data-ad-format="autorelaxed">
เปิดข้อมูลเจรจาลับ “ไชน่าไห่หนาน- กยท.” ดีลขายยางเก่าพ่วงยางใหม่ 4.08 แสนตัน ทั้งสองฝ่ายเตรียมยอมความ ฝ่าย กยท. ชี้ถึงชนะคดีจะมีปัญหาในการบังคับคดีตามคำพิพากษา ไม่เกิดประโยชน์ อีกฝ่ายได้ทีขอยกเว้นค่าปรับ-ขอค่ามัดจำคืน วัดใจ “ฉัตรชัย” เห็นชอบหรือไม่ ขณะบอร์ด กยท.เผยเบื้องหลังคู่กรณีขู่ จะฟ้องกลับเลยจำต้องยอม ด้านเกษตรกรยันไห่หนานต้องเสียค่าปรับ
จากมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2557 รับทราบแนวทางการบริหารจัดการยางขององค์การสวนยาง หรือ อ.ส.ย.(ที่ปัจจุบันได้ควบรวมเป็นการยางแห่งประเทศไทย หรือ กยท.แล้ว) ได้เห็นชอบระบายยางพาราในสต๊อกรัฐบาล 2 โครงการ ประกอบด้วย โครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง และโครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายาง จำนวน 4.08 แสนตัน ให้กับบริษัท ไชน่าไห่หนานรับเบอร์อินดัสทรี กรุ๊ป จำกัด (บจก.) จากจีน แต่บริษัทรับมอบสินค้าไม่ทันตามสัญญา และในที่สุด พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้แจ้งเลิกสัญญาไปแล้วเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2558 นั้น
ล่าสุดแหล่งข่าวจากการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ นาย WAN ZHI RONG กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไห่หนาน รับเบอร์ กรุ๊ป (สิงคโปร์) ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ที่ได้รับมอบอำนาจจาก บจก. ไชน่าไห่หนานฯ ให้เป็นตัวแทนซื้อขายยาง และคณะผู้บริหารจากบริษัท เอ็มทีเซ็นเตอร์ เทรด ในฐานะผู้รับมอบอำนาจเต็มจากบริษัท ไห่หนาน รับเบอร์ กรุ๊ป (สิงคโปร์) ดีเวลลอปเม้นท์ ได้เข้าเจรจากับนายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการ กยท. ซึ่งการเจรจาครั้งนี้ได้คำนึงถึงความสัมพันธ์ และผลประโยชน์ทางการค้าร่วมกันต่อไป
ทั้งนี้ได้พิจารณาแยกประเด็นปัญหาเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 ประเด็นที่ตกลงกันได้และให้ ยุติไป และกลุ่มที่ 2 เรื่องให้งดเว้นค่าปรับงวดที่ 2 และงวดที่ 3 ที่การยางแห่งประเทศไทยเห็นว่า ต้องเสนอ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเห็นชอบต่อไป
อย่างไรก็ดี ต่อมาในที่ประชุมคณะกรรมการ(บอร์ด) กยท.(26 ต.ค.59) ที่มีพล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข เป็นประธานได้นำประเด็นปัญหาข้างต้นเข้าสู่การพิจารณาหาทางออก โดยทางบอร์ดเห็นว่าหากไม่มีการเจรจากันอย่างสันติและหาทางออกร่วมกัน จะต้องมีการฟ้องร้องเกิดขึ้นในศาลไทย โดยใช้อำนาจตามศาลไทยแต่คู่สัญญาอยู่ในประเทศจีน แม้จะชนะคดีจะมีปัญหาในการบังคับคดีตามคาพิพากษา ฉะนั้นไม่ก่อเกิดประโยชน์ จึงเห็นว่าเพื่อความเป็นมิตรภาพและความสัมพันธ์อันดีทางการค้า เห็นสมควรตกลงกันโดยอยู่บนพื้นฐานที่มุ่งผลประโยชน์ร่วมกัน โดยเห็นว่าคู่สัญญาทั้ง 2 ฝ่ายคงตกลงกันได้ ให้ยุติ และยอมความกันไป
ทั้งนี้ในรายงานก่อนที่จะเลิกสัญญาอย่างเป็นทางการนั้นได้มีการสรุปการทำสัญญาซื้อขายยางเก่า จำนวน 2 แสนตัน (ในโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง) โดยทางไชน่าไห่หนานฯ รับมอบยางได้เพียง 3 หมื่นตันเท่านั้น ส่วนสัญญาแนบท้าย เป็นโครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายาง จำนวน 2 แสนตัน บริษัทก็รับได้เพียง 5 พันตันเท่านั้น
โดยการกำหนดราคารับซื้อในขณะนั้น ราคายางแผ่นรมควันทุกประเภท เอฟ.โอ.บี. ที่กิโลกรัมละ 63.56 บาท และยางแท่ง ราคารับซื้อ เอฟ.โอ.บี. ที่กิโลกรัมละ 55.50 บาท หากกรณียางไม่ได้มาตรฐานให้ใช้ราคาฐาน เอฟ.โอ.บี กรุงเทพฯ กก.ละ 50.95 บาท ปรับลดราคายางคุณภาพไม่ดี ดังนี้ ยางเสียรูปทรง ปรับลดราคา 0.28 บาท/กิโลกรัม ยางที่มีราสนิมและมีความชื้น ปรับลด ราคา 0.97 บาท/กก.ยางที่มีราสีขาวและมีความชื้นสูง ปรับลดราคา 4.48 บาท/กก. ราคาหน้าโกดังหักค่าใช้จ่ายในการส่งออก กิโลกรัมละ 3.30 บาท
สอดคล้องกับนายสาย อิ่นคำ ตัวแทนเกษตรกรในฐานะบอร์ด กยท. เผยถึงจำเป็นต้องยอมความ เนื่องจากทางคู่กรณีขู่จะฟ้องศาลเพื่อเรียกความเสียหาย หลังจากรัฐมนตรีเกษตรฯ ได้ยกเลิกสัญญาโดยไม่มีเหตุผลทั้งๆ ที่ทางบริษัทยังต้องการที่จะรับยางใน 2 โครงการต่อ แต่ทางฝ่ายกฎหมาย กยท.ชี้ถ้าหากแพ้จะถูกยึดทรัพย์สิน แต่ถ้า กยท.ชนะ ก็ไม่สามารถที่จะไปยึดทรัพย์ในต่างประเทศได้
ขณะที่นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาเครือข่ายยางและสถาบันเกษตรกรยางพาราแห่งประเทศไทย(สยยท.) ให้ความเห็นว่า เมื่อไชน่าไห่หนานฯ ผิดสัญญาก็ควรจะปรับไปตามระเบียบ เพราะทำให้เกิดความเสียหาย และผลที่เกิดขึ้นก็ยังมีปัญหาเดือดร้อนมาถึงเกษตรกรทุกวันนี้
source: thansettakij.com/2016/11/07/111978