data-ad-format="autorelaxed">
กรมประมง ส่งข่าวดีหลังคณะอียูกลับ 15 ก.ค.นี้เตรียมชง ครม.ซื้อเรือไม่มีอาชญาบัตร 500 ลำ ขณะแรงงานขาดกว่า 7 หมื่นอัตรา 2 สมาคมประมงพาณิชย์/พื้นบ้าน ควง ก.แรงงานบินตรงเมียนมาจูงใจค่าจ้างสูงกว่าแรงงานขั้นตํ่า ฝ่ายรัฐเมียนมาโอเค ยกเว้นทำงานบ้าน/งานบริการ
ในช่วงระหว่างวันที่ 3-15 กรกฎาคม 2560 ตัวแทนคณะกรรมาธิการด้านการประมง รัฐสภายุโรป หรืออียู ได้มาติดตามความคืบหน้าการแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมาย และไร้การควบคุม (ไอยูยู) ของไทย ก่อนประเมินว่าจะคงสถานะใบเหลืองของไทยต่อไปหรือไม่ หรือสถานะจะเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างไร ขณะที่สถานการณ์แรงงานประมงยังคงขาดแคลนหนักเป็นปัญหาที่ยังแก้ไม่ตก
นายพิชัย แซ่ซิ้ม กรรมการสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" วันนี้อียูจะให้ไทยคงสถานะใบเหลืองหรือใบเขียว ทางสมาคมไม่ได้สนใจ แต่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพราะบทลงโทษแรง ไม่มีใครกล้าทำผิดแน่นอน ล่าสุดทางกรมประมงได้เรียกสมาคมประชุม (เมื่อ2 ก.ค.60) เรื่อง ให้เรือประมงติดตามระบบตำแหน่งเรือ หรือระบบวีเอ็มเอส ให้ติดตั้งวิทยุ HF(ssb) เพื่อไว้แจ้งกรณีสัญญาณวีเอ็มเอส ไม่ส่งสัญญาณ เพื่อไม่ต้องให้เรือวิ่งกลับเข้าฝั่ง สาเหตุที่มีปัญหามีหลายสาเหตุ อาทิ ระบบไฟในเรือไม่เสถียร หรือ เป็นปัญหาตัวเซิร์ฟเวอร์ของบริษัท หรือส่วนของกรมประมงล่ม เป็นต้น
บุกเมียนมารับแรงงานประมง 2สมาคมยาหอมจ่ายค่าจ้างสูงกว่าขั้นต่ำ
โดยปกติจะมีการส่งสัญญาณแบบอัตโนมัติทุกๆ 4 ชั่วโมง รวม 6 ครั้งต่อวัน หรือทุกๆ 6 ชั่วโมง รวม 4 ครั้งต่อวัน เป็นการอำนวยความสะดวกให้กับเรือที่ออกไปทำการประมง ปัจจุบันเรือกว่า 7,293 ลำที่ติดสัญญาณจะติดตั้งเรือที่มีขนาด 30 ตันกรอสขึ้นไป ซึ่งในจำนวนดังกล่าว มีทั้งเรือประมง เรือขนถ่ายสัตว์น้ำ หรือเรือเก็บรักษาสัตว์น้ำ เรือบรรทุกนั้นเพื่อการประมง และเรือบรรทุกน้ำจืด
“ในวันประชุมนายธนพร ศรียากูล คณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับปากว่า หลังจากทางเจ้าหน้าที่อียูกลับ (15 ก.ค.60) กรมประมงจะยื่นเรื่องเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบเพื่อให้รัฐบาลซื้อเรือที่ไม่มีอาชญาบัตรจำนวน 500 ลำ มูลค่าเท่าใดยังไม่ทราบ”
นายมงคล สุขเจริญคณา
สอดคล้องกับนายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ได้ยินข่าวมาเช่นเดียวกันก็หวังว่าจะเร่งซื้อเรือคืนโดยเร็ว ส่วนเรื่องสถานการณ์แรงงานประมงขาดแคลนนั้นเมื่อเร็วๆ นี้ทาง 2 สมาคมประมงพาณิชย์และพื้นบ้านที่มีแรงงานขาดแคลนรวมกว่า 7 หมื่นอัตรา ได้มีสรุปผลการหารือการประชุมระดับวิชาการเมียนมา – ไทย(วันที่ 30 มิ.ย.– 1 ก.ค.60) ณ กรุงย่างกุ้ง สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาโดยฝ่ายไทยแจ้งให้ทราบเกี่ยวกับ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวพ.ศ2560 ที่มีโทษหนักทั้งปรับและจำคุก นอกจากนี้ให้รัฐบาลเมียนมา เข้มงวดกับบริษัทจัดหางานที่เก็บค่าธรรมเนียมสูงเกินกำหนด ฝ่ายไทยยืนยันว่าทางการไทยมีบทลงโทษหนัก โดย มี 2 มาตรการ คือ 1) ทางการปกครองโดยพักใช้ในอนุญาตหรือเพิกถอนใบอนุญาต และ 2) หักหลักประกันที่วางไว้ 5 ล้านบาท และจะแจ้งรายชื่อบัญชีบริษัทที่ขึ้นบัญชีแบล็คลิสต์ให้ทูตแรงงานเมียนมาโดยผ่านช่องทางการทูต นอกจากนี้ยังมีจูงใจค่าจ้างวันละ 400 บาทสูงกว่าแรงงาน ขั้นต่ำ
ส่วนฝ่ายเมียนมาไม่ขัดข้องที่จะให้นายจ้างบุคคลธรรมดาขอนำเข้าแรงงานในทุกกิจการ ยกเว้นงานทำงานบ้านและงานบริการ ซึ่งต้องขอตรวจสอบรายละเอียดสำหรับงานดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้สองฝ่ายตกลงในหลักการตัดเตรียมแรงงานผ่านรัฐต่อรัฐ(จีทูจี) โดยเห็นชอบให้ตั้งคณะทำงานฝ่ายละ 5 คน ภาครัฐ 4 คนเอกชน 1 คน เพื่อหารือรายละเอียดร่วมกัน ส่วนกองทุนเพื่อการส่งคนต่างด้าวกลับออกนอกราชอาณาจักร ฝ่ายไทยแจ้งว่าเลื่อนเก็บเงินกองทุนถึงมิถุนายน 2561 อย่างไรก็ดีฝ่ายเมียนมาขอให้ดูแลแรงงานที่ตรวจแล้วพบว่าไม่มีความผิดสามารถกลับมาทำงานและได้รับสิทธิได้
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,277 วันที่ 9 - 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2560