data-ad-format="autorelaxed">
จากราคายางพาราในประเทศยังมีแนวโน้มตกตํ่าอย่างต่อเนื่อง แม้ที่ผ่านมารัฐบาลจะมีหลายมาตรการออกมาช่วยเหลือ ทั้งสินเชื่อเพื่อดูดซับปริมาณยางออกจากระบบ และกระตุ้นการใช้ยางเพิ่มของหน่วยงานรัฐนั้น
นายมนัส บุญพัฒน์ นายกสมาคมคนกรีดยางและชาวสวนยางรายย่อย (ส.ค.ย.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ล่าสุดทางสมาคมร่วมกับ นายทศพล ขวัญรอด ประธานภาคีเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางและสวนปาล์มนํ้ามัน 16 จังหวัดภาคใต้ (คยป.) จะร่วมกันล่า 5 หมื่นรายชื่อ เมื่อได้ครบแล้วจะเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะกรรมาธิการเกษตรและสหกรณ์ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้ยุบการยางแห่งประ เทศไทย(กยท.)เพราะเห็นว่าการทำงานของรัฐวิสาหกิจการยางฯที่ผ่านมาไม่มีผลงานเป็นชิ้นเป็นอัน ทั้งที่กินเงินเดือนจากเงินเซสส์ หรือเงินจัดเก็บจากผู้ส่งออกยาง ตาม พ.ร.บ.กองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง
“เงินที่ว่านี้แม้ว่าจะเป็นเงินจัดเก็บจากผู้ส่งออก แต่เป็นเงินที่ผู้ค้าเก็บทันทีจากชาวสวนยางที่นำยางมาขาย เงินเซสส์ จึงเป็นเงินของเกษตรกรชาวสวนยางที่รัฐจัดเก็บผ่านผู้ส่งออก คล้ายๆ กับการจัดเก็บค่าพรีเมียมข้าวในสมัยก่อน(ปัจจุบันยกเลิกไปแล้ว) ที่ผ่านมาเมื่อ 3 องค์กรยาง รวมกันเป็น กยท.แล้ว ก็หวังที่จะเห็นการช่วยเหลือชาวสวนยางมีเอกภาพ แต่กลับเป็นว่าห่วงแต่เงินเดือน โบนัส และสวัสดิการของตัวเอง รวมทั้งผู้แทนทั้ง 7 คนที่ไปนั่งในบอร์ดด้วย”
ดังนั้นจึงเห็นควรยุบ กยท. แล้วยกคืนให้ไปสังกัดเป็นหน่วยงานหนึ่งในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็พอแล้ว เพราะมีอำนาจก็ยังทำอะไรไม่ได้ กลับเอื้อประโยชน์กับเอกชน เห็นได้ชัดในช่วงราคายางกำลังขาขึ้น กลับนำยางในสต๊อก 3.1 แสนตันออกมาขาย ซํ้ายังมาโทษชาวสวนว่าเป็นผู้ทำให้ราคายางตกตํ่าอีก ดังนั้นต่อไปนี้จะไม่มีการเจรจาอีก
แหล่งข่าวจากคณะกรรมาธิการเกษตรและสหกรณ์ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เปิดเผยว่า ในที่ประชุม (12 ก.ค.60) ที่มี พล.อ.ดนัย มีชูเวท ประธานคณะกรรมาธิการเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน ได้เรียกผู้ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงถึงสถานการณ์ราคายางในประเทศ ตกตํ่า ซึ่งในวันดังกล่าวมีหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมประชุม โดยในส่วนของกยท.ได้ส่งนายณกรณ์ ตรรกวิรพัท รองผู้ว่าฯ ชี้แจงแทน ส่วนฝ่ายเกษตรกรผู้ฟ้อง ได้แก่ นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาเครือข่ายยางและสถาบันเกษตรกรยางพาราแห่งประเทศไทย(สยยท.) ซึ่งบรรยากาศค่อนข้างตึงเครียด โดยคำถามที่ พล.อ.ดนัย จี้ถาม กยท. เช่น การร่วมกับผู้ค้ายาง 5 รายใหญ่ลงขันตั้งกองทุน 1,200 ล้านบาทมีแผนซื้อยางหรือไม่ อย่างไร หรือตลาดยาง 108 แห่งของกยท.ตั้งอยู่ที่ใดบ้างปริมาณผลผลิตยางของประเทศมีเท่าไร เป็นต้น ซึ่งฝ่ายผู้มาชี้แจงตอบไม่ได้ ประธานจึงสั่งให้ทาง กยท.ไปทำรายงานมา แล้วให้มาชี้แจงใหม่จนกว่าเกษตรกรจะพอใจ
ยางใต้ล่า5หมื่นชื่อยุบกยท. ล้มเหลวแก้ปัญหาราคา-กมธ.เกษตรไม่พอใจแจงข้อมูล
แหล่งข่าวจากคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) เปิดเผยว่า ในปี 2560 คาดเนื้อที่กรีดยางของไทยจะมีประมาณ 20.54 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 5.55% ผลผลิต 4.41 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 6.27% (ดูกราฟิกประกอบ) อย่างไรก็ดียังมีปัจจัยบวกจากมาตรการสนับสนุนของภาครัฐ และการเพิ่มการใช้ยางในประเทศของหน่วยราชการที่จะเร่งดำเนินการในปีนี้ หวังจะช่วยยกระดับราคายางขึ้นได้
สอดคล้องกับรายงานสถาบันวิจัยยาง กยท. รายงานสถานการณ์ราคายาง ณ วันที่ 13 กรกฎาคม2560 ราคายาง ณ ตลาดกลางยางพาราจังหวัดสงขลา ยางแผ่นดิบอยู่ที่ 50.15 บาท/กก. และยางแผ่นรมควัน 52.50 บาท/กก. ปรับตัวลดลงจากวันก่อน 0.18 บาท/กก. และ 0.09 บาท/กก.ตามลำดับ เป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดล่วงหน้าโตเกียว จากการแข็งค่าของเงินเยนและเงินบาท
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,279 วันที่ 16 - 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2560