data-ad-format="autorelaxed">
กยท. ลุ้นขายยางสต๊อก 3.1 แสนตัน มีกำไรหลังยางขาดแคลน-ความต้องการตลาดสูง ราคาพุ่งใกล้แตะ 90 บาท/กก. วงการยางจับตาประมูลยางรอบ 2 เอื้อเอกชนฟันกำไรบาน เหตุราคาเริ่มต้นประมูลตํ่ากว่าราคาตลาด จี้ตั้งราคาใหม่
แหล่งข่าวจากการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงการระบายยางในสต็อกรัฐบาล 3.1 แสนตันใน 2 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ (ระยะเวลาเก็บ 5-6 ปี) และ 2.โครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายาง หรือบัฟเฟอร์ฟันด์ในรัฐบาลปัจจุบัน (ระยะเวลาเก็บ 2 ปี) เฉลี่ยค่าเช่าปีละกว่า 400 ล้านบาทบวกค่าประกันภัย ทั้งนี้จากการประเมินในตอนแรกทางบอร์ดประเมินจะมีผลการขาดทุนประมาณ 4,000-5,000 ล้านบาท แต่ขณะนี้จากความต้องการของตลาดที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับน้ำใหญ่ภาคใต้กว่าจะฟื้นฟูต้นยางให้กลับมากรีดได้ต้องใช้เวลา ส่งผลให้ความการยางในสต็อกรัฐบาลมีเพิ่มขึ้น คาดการระบายครั้งนี้จะได้ราคาที่ดี หาก กยท.ทำได้สำเร็จจะสร้างชื่อเป็นหน่วยงานแรกที่ขายสินค้าเกษตรแล้วมีกำไร
สอดคล้อง นายปรีดี ลีลาเศรษฐวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แกรนด์ รับเบอร์ จำกัด หนึ่งในผู้ประมูลยาง กยท. รอบ 2 กล่าวว่า ราคาประมูลในรอบนี้ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ และราคายางในปัจจุบันที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก โดย กยท.ตั้งราคาเริ่มต้นประมูลต่ำกว่าราคาตลาดและราคาประมูลในรอบแรก ตั้งข้อสังเกตว่าหากทั้ง 20 รายมีการแข่งขันสมบูรณ์จะเสนอซื้อต่ำ หรือสูงไม่มีปัญหา แต่หากมีผู้มาประมูลน้อยราย อาจจะเป็นตัวกดดันให้ราคาต่ำกว่าปกติ ซึ่งคงต้องรอดูในวันที่ 19 มกราคมนี้ที่จะมีการประกาศรายชื่อผู้ชนะการประมูล อย่างไรก็ดีเฉลี่ยราคายางหากจะมีการเคาะราคาประมูลที่รัฐจะได้ประโยชน์ผู้เข้าประมูลต้องเคาะราคาเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 15-20 บาทต่อกิโลกรัมในทุกชนิดยาง
ขณะที่แหล่งข่าวจากผู้ค้ายาง ให้ความเห็นว่า กยท.ควรจะเปลี่ยนราคากลางยางที่จะประมูลใหม่ใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับราคายางในตลาดปัจจุบัน ( ราคายางล่าสุด ณ วันที่ 16 ม.ค.60 ณ ตลาดกลางยางพาราอ.หาดใหญ่ จ.สงขลายางแผ่นดิบ แตะระดับ 84.09 บาท/กก. ยางแผ่นรมควันชั้น3 ราคา 88.21 บาท/กก.) ทั้งนี้เพื่อให้รัฐได้ประโยชน์สูงสุด อาทิ ราคายางแท่ง STR20 ควรเริ่มต้นประมูลที่ 70 บาท/กก. และยางแผ่นรมควันชั้น 3 ควรเริ่มต้นที่ 80 บาท/กก. หากปรับเปลี่ยนราคาเริ่มต้นเชื่อว่าผู้ค้าจะแข่งให้ราคา และ กยท.จะคุ้มทุนและมีกำไรแน่นอน แต่ถ้าเริ่มต้นในราคาต่ำ อาจจะกลายเป็นกระแสวิพากษ์ในสังคมท้ายสุดอาจจะกลายเป็นข้อสังเกต ให้สำนักงานตรวจเงินแผนดิน (สตง.) เข้ามาตรวจสอบได้
“อีกด้านหนึ่งหากมีการล้มกระดานประมูลยาง 3.1 แสนตันออกไปโดยไม่มีกำหนด เชื่อว่า 1-2 เดือนนี้ราคายางจะแตะ 100 บาทต่อกิโลกรัม จะทำให้ กยท.มีกำไรมากขึ้น เพราะวันนี้ราคายางใกล้แตะ 90 บาท/กก. แล้ว”
source: thansettakij.com/2017/01/20/125391