายจริงหยุดให้บริการซื้อขาย ส่วนช่วงบ่าย-การซื้อขายล่วงหน้าและส่งมอบจริง 7 วัน ยังเปิดให้บริการปกติ คาดว่าจะเปิดให้บริการซื้อขายตามปกติในวันที่ 24 ต.ค. นี้ ปัจจุบัน 6 ตลาดกลางของ กยท. ในรอบ 1 ปี มีการซื้อขายยาง 100,000 ตัน ปี 2561 ผู้ว่าการ กยท. ได้มอบเป้าท้าทาย 1.5 แสนตัน โดยข้อดีของการมาซื้อขายในตลาดกลางจะให้ราคาสูงกว่าตลาดทั่วไป 2 บาท/กก.
ด้าน นายมนัส บุญพัฒน์ นายกสมาคมคนกรีดยางและชาวสวนยางรายย่อย (ส.ค.ย.) กล่าวว่า ไม่เชื่อใจว่า ตลาดกลางจะเปิดทำการได้จริง ระหว่างนี้จะทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้รับทราบปัญหาว่า การปิดตลาดกลางเป็นการซ้ำเติมราคาของเกษตรกร ที่ปัจจุบันสถาบันเกษตรกรทั่วประเทศยังขาดทุนสะสม จะให้เวลา กยท. เคลียร์ปัญหาถึงสิ้นเดือนนี้เท่านั้น หากยังแก้ไม่ได้ ในวันที่ 1 พ.ย. จะรวมพลบุกทำเนียบรัฐบาล
แหล่งข่าวจาก 5 บริษัทที่ร่วมลงทุนกับ กยท. กล่าวว่า เมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2560 มีการประชุมผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 2/2560 มีรายงานปริมาณยางคงเหลือ 9,368 ตัน จากที่ประมูลมาทั้งหมด 1.16 หมื่นตัน เริ่มประมูลตั้งแต่วันที่ 27 ก.ค. - 12 ต.ค. 2560 ราคาที่ประมูลซื้อมาสูงสุด คือ ตลาดกลางยางพารา จ.บุรีรัมย์ 61.19 บาท/กก. จำนวน 306 ตัน ส่วนปริมาณการรับซื้อยางสูงสุด อยู่ที่ตลาดกลาง จ.สงขลา กว่า 4,000 ตัน ราคาเฉลี่ย 56.80 บาท/กก.
“การซื้อยางระยะแรก ก็มีบริษัทต่างหมุนเวียนรับซื้อไป แต่เมื่อราคายางในท้องตลาดต่ำลง แต่ กยท. กลับซื้อสูงกว่าตลาดมากเกินไป จึงทำให้บริษัทต่าง ๆ ไม่สามารถรับซื้อได้ เพราะเสี่ยงขาดทุน อย่างไรก็ตาม ล่าสุด ในที่ประชุม (18 ต.ค. 60) บอร์ด กยท. มีมติจ้าง 5 บริษัท ผลิตเป็นยางลูกขุน (ยางแผ่นรมควันอัดก้อน) เพื่อรอส่งออกต่อไป”
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,307 วันที่ 22-25 ต.ค. 2560