ภูมิหลัง ทองมา เปรียบยิ่ง เป็นบุตรชายคนโต จากพี่น้อง ๗ คน ของพ่อดิน และแม่ลุน เปรียบยิ่ง ปัจจุบันอายุ ๕๐ ปี ปัจจุบันอาศัยอยู่ บ้านเลขที่ ๒๐ หมู่ที่ ๑๒ บ้านโดนเลงใต้ ต.ทมอ อ.ปราสาท จ. สุรินทร์ หลังจบการศึกษาภาคบังคับในสมัยนั้น ทองมาก็ได้ออกมาช่วยครอบครัวทำนาและใช้วิถีชีวิตชนบทมาตั้งแต่บัดนั้น จวบจนย่างเข้าวัยหนุ่ม อายุได้ ๒๒ ปี ทองมาเปลี่ยนวิถีชีวิตมาเป็น “นายฮ้อย” ค้าควายอยู่ที่จังหวัดชลบุรี แต่ทำได้เพียง ๑ ปี ก็ย้อนกลับมาสู่วิถีชีวิตแบบเดิม พ.ศ. ๒๕๓๖ ได้ สมรสกับนางประสพ เปรียบยิ่ง มีบุตรและธิดารวม ๓ คน วิถีเกษตร ก่อนปี ๒๕๓๔ ครอบครัวของทองมา ยังคงทำนาเชิงเดี่ยวอยู่ แต่หลังจากนั้น เมื่อมีโครงการ คสป. เข้ามารับซื้อข้าวในหมู่บ้าน ซึ่งบ้านทะมอจะมีข้าวชนิดหนึ่งซึ่งที่อื่นไม่มี คือข้าวเนื้ออ่อน และก็ได้ชักชวนชาวบ้านให้หันมาทำนาโดยเน้นการพึ่งพาตนเองให้มากที่สุด ใช้วัตถุดิบที่มีในธรรมชาติ เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก โดยไม่ต้องพึ่งพาปัจจัยภายนอกจำพวกปุ๋ยหรือสารเคมีกำจัดศัตรูพืช การปฏิบัติในแนวทางนี้ นอกจากจะทำให้คุณภาพของดินดีขึ้นแล้ว ผลผลิตที่ได้ยังปลอดจากสารเคมีทุกชนิด อีกประการหนึ่งที่สำคัญคือ ถือเป็นการลดต้นทุนการผลิตไปในตัว เข้าสู่โครงการนำร่องฯ ปี ๒๕๔๔ ทองมาได้เข้าร่วมโครงการนำร่องฯ โดยพื้นที่ที่ทองมาอาศัยอยู่และพื้นที่ทำกินนั้น อยู่ในผืนเดียวกัน โดยแบ่งเป็นที่อยู่อาศัย ๑ งาน และพื้นที่เข้าร่วมโครงการ ๑๒ ไร่ นอกเหนือไปจากนั้น ก็มีแปลงสำหรับทำนาอินทรีย์และทำเกษตรแบบพึ่งตนเอง ๒๐ ไร่ การเข้าร่วมโครงการนำร่องฯ ทำให้มีโอกาสได้ไปศึกษาดูงานของเกษตรกรตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จจากการทำ นาธรรมชาติ, นาอินทรีย์ หลายๆ คน เช่น พ่อคำเดื่อง ภาษี ปราชญ์ชาวบ้าน ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นนักปฏิบัติแห่งยุคสมัย ที่กิ่งอำเภอแคนดง จ.บุรีรัมย์ อีกทั้งพ่อเชียง ไทยดี ปราชญ์นักวิจัยชาวบ้าน จากอำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ การได้เห็น ได้สัมผัส ได้พูดคุย แลกเปลี่ยนประสบการณ์นี่เอง ทำให้ได้แนวคิดมาปรับประยุกต์ใช้กับผืนนาของตนเอง นอกเหนือจากความรู้และประสบการณ์หลากหลายที่ได้รับจากโครงการฯ ทั้งทางตรงและทางอ้อมแล้ว การช่วยเหลือเกื้อหนุนปัจจัยการผลิตอื่นๆ ที่ได้รับก็คือ ได้รับงบประมาณอุดหนุนสำหรับพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร การทำโรงเรือนสำหรับเลี้ยงสัตว์ ใน พื้นที่ทำกินของทองมา มีบ่อน้ำจำนวน ๓ บ่อ ซึ่งเพียงพอสำหรับทำการเกษตรตลอดทั้งปี ทำให้มีผลผลิตทางการเกษตรหมุนเวียนสำหรับบริโภคในครัวเรือนตลอดทั้งปี พืชผักสวนครัว จำพวก ตะไคร้ กระเพราะ โหระพา พริก ขิง ข่า ฯลฯ และไม้ผลจำพวกมะม่วง กล้วย กะท้อน จึงมีให้ได้เก็บกินสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปในแต่ละฤดูกาล เหลือจากนั้นก็นำไปขายนำรายได้สู่ครอบครัวในอีกทางหนึ่ง นอกจากนี้แล้วยังมีพืชจำพวกสมุนไพรอีกด้วย ประการสำคัญคือ ทองมาสามารถประคบประหงมไม้ผลชนิดหนึ่ง ซึ่งชาวสุรินทร์โดยทั่วไปมีความเชื่อว่า ไม่มีทางปลูกได้ นั่นคือ “เงาะโรงเรียน” ทองมาและครอบครัวสามารถเก็บผลผลิตบริโภคร่วม ๓ ปีแล้ว นี่เป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของเกษตรกรจังหวัดสุรินทร์ ที่ทะลายกำแพงความเชื่อของคนทั่วไปได้ โดยการปฏิบัติและเอาใจใส่ ซึ่งนั่นก็หมายความว่า หากพื้นที่ของทองมาปลูกเงาะได้ พื้นที่อื่นๆ ในจังหวัดสุรินทร์ก็น่าจะปลูกเงาะได้เช่นเดียวกัน หากเกษตรกรมีความเอาใจใส่อย่างจริงๆ จังๆ ถ่ายทอด ภูมิปัญญา จากองค์ความรู้และประสบการณ์ทั้งหลายที่มีทองมามีอยู่นั้น ก็ไม่ได้เก็บไว้แต่เพียงผู้เดียว ยังถ่ายทอดสู่เพื่อนเกษตรกรทั้งในและนอกกลุ่มของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นความรู้ด้านการปรับปรุงบำรุงดิน การวิเคราะห์สภาพพื้นดินว่าเหมาะสมกับการปลูกพืชชนิดไหน ถือได้ว่าทองมาเป็นนักวิจัยชาวบ้านอีกคนหนึ่งที่กำลังมีผลงานเป็นที่ยอมรับ ความภูมิใจของ ครอบครัว ถึงแม้ว่าทองมาและภรรยาจะจบการศึกษาเพียงขั้นพื้นฐาน และประกอบอาชีพเกษตรกรรมมาตลอดชีวิต แต่สิ่งหนึ่งซึ่งสร้างความภาคภูมิใจให้แก่ครอบครัวของทั้งคู่ นั่นก็คือ ลูกๆ แต่ละคนไม่สร้างความผิดหวังให้กับตน ธิดาคนโต ปัจจุบันรับราชการครู ส่วนบุตรชายคนที่ ๒ กำลังศึกษาต่อในระดับปริญญาโทในสายงานด้านเกษตรกรรม อยู่ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ ส่วนบุตรีคนสุดท้องก็กำลังศึกษาอยู่ในระดับมัธยม การทำเกษตรธรรมชาติ ก็สามารถส่งลูกเรียนสูงๆ ได้เช่นกัน นี่คืออีกผลผลิตหนึ่งทั้งคู่ภาคภูมิใจ ตลอดระยะเวลากว่า ๑๐ ปี ในวิถีเกษตรแบบธรรมชาติ ที่เน้นการพึ่งพาปัจจัยภายในและลดการพึ่งพาปัจจัยภายนอกให้น้อยที่สุด เท่าที่จะทำได้ ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ไม่เพียงแต่จะสร้างความสมดุลให้คืนสู่ธรรมชาติแล้ว ยังนำความสุขมาสู่ครอบครัวอย่างหาที่เปรียบมิได้ในอีกทางหนึ่ง นี่คือ ความสำเร็จของครอบครัวนายทองมา เปรียบยิ่ง อ้างอิง : http://www.kradandum.com/people/people_05.htm
แสดงเนื้อหารวมจากทุกหมวด, สินค้าเกษตร, ไอเดียและเทคโนโลยีเกษตร, รวม VDO เด่นจาก FK, นาข้าว, เศรษฐกิจเกษตร, ภาพถ่ายเกษตร, ไร่อ้อย, มันสำปะหลัง, ยางพารา, ปาล์มน้ำมัน, ไร่ข้าวโพด, ผักและการปลูกผัก, การปลูกพืช, ไม้ผล ไม้ยืนต้น, เกษตรน่ารู้, สมุนไพร, ไม้มงคล, พุทธศึกษา, FK Talk, สุขภาพ, การใช้ SUN กับพืชต่างๆ, แอพฯด้านเกษตร, ไม้ดอก ไม้ประดับ, องค์กรด้านเกษตร, ซื้อขายที่ดิน, ห้องปศุสัตว์, ประมง, เกษตรกรตัวอย่าง, ฟาร์มเกษตรพาเที่ยว, FK Freestyle, Agri live update, ออแกนิกส์, จักรกล, อุปกรณ์การเกษตร, ไร่กาแฟ,