data-ad-format="autorelaxed">
กระทรวงการต่างประเทศยันอียูชมไทย เดินถูกทาง แก้ปัญหาไอยูยู จี้เร่งรัดให้คุ้มครองสิทธิแรงงานต่างด้าว การควบคุมเรือประมงนอกน่านน้ำ ป้องกันใช้แรงงานทาส -ปราบทุจริตเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น อีกด้านประมงพาณิชย์ เข้าพบอธิบดีกรมยุโรปแจงข้อมูล หวั่น ส.ส.อียูนำข้อเสนอสมาคมทูน่าฯ บีบคัดเรือออกจากระบบ
นายทรงพล สุขจันทร์ อธิบดีกรมยุโรป กระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากที่ผู้แทนคณะกรรมาธิการด้านการประมง (PECH) ได้เดินทางเยือนไทยเพื่อติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม(ไอยูยู) ระหว่างวันที่ 1-4 พฤศจิกายนที่ผ่านมา นำโดยนางลินเน อิงสตรอม รองประธานคนที่ 1 โดยได้เข้าร่วมประชุมกับรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ทางการของไทยที่เกี่ยวข้องนั้น ทั้งนี้ทางคณะได้กลับไปแถลงข่าวผลการเยือนไทยต่อที่ประชุมกลุ่ม PECH เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2559 ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้คือ
ทางคณะมีความประทับใจผลการมาเยือนทั้งในแง่ของความก้าวหน้าการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นภายในระยะเวลาอันสั้น ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงกฎหมาย การออกมาตรการต่างๆ และการมีกลไกและระบบต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการแก้ไขปัญหา ซึ่งเกิดขึ้นจากการทำงานแบบบูรณาการที่นำโดยศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) การให้ข้อมูลตามข้อเท็จจริงอย่างเปิดเผยและตรงไปตรงมาของภาคส่วนต่างๆ ที่ได้พบหารือ การเปลี่ยนแปลงทัศนคติอย่างขนานใหญ่ของฝ่ายไทยที่เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องรีบแก้ไขปัญหาและความพยายามในทุ่มเททรัพยากรในการแก้ไขปัญหาไม่ว่าจะในด้านกำลังคนหรืองบประมาณ และการแสดงความต้องการของฝ่ายไทยที่จะร่วมมือกับสหภาพยุโรป(อียู)ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรให้เวลาแก้ไขและช่วยเหลือไทยต่อไป
นอกจากนี้ทางคณะผู้แทนยังได้เยี่ยมชมศูนย์ตรวจสอบ ติดตาม และควมคุมในกรุงเทพฯ รวมถึงและศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้า-ออก(PIPO) ที่ จ.สมุทรสาคร ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานใหม่ที่จะส่งผลในทางบวกกับความสามารถของไทยที่จะปฏิบัติตามกฎเกณฑ์สากลในการต่อสู้กับการทำประมงผิดกฎหมาย อย่างไรก็ดีการปกป้องแรงงานต่างด้าวที่ทำงานอย่างผิดกฎหมายบนเรือประมงยังต้องมีการดำเนินการเพิ่มเติม เพื่อให้แก้ปัญหานี้ได้อย่างประสบความสำเร็จ คณะผู้แทนยังได้มีโอกาสเยี่ยมชมศูนย์ปกป้องเหยื่อจากการค้ามนุษย์ที่อยู่ทางด้านเหนือของกรุงเทพ และพบกับองค์กรพัฒนาเอกชน(เอ็นจีโอ)จำนวนมากที่มีบทบาทในการช่วยเหลือเหยื่อเหล่านี้ รวมถึง บริษัทแปรรูปอาหารทะเล และสมาคมประมง เปิดโอกาสให้คณะผู้แทนได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับความท้าทายและข้อจำกัดของภาคธุรกิจประมงและการเกษตรของไทย
“ทางคณะ เห็นว่าปัญหาของไทยยังต้องเร่งแก้ไข คือการคุ้มครองสิทธิของแรงงานต่างด้าว ในภาคประมง การควบคุมเรือประมงนอกน่านน้ำที่ผิดกฎหมาย และการป้องกันการใช้แรงงานทาสบนเรือ การบังคับใช้กฎหมายและมาตรการใหม่ๆ ที่ออกมา รวมทั้งการปราบปรามการฉ้อราษฎร์บังหลวงของเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่น เป็นต้น”
ส่วนปัญหาข้อกังวลระหว่างสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ที่จะเข้าพบกรมยุโรปในวันที่ 1 ธันวาคม 2559 ในกรณีที่สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทยเสนอ ต่อคณะกรรมาธิการยุโรป ในเรื่องการลดเรือประมงอวนลาก โรงงานปลาป่น และยกเลิกเรือปั่นไฟเป็นเพียงข้อเสนอของเอกชนเท่านั้น แต่หากมีการปฎิบัติตามข้อเสนอ จะต้องนำมาสู่คณะของ ศปมผ. แต่ตอนนี้ยังไม่มี วอนทุกฝ่ายใจเย็น
ขณะที่นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การเข้าพบอธิบดีกรมยุโรป เพื่อชี้แจงและเป็นสื่อกลางที่จะทำความเข้าใจกับทางอียูเพราะหากเกิดข้อเข้าใจผิด ท้ายสุดจะเป็นภาระผูกพันไทยที่จะต้องปฏิบัติตามที่จะเกิดปัญหาในอนาคตจึงจำเป็นที่จะต้องเข้าไปชี้แจง หวังว่าทางอธิบดีให้การช่วยเหลือต่อไป