เผยชื่อ 9 บริษัทรวม 12 โรงงานได้อานิสงส์ล็อตแรก หลังเกาหลีไฟเขียวเปิดตลาดไก่สดไทยรอบ 12 ปี สมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกชี้เป็นอีกหนึ่งแรงบวกช่วยดันตัวเลขโต คาดปี 60 ส่งออกสินค้าไก่ภาพรวมแตะ 7.5 แสนตัน มูลค่าไม่ตํ่า 9.6 หมื่นล้าน “โกลเด้นไลน์ฯ-จีเอฟพีที นิชิเรฯ” ประกาศพร้อมลุยแดนกิมจิ
จากที่ทางการเกาหลีใต้ได้อนุญาตให้โรงงานผลิตเนื้อไก่สดแช่แข็งจำนวน 12 โรงงานในล็อตแรกของไทยที่ทาง Ministry of Food andDrug Safety (MFDS) ได้ขึ้นทะเบียนโรงงานหลังผ่านการตรวจรับรองแล้วมีผลให้ประเทศไทยสามารถส่งออกไก่สดแช่แข็งที่ผลิตตั้งแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน 2559 ไปเกาหลีใต้ได้แล้วนั้น
นายคึกฤทธิ์ อารีปกรณ์ ผู้จัดการสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าสำหรับ 12 โรงงานที่ผ่านการตรวจ รับรองจากเกาหลีใต้ในครั้งนี้ ประกอบด้วยโรงงานในเครือของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์ จำกัด(มหาชน)(บมจ.)จำนวน 3 โรงงาน ของเครือเบทาโก 2 โรง ที่เหลือเป็นโรงงานของ บมจ.จีเอฟพีที, ของบริษัท สหฟาร์ม จำกัด(บจก.), บจก.บี อาร์ เอฟ (ไทยแลนด์) ,บจก.โกลเด้น ไลน์ บิสซิเนส, บจก.คาร์กิลล์มีทส์(ไทยแลนด์), บจก.จีเอฟพีที นิชิเร(ประเทศไทย) และ บจก.พนัสโพลทรี่ รายละ 1 โรง
“ทั้งหมดคือ 12 โรงที่ผ่านการรับรองแล้ว และการอนุญาตนำเข้าครั้งนี้ ยังส่งผลดีให้โรงงานผลิตไก่แปรรูปหรือไก่สุกอีก 41 แห่งแค่ส่งเอกสารเกี่ยวกับข้อมูลโรงงานให้ทางเกาหลี ก็สามารถพิจารณารับรองโรงงานได้เลย ส่วนโรงงานไก่สดอีก 18 โรงซึ่งเป็นโรงงานใหม่ที่ไม่อยู่ในลิสต์รายชื่อการตรวจรับรองในล็อตแรก เช่น กลุ่มแหลมทองสหการ กลุ่มตะนาวศรีไก่ไทย กลุ่มไทยฟู้ดส์ เป็นต้นคงต้องรอเขามาตรวจในรอบที่ 2 ไม่เกินกลางปีหน้า”
สำหรับตลาดเกาหลีใต้ก่อนเกิดไข้หวัดนกในปี 2547 ไทยเคยส่งออกไก่สดแช่แข็งไปได้ปีละประมาณ 4 หมื่นตัน ซึ่งการได้รับอนุญาตให้ส่งออกได้อีกครั้งคาดในปีแรกคือปี 2560 ไทยจะส่งออกไก่สดไปตลาดเกาหลีได้ระดับ 1 หมื่นตัน ในอัตราภาษีนำเข้าประมาณ 20% และคาดจะใช้เวลาอีก 2-3 ปีในการส่งออกกลับไปอยู่ได้ในระดับเดิม ทั้งนี้มีไก่สดจากบราซิลเป็นคู่แข่งที่สำคัญในตลาดเกาหลี โดยไก่บราซิลได้เปรียบมีต้นทุนการผลิตที่ตํ่ากว่า แต่ระยะทางขนส่งสินค้าทางเรือมาเกาหลีไกลกว่าไทย โดยใช้เวลาประมาณ 1 เดือน ขณะที่ไทยได้เปรียบอยู่ใกล้เกาหลีมากกว่า ใช้เวลาขนส่งประมาณ 10 วัน
นายคึกฤทธิ์ ยังเผยถึงการส่งออกสินค้าไก่ของไทยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2559 สามารถส่งออกได้แล้ว 6.05 แสนตัน ขยายตัวเพิ่มขึ้น 8.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และด้านมูลค่าส่งออกแล้ว 7.8 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.4% โดยสัดส่วน 50% ส่งออกไปตลาดญี่ปุ่นและ 40% ไปยังตลาดสหภาพยุโรป ที่เหลือส่งออกไปตลาดเกาหลีใต้ (ไก่แปรรูป) ฮ่องกงสิงคโปร์ มาเลเซีย ตะวันออกกลาง และตลาดอื่นๆ ทั้งนี้ในปี 2559 คาดไทยจะส่งออกสินค้าไก่ได้ที่ระดับ 7.2 แสนตัน มูลค่า 9.2 หมื่นล้านบาท เพิ่มจากปี 2558 ที่ส่งออกได้ 6.8 แสนตัน มูลค่า 8.8 หมื่นล้านบาท
ส่วนทิศทางในปี 2560 ในเบื้องต้นทางสมาคมคาดไทยจะส่งออกสินค้าไก่ได้ที่ระดับ 7.5 แสนตัน มูลค่าราว 9.6 หมื่นล้านบาท โดยมีปัจจัยบวกจากตลาดญี่ปุ่นและเกาหลีใต้จะมีการนำเข้าไก่สดจากไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และคงต้องลุ้นตลาดซาอุดีอาระเบียจะกลับมาเปิดตลาดไก่สดจากไทยอีก 1 ตลาดหรือไม่ส่วนปัจจัยเสี่ยงคือ ค่าเงินบาท และค่าเงินของประเทศคู่ค้ามีความผันผวน ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์อาจปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงเศรษฐกิจโลกจะเป็นอย่างไร
ด้านนายวีระ ไม้เต็ง กรรมการผู้จัดการ บจก.โกลเด้น ไลน์ บิสซิเนส หนึ่งในบริษัทที่ผ่านการตรวจรับรองโรงงานกล่าวว่า อยู่ระหว่างการเจรจากับคู่ค้าในเกาหลีใต้ซึ่งมีฐานคู่ค้าเก่าอยู่ คาดบริษัทจะส่งออกไก่สดแช่แข็งไปเกาหลีใต้ได้ในปลายปีนี้ เช่นเดียวกับนายเจษฎา ศิริมงคลเกษม ประธานบจก.จีเอฟพีที นิชิเร(ประเทศไทย) ที่กล่าวว่า อยู่ในระหว่างการเจรจากับคู่ค้าทั้งด้านปริมาณ ราคาและขั้นตอนในการจัดส่ง คาดคงเริ่มส่งไปเกาหลีใต้ได้จริงในต้นปีหน้า
source: thansettakij.com/2016/12/08/118603